กลุ่มบีอาร์เอ็นตั้งใจที่จะหยุดใช้ความรุนแรงในหนึ่งอำเภอ ชายแดนใต้
2018.06.05
ยะลา

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ได้ไปเยือนจุดตรวจรักษาความปลอดภัยในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส อำเภอซึ่งอาจได้รับการกำหนดให้เป็นเขต “พื้นที่ปลอดภัย” หรือพื้นที่หยุดยิงเขตหนึ่ง ในแถบที่เต็มไปด้วยการก่อความไม่สงบหรือเรียกว่าสามจังหวัดชายแดนใต้
รายงานกล่าวว่า พล.อ.เฉลิมชัย ไปเยือนพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่กำลังทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่นั้น ในระหว่างการกำหนดใช้พื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่ยังไม่ได้นำไปปฏิบัติจริง แต่ได้มีการตกลงกันไว้โดยคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข อันประกอบด้วยคณะเจรจาฝ่ายรัฐบาล และกลุ่มมาราปาตานี องค์กรร่มที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดนมลายูปัตตานีกลุ่มต่าง ๆ ที่ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลมานานหลายทศวรรษแล้ว
กลุ่มติดอาวุธที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนในชายแดนใต้ของไทยเกิดขึ้น ในปีพ.ศ. 2503 และสลายตัวไปในช่วงปลายปีพ.ศ. 2523 แต่ความขัดแย้งเริ่มขึ้นมาอีกในช่วงกลางปีพ.ศ. 2544 แต่ไม่ได้กระทำการอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 หลังจากที่ผู้ก่อความไม่สงบประมาณยี่สิบคนบุกเข้าไปปล้นอาวุธกว่า 300 ชิ้น จากกองพันพัฒนาที่ 4 ของกองทัพบก ในจังหวัดนราธิวาส
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มีกำลังแข็งแกร่งที่สุดในขณะนี้ คือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ซึ่งควบคุมผู้ก่อความไม่สงบเกือบทั้งหมดในสามจังหวัดชายแดนใต้
บีอาร์เอ็น ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มมาราปาตานี สมาชิกกลุ่มกล่าวว่า การเจรจาทั้งหมดจะต้องได้รับการไกล่เกลี่ยโดยสมาชิกของประชาคมนานาชาติ และเป็นไปตามหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดของนานาชาติ
แต่เพื่อให้เกียรติแก่บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการพูดคุยเพื่อสันติสุขนี้ บีอาร์เอ็นกล่าวว่า ทางกลุ่มจะยอมหยุดยิง ในอำเภอเจาะไอร้อง เป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว ที่กองกำลังปฏิบัติการของกลุ่มได้หยุดกระทำการรุนแรง อันเป็นผลจากคำประกาศนั้น
“เราได้รับการบอกให้หยุดการโจมตีในอำเภอเจาะไอร้อง” แหล่งข่าวคนหนึ่งของบีอาร์เอ็นในพื้นที่นั้นกล่าว
จนถึงขณะนี้ บีอาร์เอ็นยังรักษาคำพูดนั้นไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มจะหยุดการโจมตีในพื้นที่อื่นของสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วยเกือบ 40 อำเภอ
ซึ่งนับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นเกือบ 7,000 คน แล้ว จากสถานการณ์ความไม่สงบและเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
ยังคงมุ่งมั่นในกระบวนการสันติสุข
การเยือนอำเภอเจาะไอร้องของ พล.อ.เฉลิมชัย เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ตามคำกล่าวของนายทหารระดับอาวุโสคนหนึ่งที่สังเกตการณ์ความขัดแย้งและการเจรจาเพื่อสันติสุข การเยือนดังกล่าวเป็นการแสดงให้กลุ่มมาราปาตานีเห็นว่า ไทยยังมุ่งมั่นต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขต่อไป แม้บีอาร์เอ็นจะไม่ให้การสนับสนุนและเข้าร่วมอย่างเป็นทางการก็ตาม
รัฐบาลไทยเข้าใจดีว่า กลุ่มมาราปาตานีไม่พอใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีไทย ด่วนประกาศออกมาว่า อำเภอเจาะไอร้องได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
ตอนนั้น กลุ่มมาราปาตานีหวังให้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่ทางกลุ่มถือว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญยิ่งของการเจรจา
หากไม่เป็นที่แน่ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จงใจละเมิดวิธีปฏิบัติ หรือทำโดยไม่ทันได้คิดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากไม่จำเป็นแล้วล่ะก็ รัฐบาลไทยไม่ต้องการที่จะให้การรับรองหรือความชอบธรรมในลักษณะใดก็ตามแก่กลุ่มมาราปาตานี หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่นใดก็ตามในภาคใต้ที่ราษฎรส่วนใหญ่พูดภาษามลายู ความเป็นจริงที่ว่า รัฐบาลได้ส่งคณะเจรจาไปพบกับกลุ่มนี้เป็นความชอบธรรมเพียงอย่างเดียวที่กลุ่มนี้จะได้รับ
สำหรับบีอาร์เอ็นแล้ว ไม่ว่าจะมีพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ก็ตาม การก่อความไม่สงบก็จะดำเนินต่อไป หนึ่งวันก่อนการเริ่มถือศีลอดหรือรอมฎอนของชาวมุสลิม ผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนได้โจมตีกองรักษาด่านสี่แห่ง และสถานีตำรวจหนึ่งแห่ง ในอำเภอกรงปีนัง และอำเภอยะหา จังหวัดยะลา
ไม่ถึงสัปดาห์ต่อมา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม กำลังต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ซุ่มวางระเบิดที่ตู้เอทีเอ็มทั่วพื้นที่ดังกล่าว จำนวนกว่า 20 ตู้ ระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดขนาดเล็ก และไม่มีการใช้กระสุนดาวกระจาย และไม่แรงพอที่จะระเบิดฝาเหล็กของตู้ออกมาได้ ดูเหมือนว่าจุดมุ่งหมายไม่ได้อยู่ที่เงินสด หรือต้องการให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตแต่อย่างใด
เหตุระเบิดทั้งหมดเกิดขึ้นที่บริเวณใจกลางอำเภอ และส่วนใหญ่แล้วห่างจากจุดตรวจรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น การระเบิดทั้งหมดดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกันคือ ประมาณครึ่งชั่วโมงหลังพระอาทิตย์ตก เมื่อชาวมุสลิมเริ่มทานอาหารได้ และไม่ค่อยมีผู้คนบนถนนหนทาง
ผู้สังเกตการณ์หลายท่านด่วนสรุปว่า การโจมตีดังกล่าวเป็นการตอบสนองข้อพิพาท ระหว่างครูและผู้ปกครองชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี (ประถมศึกษา) เรื่องการห้ามนักเรียนชาวมุสลิมใส่ผ้าฮิญาบหรือผ้าคลุมผม มาโรงเรียน
แต่แหล่งข่าวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวเป็นการเตือนรัฐบาลไทยว่า กลุ่มยังไม่ลืมเหตุการณ์สังหารหมู่ที่อำเภอตากใบ เมื่อปีพ.ศ. 2547 เมื่อผู้ประท้วงชาวมุสลิมมลายูที่ไร้อาวุธจำนวน 78 คน เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ หลังจากถูกอัดเบียดเสียดกันอยู่ที่ด้านหลังของรถบรรทุกทหาร 7 คนถูกยิงเสียชีวิต ณ จุดที่มีการประท้วง
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมของปีนั้น และยังเป็นช่วงรอมฎอนด้วย ซึ่งเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม เหตุดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน และเกิดกำลังต่อสู้แบ่งแยกดินแดนรุ่นใหม่ขึ้นมา และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
ซัมซามินจะเป็นอย่างไรต่อไป
ขณะเดียวกัน ในมาเลเซีย ไทย และที่อื่น บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขนี้ ก็กำลังรอคอยอย่างกระวนกระวาย เพื่อดูความเคลื่อนไหวต่อไปของมาเลเซีย
หลายคนเชื่อว่า หลังการเปลี่ยนรัฐบาลในมาเลเซียเมื่อเดือนที่แล้ว จะมีการเปลี่ยนตัวนายอาหมัด ซัมซามิน บิน ฮาชิม ผู้อำนวยความสะดวกของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน นายซัมซามินถูกมองว่ามีความใกล้ชิดเกินไปกับนายนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย
แหล่งข่าวของบีอาร์เอ็นกล่าวว่า ไม่สำคัญว่านายซัมซามินจะอยู่หรือไป เพราะกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขนี้ อยู่บนพื้นฐานที่ง่อนแง่นอยู่แล้ว นอกจากการที่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดจะไม่ได้เข้าร่วมในการพูดคุยแล้ว รัฐบาลไทยก็ไม่เคยสนใจที่จะจัดการกับต้นเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้ง
แหล่งข่าวของบีอาร์เอ็นกล่าวว่า ผู้นำกลุ่มไม่คิดที่จะเจรจากับรัฐบาลไทย จนกว่าผู้เจรจาและฝ่ายการเมืองของกลุ่มเองจะได้รับการอบรมและเตรียมตัวจนพร้อมแล้วเท่านั้น
บางคนในหมู่ผู้กำหนดนโยบายของไทยเชื่อว่า ควรพิจารณาให้ “นานาชาติมีส่วนร่วม” ในกระบวนการพูดคุยดังกล่าว หากนี่จะทำให้บีอาร์เอ็นยอมเข้าร่วมการเจรจาด้วย แต่หาก พล.อ.อักษรา เกิดผล ยังคงเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ของรัฐบาลไทย และนายซัมซามินเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยต่อไป เป็นที่แน่นอนว่าบีอาร์เอ็นจะยังคงปฏิเสธต่อไปที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในการพูดคุยเพื่อสันติสุข