โครงการ‘พาคนกลับบ้าน’เป็นประชาสัมพันธ์หรือเครื่องมือที่ได้ผลในการปราบการก่อความไม่สงบกันแน่?

บทความโดย ดอน ปาทาน
2017.03.02
ยะลา
TH-insurgent-1000 sdfdkj
เบนาร์นิวส์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.ท. ปิยวัฒน์ นาควานิช ผู้รับผิดชอบงานปราบปรามการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปรับตัวผู้ก่อความไม่สงบคนหนึ่งที่หลังจากหลบซ่อนตัวมาเป็นเวลาแปดปี ได้ตัดสินใจเข้ามอบตัวเพื่อขอลดโทษ

นายอาหะมะ ดือเระ ผู้ต้องสงสัยที่มีหมายจับอย่างน้อยสี่หมายผู้นี้ ดูท่าทางสงบนิ่ง เมื่อพบกับ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช บรรดาผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้สื่อข่าวต่างก็ปฏิบัติต่อนายอะหะมะอย่างมีเมตตา และมีใบหน้ายิ้มแย้ม ขณะที่เดินคู่กันไปเพื่อไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ที่จอดรออยู่

อาหะมะไม่ได้ถูกใส่กุญแจมือ ดูเผิน ๆ เหมือนกับว่าเขาเป็นผู้สื่อข่าวคนหนึ่งที่เดินทางออกภาคสนามไปกับ พล.ท.ปิยวัฒน์ แม่ทัพภาคที่ 4 แห่งกองทัพบกไทย

กลุ่มเป้าหมายสองกลุ่มที่ต้องการสื่อภาพนี้ให้เห็นคือ ผู้ก่อความไม่สงบที่กำลังไตร่ตรองว่าควรจะวางอาวุธและเข้ามอบตัวดีหรือไม่ และแน่นอนว่าอีกกลุ่มหนึ่งคือ พ่อแม่ของคนเหล่านั้นที่ซึ่งทางการได้สนับสนุนให้หว่านล้อมให้ลูกชายของตนเข้ามอบตัว ผ่านทาง “โครงการพาคนกลับบ้าน”

คตินิยมการแบ่งแยกดินแดนได้ฝังรากลึกอยู่ในความคิดของราษฎรเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ดังนั้น ชายมุสลิมเชื้อสายมลายูเกือบจะทุกคนจึงถูกมองว่าเป็นผู้ต้องสงสัยหรือผู้ให้การสนับสนุนในสายตาของทางการ

บ่อยครั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่พบเห็นการฝังระเบิดตามข้างถนนที่มีเป้าหมายที่ทหารและตำรวจลาดตระเวน นี่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและผู้ก่อความไม่สงบ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยกล่าวว่า โครงการพาคนกลับบ้านประสบความสำเร็จอย่างดี แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้ เป็นครั้งคราวที่ทางการทำการจัดฉากสร้างภาพ โดยให้อดีตผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่สวมกอดและจับมือกันต่อหน้าสื่อมวลชนและชาวบ้าน เพื่อแสดงพลังและความเป็นเอกภาพ

แต่ในบรรดาหมู่บ้านที่ห่างไกล ผู้ก่อความไม่สงบยังดำเนินการอย่างเสรีต่อไป เหตุผลหลักเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากราษฎรในพื้นที่ที่สลับกันส่งเสบียงอาหารให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบ และบางครั้งก็ให้ที่พักอาศัย หากหน่วยของคนเหล่านั้นถูกย้ายมาจากอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

การข่าวที่ดีขึ้นของรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้บรรดาสมาชิกของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องย้ายที่ตั้งใหม่ หรืออาจต้องย้ายไปอีกจังหวัดเลยทีเดียว บางครั้งนี่หมายถึงการต้องย้ายไปยังที่ที่ไกลจากครอบครัวและคนใกล้ชิดของพวกเขา การย้ายดังกล่าวนั้นนำความยากลำบากมาสู่สมาชิกหลายคน นายอาหะมะกล่าว

การตัดสินใจยุติการใช้ชีวิตในฐานะผู้ก่อความไม่สงบ และกลับไปใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองคนหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเสี่ยงกับทางการไทย การตัดสินใจเช่นนั้นไม่ถือว่าเป็นการหนี ตราบเท่าที่ผู้นำกลุ่มและคนที่ต้องการออกจากกลุ่ม ตกลงกันโดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เปิดเผยตัวตนของสมาชิกคนอื่นที่ยังอยู่ในกลุ่ม

การผิดคำสัญญานี้อาจทำให้ต้องถึงแก่ชีวิตเพราะถูกแก้แค้น

สำหรับฝ่ายรัฐบาลไทย สิ่งท้าทายก็คือ การรักษาสมดุลระหว่างการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเข้ามอบตัวของนายอาหะมะ และการพยายามรีดข้อมูลจากเขา สำหรับผู้ก่อความไม่สงบที่เข้ามอบตัว เป้าหมายคือการไม่ให้ข้อมูลมากเกินไป อย่างน้อยก็ต้องไม่ถึงกับที่จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง

ในทางกลับกัน สมาชิกที่ยังอยู่ในกลุ่มก็ไม่สนใจข่าวประชาสัมพันธ์เบื้องหลังโครงการพาคนกลับบ้านนี้ โดยกล่าวว่าพวกเขารู้ดีว่ารัฐบาลไทยกำลังสร้างภาพ

สิ่งที่สำคัญต่อพวกเขาคือ พวกเขายังคงได้รับความสนใจและความไว้วางใจจากราษฎรชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ ผู้ซึ่งความคับข้องใจและความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลไทยเป็นเหตุผล ทำให้ราษฎรเหล่านั้นดิ้นรนพยายามต่อไปที่จะแบ่งแยกดินแดน

ภาพความขัดแย้งในพื้นที่นี้จะเป็นอย่างไรในอนาคต ขึ้นอยู่กับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น)  ผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มสำคัญที่ควบคุมผู้ก่อความไม่สงบเกือบทุกคนในพื้นที่นั้น

สำหรับในตอนนี้ ผู้ก่อความไม่สงบกล่าวว่า ตนไม่คิดว่าทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลหรือองค์กรสังคมพลเรือนภายในพื้นที่ ซึ่งทำงานให้แก่หน่วยรักษาความปลอดภัย เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ก่อความไม่สงบเข้ามอบตัว เป็นเป้าหมายหรือภัยคุกคามต่อความเคลื่อนไหวของตน

ราษฎรในพื้นที่นี้รู้สึกว่าทุกคนเป็นเป้าของใครบางคน ความรู้สึกเช่นนี้แพร่หลายจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในมุมมองของพ่อแม่ของผู้ก่อความไม่สงบแล้ว นี่เป็นโอกาสที่จะถอนชื่อลูกชายของตนออกจากรายชื่อดังกล่าว ซึ่งหมายถึงอาจนำไปสู่ความตาย นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา ความรุนแรงที่เกิดจากการก่อความไม่สงบได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 7,000 คน คนส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายมลายู

ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นยังกล่าวว่า พวกเขาไม่ห่วงเรื่องสมาชิกที่ต้องการออกจากกลุ่ม เพราะความเคลื่อนไหวของกลุ่มไม่จำเป็นต้องใช้กำลังคนจำนวนมากเท่าไหร่ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในการต่อสู้ขั้นนี้ ใน “การสงครามนอกแบบ” ประเภทนี้ สิ่งสำคัญคือ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามารถแสดงให้เห็นว่ากลุ่มยังคงเป็นภัยคุกคามต่อโครงสร้างความมั่นคงของไทย

ผู้สังเกตการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่นี้อย่างใกล้ชิดและราษฎรชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ ไม่เชื่อการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล นี่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า โครงการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร

ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แนวคิดเบื้องหลังโครงการพาคนกลับบ้าน และการเจรจาสันติภาพกับองค์กรมาราปาตานี (MARA Patani) องค์กรร่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มที่มีมานาน และที่ไม่ได้ควบคุมผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่นี้อีกต่อไปแล้ว เป็นกลยุทธ์ระยะยาวที่พึ่งพาความหวังที่ว่า ชาวบ้านในพื้นที่จะเอือมระอากับความรุนแรง และหันหลังให้แก่กลุ่มบีอาร์เอ็นและสมาชิกในกลุ่ม

เช่นเดียวกับโครงการสันติภาพอื่น ๆ กลยุทธ์นี้เป็นเหมือนการเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้มากกว่า ผู้วางแผนนโยบายน้อยคนที่จะสละเวลามองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ และพิจารณาความผิดพลาดในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชนกลุ่มน้อยชาวมลายูในประเทศ และเพราะเหตุใด เกือบครึ่งศตวรรษหลังจากที่พื้นที่นี้อยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงของรัฐ จึงเกิดการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มผู้ติดอาวุธขึ้น จนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายลงอย่างสิ้นเชิง

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง