สถาบันกษัตริย์ของไทยนอกเขตเมืองหลวง

บทความพิเศษโดย ชาร์ลส์ คายส์
2016.10.14
TH-king-upcountry-1000 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมเยียนผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นาย เอี่ยม เกรียงศิริ (ในขณะนั้น)และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอื่น ๆ ภาพเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2511
เอื้อเฟื้อภาพโดย เจน คายส์

พสกนิกรทั้งภายในประเทศไทยและนอกประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของไทย ทรงเป็น “เสาหลักแห่งอัตลักษณ์ของประเทศไทย และเป็นพลังสำคัญที่ก่อให้เกิดความสามัคคีภายในประเทศ” ดังที่โทมัส ฟูลเลอร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์

การสวรรคตของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าประชาชนชาวไทยจะเศร้าโศกเสียใจไปเป็นเวลานาน จะเป็นเหตุการณ์แปรผันให้บทบาทของสถาบันกษัตริย์ไทยลดความสำคัญลง

อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 21 นี้ สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ว่าประชาชนชาวไทยมีความแตกแยกทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างมองสถาบันกษัตริย์ไทยแตกต่างกันออกไป

ผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ไทยมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นบรรดาชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และผู้ที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ตอนบนของไทย คนไทยที่อาศัยอยู่นอกกรุงเทพฯ แม้ส่วนใหญ่จะให้การยกย่องและเทิดทูนพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ แต่ก็มีหลายทัศนะที่แตกต่างออกไปต่อสถาบันกษัตริย์

เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ทรงเริ่มเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศไทย และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย

สำนึกแห่งความผูกพันส่วนบุคคลที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ในช่วงเวลานั้น ถูกทำให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เมื่อหน่วยงานหนึ่งของสหรัฐฯ ช่วยรัฐบาลไทยแจกจ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์แก่ทุกครัวเรือนในประเทศไทย

ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2500-30 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งบ่อยครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ทรงตามเสด็จด้วย และจะประทับที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาในจังหวัดเชียงใหม่ และประทับแรมที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระองค์ทรงสนพระทัยต่อบรรดาชาวเขาในภาคเหนือของไทย ทำให้คนไทยทั่วไปมองชาวเขาในทางที่ดีขึ้น

ดังนั้น ชาวเขาจำนวนมากจึงรู้สึกผูกพันเป็นการส่วนตัวกับพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้

ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์แตกต่างออกไปเป็นอย่างมากจากความสัมพันธ์ที่คนไทยในส่วนอื่นของประเทศมีต่อสถาบันกษัตริย์

อัตลักษณ์ของคนเหล่านี้ อยู่บนพื้นฐานของการนับถือศาสนาอิสลาม ภาษาเฉพาะที่ใช้ไม่ใช่ภาษาไทย และคนเหล่านี้มีความคิดที่ว่าพวกเขาเป็นทายาทแห่งอาณาจักรปาตานี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นรัฐอิสระมีอำนาจปกครองตนเอง

แม้อาณาจักรปาตานีจะเป็นประเทศราชของสยามมาเป็นเวลานานก็ตาม แต่เพิ่งถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 การผนวกดินแดนดังกล่าว ทำให้ประชาชนในพื้นที่อาณาจักรปาตานีเดิม อยู่ภายใต้การปกครองแบบรวมอำนาจที่ศูนย์กลางในกรุงเทพ เช่นเดียวกับระบบการปกครองที่ใช้สำหรับส่วนอื่นของประเทศไทย

อาณาเขตของปาตานีได้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อย ๆ คือ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา

แม้จะมีความพยายามในเวลาต่อมาในการตีความของฝ่ายปกครองเกี่ยวกับสถาบันศาสนาของไทย ที่ให้ยอมรับทุกศาสนาที่นับถือโดยประชาชนไทย และการสนับสนุนทางการเงินที่สถาบันกษัตริย์ให้แก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปแสวงบุญที่เมกกะก็ตาม แต่มีข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่เคยมีการยอมรับการปกครองตนเองของชนชาติพันธุ์อื่นและศาสนาอื่น ทำให้ชาวมุสลิมมลายูในประเทศไทย รู้สึกเหินห่างออกไปมากยิ่งขึ้น

ในปี 2544 เริ่มเกิดการก่อความไม่สงบขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งควบคุมได้ยาก ทั้งรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหารต่างก็ไม่สามารถกำจัดการก่อความไม่สงบเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป

เมื่อพระมหากษัตริย์ของไทยพระองค์นี้ ทรงประประชวรหนักยิ่งขึ้น พระองค์ทรงเสด็จฯ ออกต่างจังหวัดน้อยลงเรื่อยๆ นอกเหนือจากการเสด็จแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวลที่หัวหิน ในภาคใต้

ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้ทรงรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับภาคใต้ รวมทั้งพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม หากแต่ด้วยพระสุขภาพที่อ่อนแอลงของพระองค์ ทำให้พระองค์ต้องลดการเดินทางลง รวมถึงการเดินทางลงภาคใต้ด้วย

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร แม้จะทรงได้รับสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมาร ในปี 2515 แต่พระองค์ก็แทบจะไม่เคยเดินทางออกต่างจังหวัดเลย หากทรงโปรดที่จะเดินทางไปต่างประเทศเสียมากกว่า

ในขณะที่พระสุขภาพของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันกำลังแย่ลง อาจมีการคาดกันว่ารัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลภายใต้การนำของทหาร จะพยายามดำเนินการสนับสนุนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในต่างจังหวัด แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น

รัฐบาลทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดสรรงบประมาณบางส่วนเพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ อาจเห็นผลบ้างในการช่วยสนับสนุนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แต่ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า สถาบันกษัตริย์ของไทยหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล

มีข้อกังวลเล็กน้อยว่า เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราสฯ ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ องค์ที่ 10 ของไทย สถาบันกษัตริย์จะลดถอยความศรัทธาลงไปในหมู่ประชาชนชาวไทย ไม่เหมือนในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 แน่นอนว่านี่จะหมายความว่า รัฐบาลทหารที่อ้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ในกรุงเทพฯ จะเผชิญกับปัญหาหนักยิ่ง

ชาร์ลส์ ายศาสตราจารย์กิตติคุณ สาขามานุษยวิทยาและวิเทศศึกษา ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองซีแอทเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ชาร์ลส์ ายได้ใช้เวลาร่วมหลายทศวรรษในการวิจัยด้านศาสนา การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมือง และความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความคิดเห็นในบทวิจารณ์นี้เป็นของผู้เขียน ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง