ชาวบ้านสามจังหวัดชายแดนใต้เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการกระทำผิด


2015.03.11
TH-villagers-620-Mar2015 เจ้าหน้าที่ชุดรักษาหมู่บ้านร่วมกับเยาวชนช่วยกันดูแลสวนยางในท้องที่ที่มีปัญหา 10 มีนาคม 2558
BenarNews

ตัวเลขการเกิดเหตุรุนแรงในปี พ.ศ. 2557 ลดลงไปอยู่ในระดับต่ำสุด ในรอบ 11 ปี ตั้งแต่เริ่มเกิดขึ้นมา  ตามรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ทำให้ดูเหมือนว่าปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้น แต่ชาวบ้านในพื้นที่ที่ยังต้องทนอยู่กับปัญหา กล่าวต่อเบนานิวส์ว่า สถิติไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้

ทั้งนี้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้แสดงให้เห็นจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวกับผู้ก่อความไม่สงบไว้ที่ 793 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2557 ลดลงไปถึง 39 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ ปี พ.ศ. 2556 ที่มีจำนวนเหตุการณ์รุนแรงถึง 1,298 ครั้ง

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เก็บสถิติข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ย้อนหลังไปถึง ปี พ.ศ. 2547 เป็นเวลา 11 ปี ในปัจจุบัน

มีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติ

นายกามานรุดดีน บาโง อายุ 56 ปี ชาวบ้าน จ. ยะลา กล่าวว่ายอมรับว่าทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่ทำงานดีกว่าอดีต แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มีหลายปัจจัย ทั้งยาเสพติด อิทธิพล ผลประโยชน์ ขบวนการค้าของเถื่อนหรือของหนีภาษี ต่างมีส่วนในการเอื้อให้พื้นที่นี้ เกิดความไม่สงบ

“ทุกวันนี้ รัฐมองแค่ว่าเหตุการณ์ไม่เกิด คือ สิ่งที่ดี แต่ชาวบ้านมองว่า เหตุการณ์ไม่เกิด คือ เป็นเรื่องผิดปกติ และน่ากลัวกว่าการเกิดเหตุรายวันในทุกๆ วัน เพราะเมื่อเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นอีก ความสูญเสียจะต้องเพิ่มและทวีมากขึ้นกว่าหลายๆ ครั้ง และทุกครั้งเหตุการณ์ก็มีการพัฒนาขึ้นทำให้ประชาชนเดือดร้อนเป็นวงกว้างมากขึ้น”

นายกามานรุดดีน ยังกล่าวถึงปัญหาสังคมที่ถูกละเลยไป คือ ปัญด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น ปัญหาในการทำมาหากินและปัญหาเรื่องความประพฤติของวัยรุ่น เรื่องการลักเล็กขโมย ที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ที่เท่ากับว่ารัฐไม่ยอมอำนวยกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน

“ตราบใดที่ รากเหง้าที่แท้จริงของปัญหายังไม่ถูกแก้ไข ปัญหาไม่มีวันจะสงบลงอย่างแน่นอน ทุกวันนี้ มีใครกี่คนที่ เป็นภาครัฐมองว่า ปัญหาของเด็กวัยรุ่น ขโมยขี้ยาง กล้วย แตงโม มะพร้าว ของชาวบ้าน ว่าคือปัญหา เจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความ ชาวบ้านยังมีความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมอยู่ เชื่อที่เป็นปัญหาก็ไม่มีวันหมดจากพื้นที่ ความไม่สงบก็ไม่มีวันจบลงได้” นายกามานรุดดีนกล่าวเพิ่มเติม

นายแวอาแซ ยีมาโซ๊ะ อายุ 46 ปี  ชาวบ้าน จ.ปัตตานี กล่าวว่า “บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐพยายามทำงานเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ยังมีการมองมิติปัญหาคนละมุมกันกับชาวบ้านในการทำให้พื้นที่สงบ ชาวบ้านมองว่า ความรู้สึกที่เป็นธรรม ผลผลิตการเกษตรราคาแพง สามารถใช้ชีวิตปกติได้  ไม่ได้วัดจากสถิติของการเกิดเหตุการณ์ความรุ่นแรงลดหรือไม่ลด”

“ทุกวันนี้หลายพื้นที่เจอปัญหายาเสพติด ผลผลิตทางการเกษตรราคาถูก แถมยังเจอปัญหากลุ่มที่ติดยา ไม่ทำงาน ขโมย ของชาวบ้านเพื่อนำเงินไปซื้อยา วันไหนขโมยไม่ได้มักจะก่อกวนอาละวาดชาวบ้าน บ่อยครั้งมีการ ยิงปืนขึ้นฟ้า เพราะควบคุมตัวเองไม่ได้ เมื่อแจ้งไปยังผู้นำท้องถิ่น กลับได้คำตอบว่าไม่ใช่เรื่องของเขา ทำให้ชาวบ้านต้องอยู่อย่างลำพัง ไม่มีที่พึ่งบางพื้นที่” นายแวอาแซกล่าว

“คนที่ก่อกวนชาวบ้าน เป็นเด็กของเจ้าหน้าที่บางสี เด็กของผู้มีอิทธิพล ยิ่งทำให้ชาวบ้านยากจะออกจากปัญหานั้นได้ เมื่อมีการแจ้งความไปยังเจ้าหน้าที่ กลับได้คำตอบไปว่า ไม่พบอาวุธในตัวผู้ต้องสงสัยแต่อย่างใด ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่มองไม่เห็นการกระทำผิดของพวกเขา แต่ชาวบ้านเดือดร้อนทุกวัน”

นายอำเภอกล่าวแก่ผู้ได้รับผลกระทบให้แจ้งความกับตำรวจ

ซึ่งในเรื่องนี้ นายก้องสกุล จันทราช นายอำเภอยะหา และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการอำเภอยะหา  ยอมรับถึงปัญหาสังคมดังกล่าวว่ามีอยู่จริง และได้กล่าวว่า “ในเบื้องต้นทางหน่วยที่เกี่ยวข้องได้มีมาตราการในการดูแลและจัดการกับปัญหาอย่างชัดเจน โดยเน้นย้ำไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ผู้นำศาสนา ให้ร่วมกันหาคนกระทำมาดำเนินคดี”

“หลักสำคัญที่ใช้ คือ ได้มีการเน้นย้ำไปยังพี่น้องประชาชนให้เข้าไปแจ้งความเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิด ซึ่งหากพี่น้องเพิกเฉยแล้ว ผู้กระทำผิดก็จะยิ่งได้ใจ และก่อปัญหาอย่างไม่ละอาย หรือมีความเกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง” นายอำเภอยะหา กล่าวแก่เบนานิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง