ประเทศไทย-บีอาร์เอ็น เริ่มบทใหม่ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขแดนใต้

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2020.02.07
กรุงเทพฯ
200207-TH-MY-Prayuth-1000.jpg พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (กลาง) นายกรัฐมนตรีพบปะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายศาสนามุสลิมในระหว่างการเยือนคณะกรรมการอิสลามนราธิวาส ในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 20 มกราคม 2563
เอเอฟพี

หลังจากความพยายามร่วม 15 ปี ในที่สุดรัฐบาลไทยก็สามารถชักชวนกลุ่มก่อความไม่สงบบีอาร์เอ็น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่โต๊ะเจรจา

ตัวแทนคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทยและสมาชิกฝ่ายกิจการต่างประเทศของกลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มแบ่งแยกดินแดนปาตานีมลายู ที่มีมายาวนานและเป็นผู้คุมกำลังฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ทั้งหมด ได้พูดคุยกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อประกาศการเริ่มต้นการพูดคุยเพื่อสันติสุขโดยตรงอย่างเป็นทางการ

ซึ่งแตกต่างจากการพูดคุยคราวก่อน ๆ คือการพูดคุยล่าสุด ได้รับฉันทานุมัติจากสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น (Dewan Pimpinan Parti - DPP) ซึ่งเป็นสภาลับ ที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้อาวุโส ที่ทำหน้าที่เหมือนผู้นำทางจิตวิญญาณมากกว่าที่จะเป็นผู้นำทางทหารของขบวนการบีอาร์เอ็น

นายอันนาส อับดุลเราะห์มาน (หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ฮีพนี มาเระห์) อดีตครูโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา ได้นำผู้แทนของบีอาร์เอ็นเข้าพบปะพูดคุย ที่กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งนายสะแปอิง บาซอ ที่ทางการไทยเชื่อว่า เป็นอดีตผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มก่อความไม่สงบบีอาร์เอ็น ก็เคยเป็นอดีตครูใหญ่ ของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ก่อนที่จะหลบหนีการจับกุมในปี 2547

นายฮีพนี ถูกจับกุมพร้อมกับครูสอนศาสนาอีกเจ็ดคน ทั้งหมดได้รับการประกันตัว ในปี 2550 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลทหารในขณะนั้น เพื่อเอาชนะใจ นายฮีพนี หนีประกัน โดยหลบหนีข้ามชายแดนเข้าไปในมาเลเซีย และเพิ่งปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในงานแถลงข่าวและต่อด้วยการพบปะกัน ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปลายเดือนมกราคมนี้

แม้ว่าจะมีฉันทานุมัติจากสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น (DPP) เป้าหมายของกระบวนการสันติภาพก็ยังคงอยู่อีกไกล

โครงสร้างการบังคับบัญชาของขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น เคลื่อนไหวตลอดเวลา ในการสั่งการและควบคุม ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความเคลื่อนไหวที่ลึกลับ – สิ่งที่ขบวนการพูดถึง ความมีเสรีภาพและการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์นั้น ถือเป็นคุณธรรมหน้าที่อย่างหนึ่ง – ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้มีความหวัง

ความจงรักภักดีของฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ ขึ้นอยู่กับหัวหน้ากองกำลังประจำพื้นที่นั้นเป็นสำคัญ ไม่ใช่การปฏิบัติการ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นสูตร ที่ก่อให้เกิดความแตกแยก เลิกรา ถ้าเกิดความเห็นไม่ลงรอยกัน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของนโยบายหรือกลยุทธ์

ช่วงวิกฤต

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ นับเป็นเวลาที่สำคัญ เนื่องจากผู้นำบีอาร์เอ็นกำลังพยายามสร้างความเข้าใจกับห้วหน้าฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ของตน เกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งล่าสุดนี้ เป็นการถกเถียงครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มานานร่วม 16 ปี

นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะปาตานี (The Patani) องค์กรประชาสังคมที่ทำงานในเวทีพูดคุยประสานความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย กล่าวว่า บีอาร์เอ็นน่าจะมีแนวทางใหม่ในการต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่จะเข้าร่วมการพูดคุยเมื่อเดือนที่แล้ว

นับเป็นเวลากว่าทศวรรษที่การได้เอกราช เป็นเสมือนพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมของบีอาร์เอ็น

“ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนี้อีกแล้วในตอนนี้ และพวกเขาจะชี้แจงต่อนักรบในพื้นที่อย่างไร” นายอาเต็ฟ กล่าว

ในงานแถลงข่าวที่มีการกล่าวปิดการพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก นายฮีพนีได้วาดภาพเสียสวยงามระหว่างทั้งสองฝ่าย ไทยและบีอาร์เอ็น – ว่ามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความสงบสุขตลอดมา และว่าพวกเขาได้ดำเนินการพูดคุยลับอย่างไม่เป็นทางการ มาก็นานหลายปี โดยในขณะที่การพูดคุยฯ อย่างเป็นทางการ ก็มาหยุดนิ่งเสียอย่างนั้น

นายฮีพนีมองข้ามเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญ ๆ ไปอย่างง่ายดาย ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่ฝ่ายปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นดำเนินการ เพื่อขัดขวางไม่ให้ประเทศไทยสามารถดึงผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็นมาร่วมโต๊ะเจรจา ดังเช่นเหตุการณ์รุนแรงล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2562 เหตุวางระเบิดที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ เนื่องจากในขณะนั้น ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจากรัฐอาเซียนและประเทศอื่น ๆ

จากแหล่งข่าวสองฝ่ายที่อยู่คนละขั้วการเมือง กล่าวว่า การลอบวางระเบิดเป็นคำเตือนอย่างแรง แก่ทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซีย ให้หยุดยั้งการก่อกวนสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็นให้มาร่วมโต๊ะเจรจา

โดยมีการส่งสัญญาณด้วยเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันก่อนหน้า ในเดือนมกราคม 2562 เมื่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในจังหวัดนราธิวาส สังหารพระสงฆ์สองรูปในวัด และผู้ปกครองโรงเรียนของรัฐสี่คน รวมทั้งครูที่เกษียณแล้ว ในจังหวัดสงขลา

ทักษิณ ชินวัตร ริเริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ

กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่เคยคิดที่จะพูดคุยกับทางการไทยแบบตัวต่อตัวอยู่แล้ว

ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวดังกล่าว ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 ได้ก่อเหตุการณ์คาร์บอมบ์สามคันที่ถูกกดระเบิดขึ้นพร้อมกันบนถนน ในจังหวัดยะลา

ทั้งยังมีการวางระเบิดที่ลานจอดรถชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในหาดใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้า ตั้งอยู่ด้านเหนือของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้เสียชีวิต 13 ราย และบาดเจ็บอีก 200 ราย ในวันที่น่าสะเทือนขวัญ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นสองสัปดาห์ให้หลัง หลังจากที่มีแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนปาตานีที่หนีไปอยู่นอกประเทศจำนวน 16 คน ได้เข้าพบกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

บีอาร์เอ็นรู้สึกถูกหยามจากข้อแก้ตัวของนายทักษิณ ที่กล่าวอ้างว่า เป็นยุทธวิธีการต่อต้านการก่อความไม่สงบที่หนักมือของเขา ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่นำกองทัพไทย และยังให้ข้อมูลที่บิดเบือนแก่เขา ดังนั้น เขาจึงแนะให้ทุกฝ่ายปล่อยให้อดีตเป็นอดีตและเดินหน้าต่อไปด้วยกระบวนการเจรจาสันติภาพ

นอกจากการตอบโต้ที่ร้ายแรงของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่คร่าหลายชีวิตแล้ว ทางฝ่ายกองทัพไทยก็ยังคงไม่ใส่ใจ – นางสาวยิ่งลักษณ์ได้ผลักดันการริเริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพของพี่ชายของเธอ โดยเริ่มกระบวนการเจรจาฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกอย่างเป็นทางการ

ตัวแทนจากฝ่ายขบวนการฯ รวมถึง ผู้ที่อ้างว่าเป็นสมาชิกของบีอาร์เอ็น เช่น นายฮัสซัน บิน ตอยิบ ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยสันนิษฐานผิดว่าเป็น คนของบีอาร์เอ็นที่สภาองค์กรนำ (DPP) ส่งมาร่วมโต๊ะเจรจา

สภาปกครองของบีอาร์เอ็นได้ส่งตัวแทนสองคนมาร่วมการเจรจา คือ นายอดัม มูฮัมเหม็ด เนอร์ หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศ และนายอับดุล คาริม คาลิด ผู้นำฝ่ายเยาวชน ทั้งสองเข้าร่วม เพื่อทำให้กระบวนการพูดคุยไม่เป็นผล

ด้านกองทัพไทยก็ไม่สนใจว่า การริเริ่มกระบวนการสันติภาพของ นางสาวยิ่งลักษณ์จะสำเร็จหรือล้มเหลว ท้ายที่สุด มันก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาและการวางแผน และก็ไม่ได้เกี่ยวกับบีอาร์เอ็นเช่นกัน

ในปีต่อมา เดือนพฤษภาคม 2557 กองทัพไทยได้มีรัฐประหาร ปลดอำนาจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยไม่เสียเลือดเนื้อ และต่อมาเหล่านายพลผู้นำก็พากันคิดอย่างหนักว่า จะทำอย่างไรกับกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพของเธอ โดยไม่ต้องการให้ถูกมองว่าเป็นฝ่ายนายทหารที่ไม่รักสันติภาพ ดังนั้นรัฐบาลทหารจึงได้จัดตั้งคณะผู้แทนเจรจาสันติภาพ ที่มาจากหลายหน่วยงานรัฐ โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นแกนนำสำคัญ

กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่รัฐบาลทหารกำหนดไว้ คือ ให้มีฝ่ายผู้เห็นต่างเข้าร่วม “รวมทุกกลุ่ม” ซึ่งแตกต่างจากการตกลงสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่พูดคุยกับบีอาร์เอ็น กลุ่มเดียว หรือเป็นกลุ่มที่บอกว่าเป็นตัวแทนบีอาร์เอ็น

แต่ด้วยนโยบายใหม่นี้ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกต่อต้าน โดยบีอาร์เอ็นใช้เป็นข้ออ้างที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขของทางกรุงเทพฯ อีกทั้งสมาชิกที่เข้าร่วม โดยเฉพาะสมาชิกที่อยู่ในองค์กรมาราปาตานี องค์กรร่มที่เป็นตัวแทนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่าง ๆ ก็ไม่มีอิทธิพลต่อกองกำลังปฏิบัติการในพื้นที่

ในขณะนี้ รูปการณ์ปัจจุบันระหว่างทั้งสองฝ่ายน่าจะดำเนินต่อไป ฝ่ายกองกำลังปฏิบัติการของกลุ่มบีอาร์เอ็น คงจะมีการรณรงค์เรื่องความรุนแรงต่อไป

โดยในกรุงเทพฯ ก็ดูเหมือนไม่พร้อมจะยินยอมตามเป้าหมายในข้อตกลง แม้ว่าการพูดคุยในหมู่ผู้ที่วางนโยบายกำลังศึกษาประเด็นสำคัญ ๆ อย่างเช่น การจัดการให้มีพื้นที่ว่างมากขึ้น สำหรับพื้นที่ทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาวมลายูปาตานี

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง