หาดบูดีบนแหลมโพธิ์ ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้กับจังหวัดปัตตานี
2015.04.01

จังหวัดปัตตานี ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์นับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แต่การพัฒนาของจังหวัดกลับต้องสะดุดด้วยเหตุไฟใต้ที่ลุกโชนอีกคราวนับตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา
แต่ยังมีหาดทรายสวยงามแห่งหนึ่งตั้งอยู่บนแหลมตาชีหรือแหลมโพธิ์ ในอำเภอยะหริ่ง อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีไปเพียงแค่สิบกิโลเมตร ที่ได้รับการพัฒนาและกำลังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ด้วยเสน่ห์แห่งธรรมชาติ และบริการที่พักตากอาหารที่มีกิจกรรมและข้อเสนอที่พิเศษ
ชายหาดที่กล่าวถึงนี้ มีชื่อว่า หาดบูดี ตั้งอยู่ที่บ้านบูดี ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีไปทางทิศตะวันออก เพียงแค่ 10 กิโลเมตร ที่หากย้อนยุคไปเมื่อ 10 ปีก่อน ที่นี่จะมีเพียงแพะที่มาย่ำเดินหาอาหารบนชายหาดที่เต็มไปด้วยกองขยะผสมขี้แพะเท่านั้น
แต่ในปัจจุบันมีรีสอร์ทเกิดขึ้นกว่าสิบแห่ง ในเวลากลางวัน นักท่องเที่ยวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จะมาพักผ่อนจนเต็มชายหาด และพอตกกลางคืน นักท่องเที่ยวก็จะพากันล่องเรือชมหิ่งห้อย นับหมื่นตัว ที่นี่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน ราวกับว่าไม่มีเสียงระเบิดและเหตุรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด
นายอับดุลวาฮับ บินอับดุลเลาะ อายุ 52 ปี ชาวมาเลเซีย ซึ่งเคยมาที่นี้เมื่อสิบปีก่อน กล่าวว่า ตนเองมีความรู้สึกกลัวต่อการเดินทางมาจังหวัดปัตตานี แต่ภรรยาไม่ได้มีความกลัวอย่างนั้น ตนและภรรยาจึงได้เดินทางมาพักผ่อนที่หาดบูดี
“ที่นี่สวยมาก กลางวันนั่งริมหาดตกปลากินสดๆ พอกลางคืนล่องเรือไปดูหิ่งห้อย สวยมากๆ จนลืมเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้น แรกๆตอนที่จะมาก็กลัว ภรรยาบอกว่าอยู่ที่ไหนก็ตายเหมือนกัน พอตัดสินใจมาก็ไม่ผิดหวัง” นายอับดุลวาฮับ กล่าว
นายฮาซัน นิแว อายุ 43 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของ “ดีบูดีรีสอร์ท” กล่าวว่า ตนรู้สึกว่า ช่วงหลังๆ นี้ ในพื้นที่ มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาก จนทำให้นักลงทุนธุรกิจประเภทนี้ กล้าลงทุน และมีคนเข้ามาพักอย่างไม่ขาดสายเลย และหลังจากมีรีสอร์ทเกิดขึ้นในพื้นที่ แม่บ้าน เด็กหนุ่มสาว ก็มีงานทำมากขึ้น หลายๆ คนที่ไปทำงานที่มาเลเซียก็จะกลับมาทำงานที่บ้านเกิด
“ตอนนี้ ที่นี่มีรีสอร์ทเกิดขึ้นเยอะมาก จากเมื่อก่อนนี้ที่มีแต่ที่ดินแห้งๆ ว่างเปล่า แทบไม่มีราคา แต่เดี๋ยวนี้ ราคาไร่ละล้านกว่าบาท เพราะเกิดธุรกิจนี้ขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากจะได้กำไรจากการขายที่แล้วยังมีงานทำอีกด้วย” นายฮาซันกล่าว
นายอาซัน บอกว่า รีสอร์ทของตนมีบริการที่เป็นพิเศษต่อลูกค้า เช่น การรับส่งลูกค้าจากตัวเมืองปัตตานีด้วยเรือที่ให้ความรู้สึกเหมือนกันพักบนเกาะ การนั่งเรือชมปะการังและตกปลา บริการสปาและนวดแผนไทย ที่แยกโซนชายหญิงออกจากกัน ทีมบริการจัดหาอาหารทะเลตามสั่งแบบสดๆ จากท้องทะเล และการปรุงอาหารตามสั่งโดยแม่ครัวมืออาชีพ
นางแอเสาะ ยีปาแอ อายุ 45 ปี ชาวบ้านในอำเภอยะหริ่ง กล่าวว่า “ดีใจ พอมีนักท่องเที่ยว คนพื้นที่มีงานทำ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ดีขึ้น มีความสุขมากลืมเลยว่า ที่นี่มีความไม่สงบเกิดขึ้น”
ด้านเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานพัฒนาในพื้นที่ กล่าวว่า ทุกวันนี้ เศรษฐกิจในอำเภอยะหริ่ง ฟื้นตัวขึ้นมาจากสองสามปีก่อนมาก แต่ปัญหาคือ หลายธุรกิจที่เกิดขึ้นมักไม่มีการจดทะเบียน ทำให้เราไม่สามารถที่จะมีข้อมูลชัดเจนได้ว่าธุรกิจลักษณะนี้ เกิดขึ้นมาแล้วกี่แห่ง มียอดเข้ามาเท่าไหร่ ต้นทุนเท่าไหร่ เราไม่สามารถคำนวณออกมาได้เลย ซึ่งยังรวมถึงบริษัทนำเที่ยวอีกด้วย ที่ทั้งจังหวัดมีจดทะเบียนกับทางราชการไว้เพียงแค่ 2 บริษัทเท่านั้น