กลุ่มก่อความไม่สงบก่อเหตุโจมตีรุนแรงอีกระลอก ในเดือนรอมฎอน

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน และ อาเต็ฟ โซ๊ะโก
2018.06.15
ยะลา
180615-TH-Deep-South-1000.jpg ชาวบ้านและอาสาสมัครอลหม่านช่วยกันดับไฟ หลังจากผู้ต้องสงสัยกลุ่มขบวนการลอบวางระเบิดโจมตีระลอกใหม่ ในจังหวัดยะลา วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557
เอพี

ในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของทุกปีในระยะสิบสามปีที่ผ่านมา ฝ่ายขบวนการมักจะก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ขึ้นหนึ่งครั้ง ซึ่งป็นการก่อเหตุแบบต่อเนื่อง เพื่อเตือนให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยระลึกอาชญากรรมที่เคยทำไว้ เมื่อเดือนตุลาคม 2547 นั่นคือ เหตุการณ์ตากใบ

เหตุการณ์ตากใบ จบลงด้วยการเสียชีวิตของผู้เดินขบวนชาวมลายูปาตานี 85 คน ซึ่ง 78 คน ตายเพราะขาดอากาศหายใจจากการถูกอัดในรถยนต์ลำเลียงทางทหาร เพื่อนำตัวไปปัตตานี ส่วนอีก 7 คน ถูกยิงเสียชีวิต ในที่ประท้วงหน้าสถานีตำรวจตากใบ

ในปีนี้ การโจมตีแบบต่อเนื่องเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติเล็กน้อย โดยการโจมตีตู้เอทีเอ็ม ในห้วงเวลาครึ่งชั่วโมง ในขณะที่ชาวมุสลิมละศีลอด และถนนไม่มีผู้คนพลุกพล่าน เป็นการก่อเหตุในย่านตัวเมือง และโดยส่วนใหญ่ห่างจากจุดตรวจทหารไม่มากนัก ซึ่งเป็นการตบหน้าเจ้าหน้าที่

โดยธรรมชาติแล้วความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องการเมือง เช่นเดียวกับสงครามกองโจรและความรุนแรงทางการเมืองในที่อื่นๆ มีการสื่อเจตนาบางอย่างออกไปด้วยการก่อเหตุ ในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก จะมีการใช้กล้องวิดีโอและสื่อโซเชียลในการสื่อสารความต้องการที่เป็นเหตุเบื้องหลังของการก่อเหตุ

ซึ่งปกติ ผู้ที่รับสารจะเป็นบุคคลในระดับตัดสินใจนโยบายและสาธารณชนที่อาจจะอยู่ไกลห่างออกไปค่อนโลก

สำหรับผู้ที่จะรับสารจากการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นฝ่ายความมั่นคงและหัวหน้าหน่วยงาน เป็นการสื่อสารด้วยสารที่เกี่ยวข้องกับความตายระหว่างสองฝ่ายที่ทำสงครามกัน

สิ่งที่พบเห็นในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งสื่อโซเชียลต่างๆ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงในภาคสนามเสมอไป ทั้งนี้ ขบวนการบีอาร์เอ็นที่มีอิทธิพลควบคุมกองกำลังในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงองค์กรเดียว ไม่ได้มีโฆษกของกลุ่มที่ชัดเจน ที่จะออกมาให้ข้อมูลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มขบวนการอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

แทบจะไม่ต้องอธิบายเลยว่าลักษณะที่ว่านี้ ทำให้การศึกษาถึงเหตุการณ์รุนแรงจากความขัดแย้งนี้ เป็นไปได้ยากสำหรับนักวิชาการและนักวิจัย

บีอาร์เอ็น จะออกการแถลงการณ์นานๆ ครั้ง โดยเป็นไปในลักษณะการแถลงด้านเดียว ไม่มีการซักถามใดๆ ให้ครอบคลุม โดยผู้สื่อข่าว

ส่วนการอธิบายและการชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จะมาจากโฆษกของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งไม่จำเป็นว่าสาธารณชนหรือประชาชนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง จะเชื่อตามคำแถลงนั้น

คนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมาอย่างยาวนานแห่งนี้ ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ต่างคุ้นเคยกับบางสิ่งบางอย่าง เช่น ฝ่ายมือปืนของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่จะไม่ลังเลในการยิงใส่ร้านน้ำชาที่เต็มไปด้วยชาวบ้าน โดยไม่แยกแยะเป้าหมาย หรือการที่มือปืนรายหนึ่งยิงกระสุนสองนัดใส่ท้ายทอยของคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นสายให้ทางการ

บางครั้งเกิดเหตุการที่ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิต จากการที่ระเบิดที่ฝังไว้ริมถนนพลาดเป้าหมายรถยนต์ลาดตระเวนของทหาร แล้วต้องกลายเป็นผู้รับเคราะห์แทน เพราะเข้าไปอยู่ผิดที่ผิดเวลา

หลายๆ คน เข้าใจว่าโดยธรรมชาติความรุนแรงเป็นเรื่องเชิงการเมือง แต่การที่ต้องสูญเสียบุคคลที่รักโดยไม่มีคำอธิบายนั้น ยากที่จะเอาชนะความทุกข์ที่เกิดแก่ครอบครัวตนได้

นายอดุลเดชร์ เจ๊ะแน รองประธาน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ที่ถูกยิงหลายนัดในระยะใกล้ จนเสียชีวิตลงไม่กี่วันมานี้ เช่นเดียวกับการสังหารบุคคลชั้นนำในพื้นที่คนอื่นๆ มีการคาดเดาถึงประเด็นและสาเหตุที่จะเป็นไปได้

ส่วนสาเหตุที่ว่า นายอดุลเดชร์ถูกยิง จะเป็นเพราะสาเหตุส่วนตัว หรือจากการเข้าไปเกี่ยวข้องในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยกับฝ่ายคณะเจรจาของไทยและของมาราปาตานี จนมากเกินไปนั้น ดูเหมือนว่ายังไม่มีใครที่พอจะตอบได้

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของนายอดุลเดชร์นั้น ได้ก่อให้เกิดความกังวลต่อความปลอดภัย ของบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความพยายามในการหาทางออกให้กับความรุนแรง สภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น ไม่สนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ดังนั้น มีเหตุจูงใจให้สังหารนายอดุลเดชร์ได้

นักสังเกตการณ์สถานการณ์ความขัดแย้งหลายราย ได้ระบุถึงการสังหารบุคคลระดับสูง ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ค่อยมีความสมเหตุสมผล ที่รวมถึงการยิงนายแวสือแม สุเด็น เสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายน 2557 ซึ่งอุสตาซแวสือแม เป็นคนอำเภอสายบุรี ปัตตานี เช่นเดียวกับนายอดุลเดชร์ โดยเจ้าหน้าที่ได้อ้างว่าอุสตาซแวสือแม ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางการในการพูดคุยของรัฐบาลกับมาราปาตานี ที่อยู่ในระยะที่เรียกว่า แทร็ก 1

ตามคาด ทั้งบีอาร์เอ็นและทหารไทยต่างป้ายความผิดเข้าหากัน ว่าเป็นคนสั่งยิงนายแวสือแม ที่ผู้สังเกตการณ์น่าจะเรียก อุซตาสแม มากกว่า บาบอแม ทั้งเชื่อว่าบาบอแม เป็น รักษาการเลขาธิการของสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น หรือ Dewan Pimpinan Parti (DPP)

บางท่านกล่าวว่า บาบอแมถูกปลดออกจากตำแหน่ง เพราะช่วยเหลือรัฐบาลไทยในการริเริ่มการพูดคุยที่นำไปสู่การจัดตั้งองค์กรมาราปาตานี ที่เป็นองค์กรร่มในการเจรจาของฝ่ายขบวนการต่างๆ ในภายหลัง

สามเดือนก่อนที่จะถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นวันที่มีการเปิดเผยว่า จะมีการเจรจาของสองฝ่ายในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการสังหารนายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ อิหม่ามระดับหมู่บ้าน ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา แต่นายนายอับดุลลาเต๊ะ เป็นชาวตำบลปะแต ที่เป็นพื้นที่สีแดงจัด

การเป็นอิหม่ามในตำบลปะแต หมายความว่าบุคคลนั้น ต้องปิดตาทำเป็นไม่รู้จักกับคนในขบวนการก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ไม่ประสงค์จะออกนามรายหนึ่งกล่าว นายอับดุลลาเต๊ะ มีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างสองฝ่าย

แต่มีบางคนรู้สึกว่า นายอับดุลลาเต๊ะ มีความใกล้ชิดกับฝ่ายขบวนการมากเกินไป ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำจัดเขาออกไป ซึ่งที่เขาถูกการสังหาร ทำให้เกิดการแก้แค้นกันไปมาติดต่อกันนานถึงหกสัปดาห์

การตายของนายอับดุลลาเต๊ะ สมาชิกคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา เกิดการตอกลิ่มในคณะกรรมการจังหวัดต่างๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และฝ่ายความมั่นคง ในที่สุด เมื่อมีการเปิดตัวการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในสมัยอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ไม่มีคณะกรรมการอิสลามแห่งใด ที่สนับสนุนการริเริ่มนี้

เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องหมายเหตุไว้ว่า มิใช่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยทุกรายจะดำเนินการอย่างสอดคล้องกัน มีหลายๆ คนมีความรู้สึกที่สุกงอมแล้วว่าจะไม่สนับสนุนในหลายๆ เรื่อง รวมทั้งการเจรจาอย่างเป็นทางการในตัวมันเอง

จริงๆ แล้วมีหลายภาคส่วนในสังคมไทย รวมทั้งหลายหน่วยงานรัฐบาล ที่ไม่เห็นด้วยกับการนั่งคุยอย่างเป็นทางการกับฝ่ายชาวมลายูปาตานี เพราะเขามองว่าคนในกลุ่มนี้เป็นอาชญากรเท่านั้น

การสังหารเป้าหมายบุคคล ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงแห่งนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ มาก แต่เป็นการยากที่แนวทางนี้จะแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งได้ในทันที บ่อยครั้งการสังหารเหล่านี้ ถูกใช้เป็นเครื่องสนับสนุนตนเองของฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทั้งหลาย

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะปาตานี (The Patani) องค์กรประชาสังคมที่ทำงานในเวทีพูดคุยประสานความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง