การพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ อาจเริ่มอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2021.04.12
กรุงเทพฯ
การพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ อาจเริ่มอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบบริเวณที่คนร้ายสังหารอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้าน ในจังหวัดยะลา วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562
รอยเตอร์

ปรับปรุงเวลา 03:59 PM ET 2021-04-13

การพูดคุยเพื่อสันติสุขเต็มรูปแบบครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปี ระหว่างไทยและขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานีหรือบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional – BRN) ในภาคใต้ อาจมีขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม แหล่งข่าวจากทั้งสองฝ่ายกล่าว แต่การหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนคงจะไม่เกิดขึ้น

หลังจากการเจรจาระดับเทคนิคในเดือนกุมภาพันธ์ ระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลไทย และตัวแทนของบีอาร์เอ็น ผู้เจรจาของไทยแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงในช่วงเดือนถือศีลอด ซึ่งจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้

แต่ผู้แทนของบีอาร์เอ็นกล่าวว่า ผู้เจรจาอยากที่จะพูดคุยถึงการพักรบ เมื่อผู้แทนทั้งหมดของทั้งสองฝ่ายมาพบกันอีกครั้งมากกว่า แหล่งข่าวของรัฐบาลกล่าว

ผู้เจรจาของไทยและบีอาร์เอ็นได้เริ่มการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในเดือนมกราคม 2563 และพบกันอีกครั้งในต้นเดือนมีนาคมของปีนั้น ก่อนที่การระบาดใหญ่ของโควิด-19ทำให้การเจรจาหยุดชะงักลง

ทั้งสองฝ่ายวางแผนที่จะกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง ในรัฐเคดะห์ของประเทศมาเลเซีย ในเดือนพฤศจิกายน แต่ต้องยกเลิกแผน เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้นมาก

รัฐบาลไทยหลายต่อหลายชุดได้ใช้เวลาหลายปีในการพยายามโน้มน้าวผู้นำของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้อาวุธที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงส่วนใหญ่ ในพื้นที่ชายแดนใต้ พื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูเป็นหลัก ให้มาร่วมโต๊ะเจรจา

เมื่อแปดปีที่แล้ว รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เริ่มกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการ ทำให้ความหวังว่าสถานการณ์จะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ได้เกิดขึ้นในช่วงระยะสั้น ๆ ช่วงหนึ่งเท่านั้น โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ส่งตัวแทนสองคนมาเข้าร่วม แต่ความตั้งใจของกลุ่มคือ การขัดขวางกระบวนการนั้น ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ

ในเดือนมกราคม 2563 ผู้เจรจาของไทยได้สิ่งที่ตนต้องการมาโดยตลอด นั่นคือ การได้พบกับตัวแทนที่แท้จริงของกลุ่มบีอาร์เอ็น ผู้ที่ได้นำคำสั่งจากสภาองค์กรนำ (Dewan Pimpinan Parti หรือ DPP) ซึ่งเป็นสภาลับของกลุ่มและประกอบด้วยผู้อาวุโสที่ทำหน้าที่ตัดสินใจสูงสุดของกลุ่ม

เมื่อมองอย่างผิวเผินแล้ว ดูเหมือนว่าฝ่ายไทยจะมีความคืบหน้าที่สำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ชายแดนใต้ของไทยไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น

ความตึงเครียดภายในบีอาร์เอ็น

แม้กระทั่งปัจจุบัน คำสั่งที่ผู้เจรจาของกลุ่มบีอาร์เอ็นได้รับจากสภาองค์กรนำ ดูเหมือนจะขาดความชัดเจนและแน่นอน เนื่องจากสภาองค์กรนำซึ่งเป็นฝ่ายการทหารของกลุ่ม ยังไม่แน่ใจว่าจะแยกตัวออกจากกลุ่มหรือไม่

สภาองค์กรนำยังข้องใจถึงเหตุผลและประโยชน์ของการเข้าร่วมโต๊ะเจรจา หลังจากที่รู้ข่าวล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นว่า การพูดคุยเบื้องต้นเพื่อสันติสุขได้เริ่มต้นขึ้นในปลายปี 2562

เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกของมาเลเซียและฝ่ายกองกำลังของ BRN ไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับการประชุม ที่องค์กรพัฒนาเอกชนในยุโรปได้จัดขึ้น

การพูดคุยดังกล่าว เริ่มด้วยการพบปะกันอย่างลับ ๆ หลายครั้งของทั้งสองฝ่ายในประเทศอินโดนีเซีย และเยอรมนี ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2562 มาเลเซีย ซึ่งเป็นตัวกลางการพูดคุย และฝ่ายการกองกำลังของกลุ่มบีอาร์เอ็น ต่างก็ไม่ทราบเกี่ยวกับการพบกันอย่างลับ ๆ นี้ ซึ่งมีองค์กรนอกภาครัฐของยุโรปองค์กรหนึ่งเป็นตัวกลางในการพูดคุย

เบนาร์นิวส์ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการพบปะกัน ในกรุงเบอร์ลิน เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2562 มาเลเซียรู้สึกไม่พอใจ และสภาองค์กรนำของกลุ่มบีอาร์เอ็นก็รู้สึกเช่นเดียวกัน จนถึงขั้นที่คิดจะแยกตัวออกจากกลุ่ม

เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับมาเลเซีย คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทยและผู้เจรจาของกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้มาพบกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 เพื่อเริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นระลอกใหม่

แต่เหล่ากองกำลังภาคสนามต่างเริ่มรู้สึกไม่พอใจ เมื่อสภาองค์กรนำบอกตนว่า การพบกันอย่างลับ ๆ กับฝ่ายไทยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของแผนด้านการทูตของกลุ่ม

ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายกองกำลังรบรุ่นใหม่ ถูกบอกมาว่า “การปลดแอก” ปาตานี เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ

นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงในชายแดนใต้แล้วกว่า 7,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู บางคนเสียชีวิตจากการยิงต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาล บางคนถูกฆ่าโดยผู้ก่อความไม่สงบ เพราะถูกสงสัยว่าทำหน้าที่สอดแนมให้แก่หน่วยงานความมั่นคงของไทย

ผู้บริสุทธิ์หลายคนถูกลูกหลงจากความรุนแรงนั้น บางคนถูกหมายหัวอย่างตั้งใจ เนื่องจากฝ่ายหนึ่งพยายามทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง บรรดากลุ่มนักเคลื่อนไหวในพื้นที่นั้น เช่น เดอะปาตานี และสหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PerMAS) ได้พยายามนำวิธีที่สุภาพขึ้น เข้ามาใช้กับความขัดแย้งนั้น โดยส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามบรรทัดฐานสากล และกฎการปะทะ 

ในเหล่านักเคลื่อนไหว มีการพูดถึงการแตกหักของกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะเกรงว่าความขัดแย้งจะก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อพลเรือนมากยิ่งขึ้น

วิธี ที่ไม่ใช้การสู้รบ

เมื่อเดือนมกราคม 2563 กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ลงนามในข้อผูกพันเพื่อการคุ้มครองเด็กจากผลกระทบของความขัดกันด้วยอาวุธ กับเจนีวาคอล ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศ ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้ปฏิบัติตามกฎการทำสงคราม

สามเดือนต่อมา กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลทำงานได้อย่างอิสระ เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนใต้ 

การหยุดยิงดังกล่าว ได้รับคำชมเชยอย่างเงียบ ๆ จากหลายภาคีและประชาคมนานาชาติ และทำให้สภาองค์กรผู้นำของกลุ่มบีอาร์เอ็นคิดทบทวนอีกครั้งเกี่ยวกับแนวทางในการต่อสู้ด้วยอาวุธของกลุ่ม ในเดือนพฤศจิกายน 2563 สภาฯ ได้แสดงความสนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ“ วิธีที่ไม่ใช้การสู้รบ” เพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายไทยจะตอบสนองอย่างไรต่อความเคลื่อนไหวนี้ ในหลายหน่วยงานของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจสูงสุดในกองทัพไทย ไม่ต้องการให้กลุ่มบีอาร์เอ็นได้รับความชอบธรรม และการยอมรับใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะจากต่างประเทศหรือภายในประเทศก็ตาม  

สำหรับกระบวนการเพื่อสันติสุขนั้น หนทางข้างหน้ายังไม่ชัดเจนเลย

ไทยกังวลว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นจะไม่จริงจัง และกำลังใช้เวทีการเจรจาเพื่อสันติสุข เพื่อซื้อเวลา และสร้างการยอมรับจากนานาชาติ

ฝ่ายกองกำลังของกลุ่มบีอาร์เอ็นกล่าวว่า ตนก็ใช้เหตุผลเดียวกันนั้นได้ ผู้เจรจาฝ่ายไทยมีหน้าที่ต้องเจรจา แต่ไม่จำเป็นต้องยินยอมตกลงใด ๆ ไม่ว่าจะในรัฐบาลใดก็ตาม การพูดคุยกับกลุ่มกบฏไม่เคยไปไกลเกินกว่าขั้นการสร้างความไว้วางใจเลย

ความท้าทายสำหรับผู้เจรจาฝ่ายไทยคือ จะทำอย่างไรให้การพูดคุยดำเนินต่อไปได้ เพื่อให้ไปได้ไกลกว่าเพียง “การพูดคุยพื้น ๆ” โดยไม่สร้างความไม่พอใจแก่ผู้นำทางการเมืองและการทหาร ผู้ที่ไม่อยากจะพูดคุยกับฝ่ายกบฏตั้งแต่แรก

สำหรับผู้อาวุโสของกลุ่มบีอาร์เอ็นและผู้เจรจากลุ่มย่อย การให้เหตุผลว่าสมควรกลับสู่โต๊ะเจรจา หรือพูดอีกอย่างคือ การโน้มน้าวให้สภาองค์กรนำเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเจรจา ก็นับวันจะยากขึ้นทุกที

แต่ตราบเท่าที่สภาองค์กรนำของกลุ่มยังสนใจที่จะพิจารณาใช้ “วิธีที่ไม่ใช้การสู้รบ” เพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม ก็ยังมีหวังว่า กระบวนการเพื่อสันติสุขนี้จะสามารถดำเนินต่อไปได้ในลักษณะและรูปแบบที่เป็นอยู่ในตอนนี้

ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง