ประเทศไทย : พบคนลักลอบเข้าเมืองจากเมียนมา มีเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 6 ราย
2020.12.02
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ประเทศไทยพบคนลักลอบเข้าเมืองจากประเทศเมียนมา จำนวน 6 ราย ที่ติดโควิด-19 กระจายตัวในเชียงใหม่ พะเยา พิจิตร กรุงเทพฯ และราชบุรี โดยวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มรวมทั้งหมด 23 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,031 ราย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการสั่งล็อคดาวน์จังหวัดต่าง ๆ ขณะเดียวกัน เชื่อว่าคนไทยจะได้ใช้วัคซีนภายในกลางปี 2564
นพ.โสภณ เอื่อมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ปัจจุบันจากการสอบสวนโรคทำให้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 10 ราย ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงที่เดียวกันในประเทศเมียนมา โดยเป็นรายเก่าที่รายงานไปแล้ว 4 ราย และรายใหม่ 6 ราย
“การสอบสวน ค้นหาโรคเพิ่มเติม ทำให้เราสามารถที่จะพบอีก 6 ราย ซึ่ง 2 รายจะอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ อีก 4 รายอยู่ใน จังหวัดพะเยา พิจิตร กรุงเทพมหานคร และราชบุรี… เราแจ้งไปแล้ว 4 ราย เป็นหนึ่งรายที่จังหวัดเชียงใหม่ 3 รายที่จังหวัดเชียงราย ทั้ง 4 รายอยู่ในการดูแลของแพทย์แล้วก็อาการดี มี 1 ใน 3 รายไม่มีอาการ… ไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ เพราะแต่ละพื้นที่มีการสอบสวนโรคเร็ว” นพ.โสภณ กล่าว
สรุปแล้ว ผู้ติดเชื้อที่พบในวันนี้มี 23 ราย เป็นผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศ เนื่องจากไม่ต้องการถูกกักตัว 6 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าสถานกักกันของรัฐ 17 ราย โดยเป็นผู้ที่เดินทางมาจาก ตุรกี 1 ราย คูเวต 1 ราย เยอรมนี 1 ราย อียิปต์ 1 ราย อิสราเอล 1 ราย ญี่ปุ่น 2 ราย สวีเดน 1 ราย ซูดาน 1 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 5 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย และเมียนมา 2 ราย ทำให้ปัจจุบัน มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,031 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 11 ราย กลับบ้านแล้ว 3,822 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 144 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตคงที่ 60 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อ 6 รายที่พบใหม่ เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา มีความเคลื่อนไหวในประเทศ ดังนี้ รายแรก หญิงอายุ 28 ปี จังหวัดพะเยา เข้าประเทศในวันที่ 27 พ.ย. ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันถัดมาเดินทางต่อไปยังอำเภอเมืองเชียงราย เที่ยวเทศกาลคอนเสิร์ตที่สิงห์ปาร์ค พักในอำเภอเมือง เดินทางต่อไป จ.พะเยา 30 พ.ย. และเข้าตรวจหาเชื้อที่ ร.พ. กระทั่ง 1 ธ.ค. ยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อ
รายที่สอง หญิงอายุ 21 ปี กรุงเทพฯ เข้าประเทศในวันที่ 28 พ.ย. ที่ อ.แม่สาย เข้าพักที่โรงแรม อ.แม่สาย และขึ้นเครื่องบินสายการบินนกแอร์ จากจังหวัดเชียงราย มาลงที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในวันเดียวกัน วันที่ 29 พ.ย. ตรวจอาการในคลีนิก และยืนยัน เป็นผู้ติดเชื้อ รายที่สาม หญิงอายุ 25 ปี จ.พิจิตร เข้าประเทศในวันที่ 28 พ.ย. ที่ อ.แม่สาย เข้าพักที่โรงแรม ก่อนไปขึ้นเครื่องบินที่ อ.เมืองเชียงราย ขึ้นเครื่องบินสายการบินนกแอร์มาลงที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในวันเดียวกัน ต่อเครื่องไปลงที่ ท่าอากาศยานพิษณุโลก และเดินทางกลับ จ.พิจิตร โดยรถส่วนตัว 29-30 พ.ย. ใช้ชีวิตใน จ.พิจิตร วีนที่ 1 ธ.ค. ยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อ
รายที่สี่ หญิงอายุ 36 ปี จ.ราชบุรี เข้าประเทศในวันที่ 29 พ.ย. ที่ อ.แม่สาย เดินทางไปท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยสารเครื่องบินของสายบินไทยไลออน์แอร์ ถึงสนามบินดอนเมือง และต่อแท็กซี่ไปสถานีขนส่งหมอชิต ต่อรถตู้กลับ จ.ราชบุรี เข้ารับการตรวจ ก่อนทราบผล 1 ธ.ค. ยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อ รายที่ห้า หญิงอายุ 23 ปี และ ที่หก หญิงอายุ 25 ปี จ.เชียงใหม่ ทั้งคู่เดินทางเข้าประเทศไทยพร้อมกัน วันที่ 26 พ.ย. ที่ อ.แม่สาย อาศัยอยู่ใน อ.แม่สาย และเดินทางมา จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 28 พ.ย. เข้าพักที่ย่านสันติธรรม เข้ารับการตรวจ ก่อนทราบผล 1 ธ.ค. ยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากการสอบสวนโรค ยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศ ขอให้ประชาชนมั่นใจระบบสาธารณสุขของไทย
“กลุ่มเสี่ยงที่ไปสัมผัส สัมผัสใกล้ชิด เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง ที่นั่งรถมาด้วยกัน เราตรวจหมดแล้วเรียบร้อย ยังไม่มีผู้ใด มีผลพบว่าติดเชื้อโควิด จากคนกลุ่มที่ลักลอบเข้ามา สามารถสรุปได้ว่าเรายังไม่มีเชื้อที่ติดกันภายในประเทศไทย… เพราะฉะนั้นมั่นใจว่าเหตุการณ์จะไม่ระบาดหนักเหมือนช่วงต้นปี… ฝากเฝ้าระวังทั้งคนต่างชาติ และคนไทยที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน และกลับเข้าประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามระบบ และไม่ได้กักตัว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่” นพ.ธงชัย กล่าว
สธ. ยืนยัน ไทยได้ใช้วัคซีนโควิด-19 ไม่เกินกลางปี 64
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัท ผลิตวัคซีน สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยการเซ็นสัญญาครั้งนี้ ใช้วงเงิน 6,049,723,117 บาท สำหรับการจัดหาวัคซีน 26 ล้านโดสให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคน
ในวันพุธนี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ไทยจะได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในกลางปี 2564
“26 ล้านโดส จากแอสตราเซเนกา การที่เราจองครั้งนี้ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย นอกจากได้การจองที่มีประสิทธิผล เรายังได้ศักยภาพในการผลิตวัคซีนอีกทีนึงด้วย เป็นที่คาดหมายว่า เราจะได้รับวัคซีน หากกระบวนการพัฒนาต่าง ๆ ครบถ้วนหมดแล้ว มีการขึ้นทะเบียนในสำนักงานอาหารและยา ของต่างประเทศ และประเทศไทยแล้ว ในแผนเป้าหมายก็คือ ไม่เกินครึ่งปีแรกของปีหน้า 2564 เราก็จะมีวัคซีนได้ใช้” นพ.นคร กล่าว
จากรายงานของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุว่า บริษัท แอสตราเซเนกาแบ่งการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ออกเป็น 2 แบบ แบบที่ 1. มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 ประมาณ 90% และแบบที่ 2. มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ 62% ซึ่งค่าเฉลี่ยประสิทธิผลโดยรวมของทั้ง 2 แบบอยู่ที่ 70.4% ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด เป็นโครงการพัฒนาวัคซีนที่แอสตราเซเนกา ร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ทำมาจากไวรัสไข้หวัดทั่วไป (Adenovirus) ที่อ่อนแอ นำเชื้อมาจากลิงชิมแปนซี แล้วดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อให้เชื้อไวรัสไม่สามารถขยายตัวในมนุษย์ได้ สำหรับการเซ็นสัญญา แบ่งเป็น 1. เงินจัดซื้อวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้า เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนให้ได้สำเร็จ วงเงิน 1,586,287,067บาท และ 2. เงินบริหารจัดการวัคซีน วงเงิน 2,084,005,450 บาท