108 ผู้ลี้ภัยค่ายแม่หละ แสดงความจำนงขอกลับประเทศเมียนมา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.07.10
กรุงเทพฯ
170710-TH-REFUGEE-620.jpg นางอองซานซูจี กำลังพูดคุยกับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ในค่ายผู้อพยพแม่หละ ก่อนที่นางจะเดินทางกลับ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (10 กรกฎาคม 2560) นี้ นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ นายอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง สัญชาติเมียนมา 28 ครอบครัว ได้แจ้งความจำนงต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์พักพิงผู้อพยพในตำบลแม่หละ (แบเกราะ) ว่าต้องการเดินทางกลับประเทศเมียนมา เนื่องจากเชื่อว่า ปัญหาสงครามและสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศบ้านเกิดเบาบางลงแล้ว จึงเห็นว่าเป็นเวลาที่สมควรจะเดินทางกลับไปยังมาตุภูมิ

“เขากลับโดยสมัครใจ แล้วสถานฑูตฯ ของพม่าก็จะได้จัดเจ้าหน้าที่ดำเนินการ 108 คน ยังไม่ได้กลับตอนนี้ สถานฑูตฯ มาลงทะเบียนตรวจสอบข้อมูล แล้วก็ถ่ายรูป แต่ส่วนของการเดินทาง เขาจะดำเนินการอีกขั้นหนึ่ง ก็เป็นไปตามที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) เขาประสงค์จะให้ผู้อพยพกลับถิ่น” นายสืบพงษ์กล่าว

นายสืบพงษ์ ระบุว่า ในวันที่ 7-10 กรกฎาคม 2560 เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมศูนย์พักพิงฯ แห่งนี้ และได้เตรียมพร้อมแล้วที่จะลงทะเบียนผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับ

ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง สัญชาติเมียนมา เป็นผู้อพยพภัยการสู้รบในประเทศสหภาพพม่า (ชื่อในขณะนั้น) ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยระหว่างปี 2520-2530  ปัจจุบัน ประเทศเมียนมา มีการเลือกตั้งและบริหารโดยรัฐบาลพลเรือนแล้ว ภัยจากการสู้รบจึงลดน้อยลง ผู้อพยพบางส่วนจึงมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

“แต่ก่อนตอนที่ประเทศเพื่อนบ้านเขามีการต่อสู้กันทางทหารเมื่อหลายปีก่อน เขาก็อพยพเข้ามาอยู่ แต่ตอนนี้พอเหตุการณ์ที่ประเทศของเขาสงบ เขาก็อยากจะกลับ ก่อนหน้านี้ยังไม่ค่อยมีการขอกลับ เพราะเขายังไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย” นายสืบพงษ์กล่าว

“แต่เดิมผู้อพยพมักขอไปอยู่ประเทศที่สาม เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย หรืออื่นๆ ก็มีคนไป เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่คราวนี้ การเดินทางไปยังประเทศที่สามน้อยลง การรบในเมียนมาก็น้อยลง เขาก็เลยต้องการจะกลับมาตุภูมิ” นายสืบพงษ์กล่าวเพิ่มเติม

ปัจจุบัน จังหวัดตาก มีศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่าทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ 1. ศูนย์พักพิง ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง  2. ศูนย์พักพิงบ้านอุ้มเปี้ยม ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ และ 3. ศูนย์พักพิงบ้านนุโพ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง โดยมีผู้ลี้ภัยรวมทั้งหมดกว่า 70,000 คน

ขณะที่ใน จ.แม่ฮ่องสอน มีศูนย์อพยพผู้ลี้ภัย 4 ศูนย์ ได้แก่ 1. ศูนย์อพยพบ้านใหม่นายสอย อ.เมือง  2. ศูนย์อพยพบ้านมาสุริน อ.ขุนยวม  3. ศูนย์อพยพบ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย และ 4. ศูนย์อพยพบ้านแม่ละอูน อ.สบเมย มีผู้ลี้ภัยกว่า 35,700 คน

และมีศูนย์พักพิงบ้านต้นยาง ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีผู้อพยพกว่า 3,000 คน รวมถึงศูนย์พักพิงบ้านถ้ำหิน ต.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มีผู้อพยพประมาณ 4,000-5,000 คน ในแต่ละปี สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้แก่ศูนย์อพยพเหล่านี้ประมาณปีละ 100 ล้านบาท

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายฟิลิปโป กรานดี ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เดินทางมายังประเทศไทยและร่วมพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดยได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเริ่มโครงการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศโดยสมัครใจ ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2559 มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา 71 คน ถูกส่งกลับประเทศแล้ว และในปีนี้จะมีผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางกลับอีก 200 คน

“นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยที่จะส่งผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในประเทศไทยกลับประเทศต้นทาง โดยการส่งตัวผู้ลี้ภัยจะเป็นไปอย่างสมัครใจ และต้องมั่นใจว่าเมื่อผู้ลี้ภัยกลับถึงประเทศแล้ว จะสามารถอาศัยอยู่ได้จริง ไม่เกิดปัญหาภายหลัง โดยในอนาคตไทยจะสร้างระบบประเมินสถานภาพผู้ลี้ภัย รวมถึงรัฐบาลยังยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้เข้าถึงการศึกษา และสัญญาว่าจะไม่กักขังผู้ลี้ภัยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แม้เป็นคนหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก็ตาม” นายกรานดี กล่าวต่อสื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง