สหรัฐฯ เตรียมจ่าย 150 ล้านบาท ชดเชยคดีกดขี่แรงงานไทย 54 คน ในฮาวาย ปี 58

อัยการรัฐฮาวาย จะเรียกค่าชดเชยจ่ายผู้เสียหายทั้งหมดให้ครบ 254 ล้านบาท
ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2021.05.19
วอชิงตัน
สหรัฐฯ เตรียมจ่าย 150 ล้านบาท ชดเชยคดีกดขี่แรงงานไทย 54 คน ในฮาวาย ปี 58 ตราประทับของคณะกรรมาธิการโอกาสการจ้างงานเท่าเทียม (Equal Employment Opportunity Commission - EEOC) ที่สำนักงานใหญ่ ในกรุงวอชิงตันดีซี วันที่ 14 พฤษภาคม 2564
รอยเตอร์

ในวันอังคารที่ผ่านมา อัยการรัฐฮาวายเปิดว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสามารถเรียกเก็บเงิน 4.8 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 150.7 ล้านบาท จากบริษัทเจ้าของไร่สัปปะรด และบริษัทอื่นๆ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีกดขี่แรงงานชาวไทย 54 คน ในรัฐฮาวาย เมื่อปี 2558 โดยเตรียมจะจ่ายค่าชดเชยที่สามารถเรียกเก็บมาได้ให้กับผู้เสียหายทั้งหมดต่อไป และจะดำเนินการเรียกเก็บค่าชดเชยให้ครบ 8.1 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 254.4 ล้านบาทตามคำสั่งศาลในอนาคต

น.ส. แอนนา พาร์ค อัยการรัฐฮาวาย ของคณะกรรมาธิการโอกาสการจ้างงานเท่าเทียม (Equal Employment Opportunity Commission : EEOC) เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะเร่งแจกจ่ายเงิน 150.7 ล้านบาท ซึ่งสามารถเรียกเก็บมาได้ให้กับผู้เสียหายโดยเร็ว และจะดำเนินการเรียกเก็บเงินส่วนที่เหลือให้ครบตามจำนวน

“การดำเนินการครั้งนี้ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น และเป็นเพียงค่าชดเชยส่วนหนึ่งที่จะต้องจ่ายให้กับผู้เสียหายที่เรียกร้องสิทธิของตนเอง หลังจากที่พวกเขาต้องรอคอยการชดเชยมาเป็นเวลานาน” น.ส. แอนนา กล่าว

การเก็บค่าชดเชยครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการโอกาสการจ้างงานเท่าเทียมได้ยื่นฟ้อง บริษัท โกลบอล ฮอไรซันส์ (Global Horizons) ซึ่งเป็นบริษัทผู้จ้างแรงงาน และไร่ในรัฐฮาวายอีก 6 แห่ง สืบเนื่องจากการที่ บริษัท และไร่ซึ่งถูกฟ้อง มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อแรงงานไทย 54 คน ได้รับ ในการให้พักอาศัยในที่ที่ไม่เหมาะสม, ให้อาหารไม่เพียงพอ, จ่ายค่าแรงที่ไม่สมเหตุสมผล และการข่มขู่ว่าจะส่งตัวกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม ไร่ 5 แห่งตกลงยอมความนอกศาลว่า จะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เสียหายทั้งหมด 3.6 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 113 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2558 ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในเมืองโฮโนลูลู มีคำพิพากษาให้ ไร่สัปปะรดเมาวี (Maui Pineapple Co.) จำเป็นต้องร่วมกับ บริษัท โกลบอล ฮอไรซันส์ จ่ายค่าชดเชยให้กับแรงงานทั้งหมด เป็นเงิน 8.1 ล้านเหรียญ

ด้าน นายมอร์เดอคาย โอเรียน อดีตประธานบริษัท โกลบอล ฮอไรซันส์ เปิดเผยว่า บริษัท โกลบอล ฮอไรซันส์ ปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2550 และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ โดยระบุว่า คำตัดสินของศาล “ไร้สาระ” และ “บ้า”

“พวกคนงานได้อยู่ในบ้านที่สวยงาม ไม่มีใครบ่น จะเป็นการกดขี่แรงงานได้ยังไง ในเมื่อแรงงานพวกนี้ถูกพาจากประเทศไทยมาอยู่ที่ฮาวาย และให้ชีวิตที่ดีกว่ากับพวกเขา” นายมอร์เดอคาย กล่าว

ขณะที่ น.ส. เลสลี่ โคบายาชิ ผู้พิพากษาศาลแขวงเมืองโฮโนลูลูชี้ว่า เจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการของบริษัท โกลบอล ฮอไรซันส์ ทำร้ายร่างกายแรงงานบางคน โดยมีผู้จัดการคนหนึ่งตบที่ศีรษะของแรงงานคนหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่า พยายามช่วยเหลือแรงงานอีกคนในการหลบหนี ขณะที่ผู้จัดการคนหนึ่งกระชากเสื้อและทุ่มแรงงานคนหนึ่งเข้ากับกำแพง และชกแรงงานบางคนที่ใบหน้า และผู้จัดการอีกหนึ่งคนบอกกับแรงงานว่า ใครก็ตามที่พยายามจะหลบหนีจะถูกยิง, ส่งกลับ หรือถูกจับ

“บริษัท โกลบอล ฮอไรซันส์ เลือกใช้แรงงานไทย เนื่องจากเชื่อว่า แรงงานไทยเชื่อฟังคำสั่ง และมีโอกาสน้อยที่จะหลบหนี หรือก่อปัญหาอื่น ๆ” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

คำพิพากษาของ น.ส. เลสลี่ ระบุว่า ไร่สัปปะรดเมาวี ล้อมรั้วเหล็ก 3 ชั้น รอบบ้านพักคนงาน ใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 10 คน ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้แรงงานรู้สึกเหมือนพวกเขาเป็นนักโทษ ขณะที่ในบ้านพักคนงานเต็มไปด้วย หนู และแมลง รวมถึงไม่มีน้ำอุ่นให้อาบ ขณะเดียวกัน แรงงานไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอ โดยมื้ออาหารส่วนใหญ่ คือ ข้าว, สัปปะรดฝาน, ไข่ต้มสองฟอง หรือเศษเบคอน

ตามการเปิดเผยของ น.ส. แอนนา ระบุว่า ปัจจุบัน บางส่วนของแรงงาน ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ยังคงพักอาศัยอยู่ในฮาวาย บางส่วนเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ขณะที่จำนวนหนึ่ง ย้ายไปอาศัยอยู่แผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ขณะที่ดำเนินการจัดเก็บค่าชดเชยให้กับแรงงานทั้งหมด ทำได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

“ถึงจุดนี้ การที่เราสามารถเรียกเก็บค่าชดเชยได้ตามคำพิพากษามีความสำคัญมากกับเรา และเป้าหมายของเราในพิสูจน์สิทธิให้แก่คนที่ถูกละเมิด” น.ส. แอนนา ระบุ 

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง