ผู้นำคนใหม่ของไทยจะสืบทอดนโยบายอำนาจเก่าของรัฐบาลทหาร

เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ จากเพื่อไทย ทำสัญญาปีศาจกับพรรคที่มีทหารหนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้
บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2023.09.02
ผู้นำคนใหม่ของไทยจะสืบทอดนโยบายอำนาจเก่าของรัฐบาลทหาร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เดินทางถึงสำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย กรุงเทพฯ วันที่ 24 สิงหาคม 2566
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

ตามคาด โฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ประกอบไปด้วยพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ตามมาด้วยพรรคภูมิใจไทย และพรรคการเมืองฝ่ายทหารอีกสองพรรค นั่นคือ พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะฉะนั้นแล้ว นโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ ภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน จะสะท้อนการรับช่วงต่อของนโบายการบริหารงานของรัฐบาลทหารที่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2566

เศรษฐา ต้องตกอยู่ท่ามกลางข้อผูกมัดทางการเมือง

เขาหักหลังผู้สนับสนุนของพรรคตัวเองด้วยการผิดคำสัญญาที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศไว้ว่า จะไม่เชิญพรรคการเมืองที่มีทหารหนุนเข้ามาเป็นแนวร่วมรัฐบาล หลังจากที่ประชาชนปฏิเสธพรรคเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เศรษฐาเชื่อว่าเขาจะสามารถกลับมาชนะใจประชาชนอีกครั้ง หลังจากพรรคเพื่อไทยได้ทำสัญญาปีศาจ เป็นตัวตั้งตัวตีในการการออกนโยบายประชานิยมที่ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบทโดยเฉพาะ

พรรคเพื่อไทยหว่านคำสัญญาไว้มากมาย ซึ่งตามมาด้วยคำถามว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีงบประมาณมากพอที่จะดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ นั่นหมายรวมถึงนโยบายดิจิทอล วอลเล็ตรายเดือน การพักหนี้ให้เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี และการลงทุนเชิงโครงสร้างภายในต่าง ๆ ให้กับท้องถิ่นได้จริงหรือไม่

และในเวลาเดียวกัน อดีตนักธุรกิจผู้คร่ำหวอดในวงการอสังหาริมทรัพย์ผู้นี้ ก็ต้องกลับมาเริ่มต้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่กำลังติดขัดให้ได้เสียก่อน เพราะการเติบโตของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ถูกปรับลดโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings เป็น 2.8% จาก 3% ในปี 2566 และการส่งออกของประเทศก็ตกลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สิบแล้ว

การรักษาภาพรวมของเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศ มีความสำคัญกับพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก เศรษฐาจึงวางแผนนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะที่พรรคเพื่อไทยจะครองตำแหน่งกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม

แม้ว่า เพื่อไทยจะครองกระทรวงกลาโหมและการต่างประเทศ แต่สุทิน คลังแสง ปานปรีย์ พหิทธานุกร หรือจักรพงษ์ แสงมณี รองนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้เข้ามาทำงานพร้อมกับประสบการณ์หรือวาระที่จะผลักดันประเทศให้เดินไปข้างหน้า ดังนั้น รัฐมนตรีผู้ด้อยประสบการณ์เหล่านี้ก็ต้องปล่อยให้ข้าราชการประจำอย่างบรรดาปลัดกระทรวงต่าง ๆ ทำงานไปตามระบบ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเสริมส่งผลประโยชน์ของทหารและสถาบันรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์

2-abuza.jpeg

ประวิตร วงษ์สุวรรณ (กลาง) รองนายกรัฐมนตรีและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาจับหมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่กรุงเทพฯ วันที่ 4 เมษายน 2566 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ด้านความมั่นคงภายใน อำนาจก็คาดว่าจะตกอยู่ในมือของพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยภูมิใจไทยจะคุมกระทรวงมหาดไทย ในขณะที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติ จะเป็นผู้นำกระทรวงยุติธรรม

ถึงแม้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะแถลงลาออกจากสภาไปเรียบร้อยแล้ว และจะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป แต่อิทธิพลที่ทั้งสองมีต่อพรรคและเครือข่ายอุปถัมภ์ของพวกเขาก็ยังเหนียวแน่นอย่างที่หลายคนกลัว และเป็นดังกล่าว ก็คือ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ. ประวิตร จะมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ เศรษฐา จะเข้ารับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ ได้ทำการโยกย้ายบุคลากรทหารประจำปี จำนวน 762 นาย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าพันธมิตรคนสำคัญ และผู้ที่อยู่ในอุปถัมภ์ของตน ได้ถูกจัดสรรไว้ในตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะเจาะเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิเสธ ไม่ให้นายกฯ คนใหม่ที่มาแทนตน มีอิทธิพลใด ๆ เหนือกองทัพ

การที่เศรษฐาจะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ได้ เขาจะต้องระมัดระวังในการกระทบกระทั่งกับฝ่ายทหารหรือผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกันเป็นหลัก ดังนั้น เขาจะต้องใช้ต้นทุนทางการเมืองที่มีเพื่อรักษาคำขอของทักษิณ ในการขอพระราชทานอภัยลดโทษไว้ให้ได้

นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเขา แทบจะไม่มีอำนาจเข้าไปควบคุม การเลื่อนขั้นและการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีของกองทัพ การสืบสานอำนาจการปกครองของทหาร อีกทั้งรัฐบาลเพื่อไทยจะคงอยู่ เพื่อหาวิธีเพิ่มงบประมาณของกองทัพให้ได้ถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 200 พันล้านบาท)

แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า รัฐบาลนี้จะผลักดันให้ทหารบังคับใช้ข้อเสนอลดตำแหน่งเหล่าทหารอาวุโสที่ล้นเกินความจำเป็นหรือไม่ ประเทศไทยมีนายพลกว่า 1,000 ตำแหน่ง และในปี 2565 รัฐบาลของประยุทธ์ก็อ้างว่า ได้ปรับลดอัตราลง 10% ผ่านการเกษียณราชการแล้ว โดยได้กล่าวไว้ว่ามีเป้าหมายในการปรับลดลง 50% ภายในปี 2570

รัฐบาลพลเรือนจะจี้ผู้นำของรัฐบาลทหารมากเกินไปหรือไม่ ดูเหมือนว่าเศรษฐา และสุทิน ผู้ที่คาดว่าจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม น่าจะผลักดันให้กองทัพมีขนาดเล็กลงและลดการรับทหารเกณฑ์ประจำปี

นโยบายต่างประเทศ

ในขณะที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลวิพากษ์วิจารณ์ประเทศจีนค่อนข้างมาก รัฐบาลนี้ดูจะอ้าแขนต้อนรับการค้าและการลงทุนจากจีนอย่างเปิดกว้าง หนึ่งในการพบปะทูตต่างประเทศครั้งแรกของเศรษฐา คือ การเข้าพบของเอกอัครราชทูตจีน ซึ่งรัฐบาลของเขาก็กำลังจะเสนอให้ชาวจีนเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการลงทุน

รัฐบาลชุดนี้ไม่มีท่าทีที่จะกดดันกองทัพไทยให้ยุติการฝึกทหารที่มีมานานและขยายวงกว้างขึ้นกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน และเช่นกันที่รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่มีท่าทีจะกดดันให้กองทัพยุติการซื้ออาวุธจากประเทศจีน หรือ ก็คือข้อตกลงการซื้อเรือดำน้ำในปัจจุบัน

3-abuza.jpeg

ชาวเมียนมาที่อาศัยในประเทศไทยถือรูปถ่ายของ นางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาที่ถูกโค่นอำนาจ ขณะประท้วงหน้าสถานทูตเมียนมา ในกรุงเทพฯ วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

สำหรับนโยบายกับประเทศอื่น โดยทั่วไป เศรษฐา มีแนวโน้มที่จะคงนโยบายกับเมียนมาไว้ เขาไม่มีท่าทีที่จะเผชิญกับทหารหรือฝ่ายความมั่นคง ซึ่งยิ่งทำให้ไทยกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่หลบหนีมาจากประเทศตนและผู้ลี้ภัยจากเมียนมา หรือเขาก็ไม่มีท่าทีที่จะยุติการบังคับส่งตัวนักต่อสู้ที่ต้องการการดูแลทางการแพทย์กลับประเทศ

จึงดูเหมือนประเทศไทยจะยังคงเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย สำหรับนักเคลื่อนไหวชาวลาว เขมร และเวียดนามที่ยังคงถูกลักพาตัว ถูกบังคับส่งกลับ หรือถูกสังหาร ไม่ว่าจะโดยที่ไทยทำไม่รู้ไม่ชี้เสีย หรือไม่ก็ช่วยจัดการเสียเองก็ตาม

ข้อมูลจากรัฐบาลเมียนมาเผยว่า คาดว่าเศรษฐาจะเดินหน้าสนับสนุนกลุ่มทุนของประเทศไทยที่มีการขยายการลงทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา ตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ในขณะที่ พิธา มองหาโอกาสในการกระตุ้นเชิงหลักการและความรุดหน้าของอาเซียนมากกว่า ประเทศไทย ภายใต้การนำของเศรษฐา จะปล่อยให้อาเซียนใช้กฎการไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการของประเทศสมาชิกต่อไป ซึ่งอาเซียน ภายใต้การนำของประเทศลาวในปี 2567 คาดว่า กลุ่มอาเซียนจะไม่มีการเผชิญหน้าตอบโต้ใด ๆ กับรัฐบาลทหารพม่า และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เศรษฐาจะสานต่อการเจรจาเพื่อหารือประเด็นพม่า หรือ Track 1.5 ที่ริเริ่มโดย ดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหลายคนมองว่า น่าจะเป็นจุดจบของกลุ่มอาเซียน

4-abuza.jpeg

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงฉีดพ่นน้ำเพื่อดับไฟ หลังเกิดเหตุระเบิดใหญ่ ที่โกดังเก็บพลุ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 29 กรกฎาคม 2566 (คริยา เตห์ตานี/เอพี)

ชายแดนใต้

ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบมายาวนานนั้น ทันทีที่รับตำแหน่งนายกฯ เศรษฐาต้องเผชิญกับเหตุกลุ่มก่อความไม่สงบซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัคร เสียชีวิต 4 นาย และบาดเจ็บอีก 4 นาย เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขาน่าจะต้องขอให้กองทัพเป็นผู้จัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

กระบวนการเจรจาเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น จะคงดำเนินต่อไป แต่คาดว่ารัฐบาลเศรษฐาคงไม่เสนอให้เงื่อนไขที่สำคัญใด ๆ หรือไม่ไปไกลเกินกว่าสิ่งที่กองทัพภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ได้พูดคุยไว้ ซึ่งก็นับว่าน้อยมาก

ด้าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เขาก็จะมีพันธมิตรอยู่ในสภาต่อไป ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นชาวมุสลิมที่มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่วันนอร์ก็เป็นปรปักษ์มาเป็นเวลานานกับขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้

นโยบายเหล่านั้นตรงกันข้ามอย่างเห็นได้ชัดกับจุดยืนของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการค้นหาวิธีที่จะแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น และหาทางพูดคุยถึงข้อคับข้องใจของชุมชนชาติพันธุ์ชาวมลายู  รวมถึง การปฏิบัติที่ขาดความรับผิดชอบของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงไทย

กล่าวโดยสรุป ผลเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการอย่างล้นหลามของประชาชนที่ต้องการจะปฏิรูปสถาบันอนุรักษ์นิยมทั้งสอง ที่ขัดขวางการปฏิรูปที่จะนำมาซึ่งความก้าวหน้า

และรัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ก็จะเดินหน้าปกป้องอภิสิทธิ์อำนาจของกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่นโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงต่าง ๆ ของไทยในอนาคต

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของเขาเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง