เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ถึงไทย หลังข้ามทะเลจีนใต้

ทีมข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย และเบนาร์นิวส์
2023.04.24
เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ถึงไทย หลังข้ามทะเลจีนใต้ เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz ของกองทัพเรือสหรัฐฯ (กลาง) เรือพิฆาต Yulgok Yi I ของกองทัพเรือเกาหลีใต้ (ขวา) และเรือพิฆาต Umigiri ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น (ซ้ายหน้า) แล่นเป็นรูปขบวนในระหว่างการซ้อมรบร่วมทางเรือ นอกเกาะเชจู ทางตอนใต้ของเกาหลีใต้ วันที่ 4 เมษายน 2566
กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้/เอเอฟพี

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz ของกองทัพเรือสหรัฐฯ พร้อมกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันจันทร์ และจะอยู่เป็นเวลานานหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่ข้ามทะเลจีนใต้และกลับลำกะทันหันในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนาม

ข้อมูลจาก MarineTraffic เว็บไซต์ติดตามตำแหน่งเรือ ระบุว่า เรือ Nimitz ได้เปิดสัญญาณระบบพิสูจน์ทราบโดยอัตโนมัติ (Automatic identification system - AIS) ขึ้นเมื่อวันอาทิตย์เวลาประมาณ 21.30 น. ตามเวลามาตรฐานสากล ขณะอยู่ในน่านน้ำของไทย สามชั่วโมงหลังจากนั้นเรือดังกล่าวได้เดินทางมาถึงและเข้าจอดที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ครั้งสุดท้ายที่ระบบ AIS ของเรือดังกล่าวเปิดใช้งานคือ ในเมืองปูซาน เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 2 เมษายน

กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี Nimitz ได้ดำเนินการฝึกซ้อมทางทะเลไตรภาคีร่วมกับกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นและกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลีในวันที่ 3-4 เมษายน ตามข้อมูลของกองทัพเรือสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ข่าวกรองจากแหล่งข่าวเปิด (OSINT) กล่าวว่า เมื่อวันเสาร์ขณะที่กำลังแล่นผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนามในทะเลจีนใต้ เรือ Nimitz ได้กลับลำกะทันหัน ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกสู่อ่าวไทย 

สาเหตุของการกลับลำไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่นักวิเคราะห์ที่อ้างข้อมูลดาวเทียมกล่าวว่า น่านน้ำบริเวณนั้นอยู่ใกล้กับแปลงสัมปทานน้ำมันและก๊าซของเวียดนาม และสันดอนแวนการ์ด ซึ่งเป็นบริเวณพิพาทระหว่างเวียดนามและจีน

เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลนี้ได้ด้วยตนเอง

230424-th-us-diplomacy-carrier-aircraft2.jpeg

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงภาพเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรือสหรัฐฯ USS Nimitz กลับลำขณะข้ามเขตเศรษฐกิจของเวียดนาม วันที่ 22 เมษายน 2566 (ภาพจากทวิตเตอร์ @lobsterlarryliu)

เรือ Nimitz เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่มาเยือนไทยในช่วงหลังโควิด เรือ USS John C. Stennis ซึ่งอยู่ในชั้น Nimitz ได้มาเยือนไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนการระบาดของโควิด ในระหว่างการฝึกร่วมทางทหารคอบร้าโกลด์ของปีนี้ สหรัฐฯ ได้ส่งเรือยกพลสะเทินน้ำสะเทินบกลำเล็กกว่าคือ USS Makin Island เข้าร่วมการฝึก

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยกล่าวในแถลงการณ์ว่า การเยือนไทยของกองเรือ USS Nimitz ตั้งแต่วันที่ 24-29 เมษายน เป็น “โอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ-ไทย ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของเรา

ขณะอยู่ในไทย เรือดังกล่าวจะจัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อ “ฉลองวาระครบรอบ 190 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตสหรัฐฯ-ไทย” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

กองเรือที่จะไปเยือนไทยประกอบด้วยเรือ USS Nimitz, เรือ USS Bunker Hill ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถีชั้น Ticonderoga และเรือ USS Decatur และ USS Wayne E. Meyer ซึ่งเป็นเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีชั้น Arleigh Burke

ผู้บัญชาการกองเรือดังกล่าวคือ พล.ร.ต. คริสโตเฟอร์ สวีนีย์

ปลดระวางในปี 2569

กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี Nimitz ออกเดินทางจากเมืองเบรเมอร์ตัน รัฐวอชิงตัน เพื่อปฏิบัติการทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2565 และปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการของทัพเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ หลังจากเข้าร่วมการซ้อมรบไตรภาคีกับกองทัพเรือญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในทะเลจีนตะวันออก มีผู้พบเห็นเรือ USS Nimitz แล่นอยู่ในน่านน้ำทางตะวันออกของไต้หวัน ในเวลาเดียวกับที่เรือบรรทุกเครื่องบินจีน Shandong ทำการฝึกซ้อมอยู่ในบริเวณนั้น

จีนได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน Shandong และเรือรบอื่น ๆ จำนวนหนึ่งไปยังบริเวณดังกล่าว เพื่อตอบโต้การพบปะกันระหว่างไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน และเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 5 เมษายน

สื่อไต้หวันอ้างคำพูดของนายชิว กั๋วเจิ้ง รัฐมนตรีกลาโหมของไต้หวัน ว่า แม้เขาจะไม่สามารถยืนยันได้ว่า ที่เรือ Nimitz อยู่ที่นั่น เพราะเรือ Shandong แต่เมื่อดูจากสภาพการณ์แล้ว “มีความเชื่อมโยงกัน”

230424-th-us-diplomacy-carrier-aircraft3.jpeg

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz (CVN-68) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ทำการบินในทะเลจีนใต้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2566 (กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา)

U.S. Naval Institute กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า USS Nimitz (CVN-68) จะปลดประจำการในปี 2569 ตามแผนปลดประจำการของกองทัพเรือ

เรือบรรทุกเครื่องบินที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ลำดังกล่าวขึ้นระวางเมื่อปี 2518 และสร้างขึ้นเพื่อใช้งานเป็นเวลา 50 ปี

เรือ Nimitz เป็นหนึ่งในเรือรบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยระวางขับน้ำกว่า 100,000 ตัน สามารถบรรทุกอากาศยานปีกติดลำตัวและเฮลิคอปเตอร์ได้มากถึง 90 ลำ และมีลูกเรือประมาณ 6,000 คน

เรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์อีกลำคือ USS Dwight D. Eisenhower ก็จะปลดประจำการในปี 2570 ด้วย

ในเหตุการณ์ล่าสุด หนังสือพิมพ์จีน ไชน่าเดลี่ รายงานว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน Liaoning “เพิ่งดำเนินการฝึกซ้อมหลายครั้งในแปซิฟิกตะวันตก

นี่หมายความว่า เป็นครั้งที่สองแล้วที่เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนสองลำคือ Liaoning และ Shandong ได้ปฏิบัติการร่วมกันในมหาสมุทรแปซิฟิก ครั้งแรกมีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2565 หลังจากที่แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้นเดินทางไปเยือนกรุงไทเป

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์จีน โกลบอลไทม์ ได้อ้างรายงานของสถานีโทรทัศน์ CCTV ของรัฐบาลจีนที่กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนลำที่สามคือ เรือ Fujian “ประสบความสำเร็จในการทดสอบการขับเคลื่อนและการเข้าจอด ก่อนการออกเดินทางครั้งแรกที่กำลังจะมีขึ้น” เป็นไปได้ว่าจะภายในปีนี้

เรียบเรียงโดย ไมค์ เฟิร์น สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง