บีอาร์เอ็นทำลายความหวังเข้าพรรษาสันติ

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2022.08.22
กรุงเทพฯ
บีอาร์เอ็นทำลายความหวังเข้าพรรษาสันติ เจ้าหน้าที่ตรวจพื้นที่ปั๊มน้ำมันบางจากหลังโดนวางระเบิด ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี วันที่ 17 สิงหาคม 2565
สุเมธ ปานเพชร/เอพี

เมื่อไม่นานมานี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยได้แถลงข่าวอย่างมีความหวังในการที่จะขยายผลสำเร็จของการสร้างสันติสุขในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา โดยทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยกับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นที่เป็นกลุ่มเชื้อมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม ได้งดเหตุรุนแรงในช่วงเดือนศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในการหยุดยิง 40 วัน ซึ่งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกันในการเจรจาในมาเลเซีย เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ เป็นไปโดยราบรื่นจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งครอบคลุมวันวิสาบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาของชาวพุทธเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความปรารถนาดีต่อกลุ่มพุทธศาสนิกชนซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ

บางคนเห็นว่า สิ่งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของการปฏิบัติการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งผ่านการพยายามสร้างสันติภาพมาครั้งแล้วครั้งเล่าในห้วงเวลาเกือบ 20 ปี ที่มีการปะทุของความไม่สงบอีกครั้ง ซึ่งสัญลักษณ์แห่งความปรารถนาดีนี้ ถือว่าไปไกลเกินกว่าเพียงแค่มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันบนโต๊ะเจรจา

แต่ความหวังของเจ้าหน้าที่ไทยอยู่ได้เพียงสั้น ๆ

ในความเป็นจริง กลับเกิดเหตุการณ์รุนแรงหนักหน่วงในเวลาเพียงสองสัปดาห์หลังจากที่สิ้นสุดรอมฎอนสันติ เมื่อกลุ่มบีอาร์เอ็นวางระเบิดแสวงเครื่องริมถนน และในเวลาไม่เกินสามนาทีจากนั้น ได้ยิงโจมตีสถานีตำรวจน้ำ ในอำเภอตากใบ ริมปากน้ำบางนรา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับรัฐกลันตันของมาเลเซีย

ในครั้งนี้ ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบต้องการให้ประชาชนบนสองฝั่งแม่น้ำได้ยินเสียงการต่อสู้ เสียงปืนรัวกระหน่ำเป็นเวลานานกว่า 15 นาที ก่อนที่จะสงบลง จากนั้นมีเสียงยิงกันอีกในชั่วโมงถัดมาหลังจากการยิงถล่มกันรอบแรก

เมื่อคืนวันอังคารต่อเนื่องมายังเช้าของวันพุธในสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มก่อความไม่สงบได้วางเพลิงและวางระเบิดต่อเป้าหมายร้านสะดวกซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมัน อย่างน้อย 17 แห่ง ในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ในครั้งนี้ กลุ่มคนร้ายหลีกเลี่ยงความสูญเสียด้วยการบอกให้พนักงานในร้านออกไปเสียก่อน เช่นเดียวกับการโจมตีที่ตากใบเมื่อเดือนพฤษภาคม

ในเหตุการณ์ตากใบนั้น กลุ่มผู้ก่อเหตุเตือนให้เจ้าของร้านรวงต่าง ๆ เข้าที่กำบังก่อนที่จะเปิดฉากยิง แต่อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีพนักงานร้านเซเว่น-อีเลเว่น วัย 21 ปี ในนราธิวาส เสียชีวิตหนึ่งราย เพราะติดอยู่ในร้านขณะที่เกิดเพลิงไหม้หลังจากที่ผู้ก่อเหตุใช้ระเบิดเพลิงโจมตี เป็นส่วนหนึ่งของการก่อเหตุต่อเนื่อง ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่

และเช่นเดียวกับเหตุการณ์ตากใบ ฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธว่าเป็นฝีมือของกลุ่มตนที่ลงมือโจมตีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นองค์กรที่ไม่แสดงตัวตนชัดเจน และมีนโยบายมาเป็นเวลานานมาแล้วว่าจะไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ หรือแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงหรือการปฏิบัติการใด ๆ

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าทางกลุ่มไม่มีการระบุตัวตนในการสื่อสารกับสาธารณชนอย่างเป็นรูปแบบ เช่น ไม่มีการจัดตั้งองค์กรหรือพรรคเป็นกิจลักษณะ ต่างจากกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Irish Republican Army) ในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งมีพรรค Sein Fein เป็นกองหนุนในการต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษ  

บีอาร์เอ็นมีตัวแทนในการเจรจา แต่ทางองค์กรไม่มีการแต่งตั้ง “ปีกการเมือง” ที่สามารถสื่อสารกับสาธารณชนหรือกับนานาประเทศ

220822-th-donColumn-pic2.jpg
อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ (คนกลาง) หัวหน้าทีมเจรจาสันติสุขของบีอาร์เอ็น และสมาชิกในคณะตัวแทนพูดคุยสันติสุข แถลงข่าวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในปุตราจายา ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ หลังเสร็จสิ้นการเจรจากับฝ่ายไทยหนึ่งวัน วันที่ 3 สิงหาคม 2565 (เอส. มาฟุซ/เบนาร์นิวส์)

นักสังเกตการณ์ที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มปฏิบัติการณ์ของบีอาร์เอ็น กล่าวว่า ฝ่ายกองกำลังยังคันไม้คันมือที่จะต่อสู้มาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ติดขัดเพราะการเจรจายุติเหตุรุนแรง

นอกจากนั้น ฝ่ายปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นยังไม่สบอารมณ์ที่ฝ่ายกองทัพบกไทยไม่ให้ความสำคัญต่อการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวของทางบีอาร์เอ็น เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ในครั้งนั้นเป็นการส่งสัญญาณด้านมนุษยธรรม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขสามารถให้การบริการประชาชนที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะติดอยู่ในดงกระสุนของสองฝ่ายในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งตรงกับการร้องขอของ นายอันโตนิโอ กูเตเรซ เลขาธิการองค์กรสหประชาชาติ ในขณะนั้น

นอกจากกองทัพบกจะไม่ให้ความสำคัญกับการส่งสัญญาณจากฝ่ายกบฏแล้ว กลับยังเพิกเฉยต่อการร้องขอจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวให้ยุติการปฏิบัติการทางทหาร แต่ได้ปฏิบัติการปิดล้อมจับกุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างหนักหน่วง โดยอ้างการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก

ในระหว่างการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวของบีอาร์เอ็นจนถึงการเริ่มเดือนรอมฎอนสันติ ในเดือนเมษายนในปีนี้ กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทยสังหารฝ่ายบีอาร์เอ็นไปแล้ว 64 ราย โดนจัดการไปทีละรายสองรายในการปิดล้อม ในพื้นที่ห่างไกลทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้

ฝ่ายกองกำลังขบวนการมุดหลบอยู่ เพราะรับฟังคำสั่งจากหน่วยเหนือให้อยู่นิ่ง ๆ ในห้วงเวลาการประกาศยุติการปฏิบัติการโดยฝ่ายเดียวที่ให้ไว้

ชาวบ้านเชื่อว่ามีสายข่าวให้ข้อมูลของฝ่ายปฏิบัติการของขบวนการเพื่อแลกกับเงินรางวัล จุดที่ฝ่ายทางการไทยเป็นกังวลคือ มีผู้ต้องสงสัยเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ยอมจำนน ที่เหลือกลับเลือกต่อสู้จนตัวตาย แม้ว่าจะมีโอกาสหลบหนีไปได้แทบเป็นศูนย์

นอกจากนั้น กลุ่มแกนนำบีอาร์เอ็นระดับอาวุโสกลับรู้สึกว่าคณะเจรจาฝ่ายตนนั้น “ง่ายไปหน่อย” ต่อฝ่ายไทย โดยระบุว่าฝ่ายไทยจะขอให้ยุติการปฏิบัติการก็ต่อเมื่อเห็นว่ามีผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตนเท่านั้น

ในการพูดคุยของคณะตัวแทนระดับเทคนิค เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ฝ่ายไทยเสี่ยงดวง ขอให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นหยุดยิงอีกครั้ง ในระหว่างการเข้าพรรษาสามเดือน ซึ่งพระสงฆ์จะออกพรรษา ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็นสร้างความแปลกใจให้กับทุกคน ด้วยการบอกกล่าวปีกการทหาร ให้ยินยอมกับฝ่ายไทย และเป็นอีกครั้งที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นยอมให้กับฝ่ายไทยมากเกินจากที่ขอ โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นยอมยืดระยะเวลาออกไปอีก โดยให้สิ้นสุดการหยุดยิงในตอนสิ้นเดือนพฤศจิกายนปีนี้

แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า ฝ่ายไทยต้องลงนามในหลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข (General Principles of the Peace Dialogue Process) ที่จะเป็นแบบพิมพ์เขียวสำหรับการตั้งเงื่อนไขของกระบวนการพูดคุย

ฝ่ายไทยไม่ได้มีปัญหากับเนื้อหา ซึ่งรวมถึงข้อที่ว่าให้สองฝ่ายเจรจาภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งราชอาณาจักรไทยเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกมิได้

ฝ่ายรัฐบาลไทยนั้น ถือว่าการตกลงใด ๆ ไม่ต้องมีการลงนามและถือปฏิบัติอย่างนั้นมาโดยตลอด อาจจะเป็นเพราะเกรงว่าการลงนามในเอกสารใด ๆ เท่ากับเป็นการยกระดับการมีสถานะของขบวนการบีอาร์เอ็น แล้วจะทำให้กลุ่มสายเหยี่ยวในประเทศไม่พอใจ

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของบีอาร์เอ็น กล่าวว่า การลงนามในเอกสาร โดยหัวหน้าคณะพูดคุยเพ่อสันติสุขของฝ่ายไทยนั้น จะช่วยยกระดับการยอมรับและสถานภาพความถูกต้องขององค์กรได้

220822-th-donColumn-pic3.jpg

เด็กหญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือป้ายแสดงการต่อต้านเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในการแสดงพลังของภาคประชาชน วันที่ 15 สิงหาคม 2565  (มะดารี โต๊ะลาลา/เอเอฟพี)

ความไม่เห็นด้วยในหลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ในการเจรจาในแบบตัวต่อตัวในมาเลเซียครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ถึง 2 สิงหาคม 2565 ทุกอย่างมาสะดุดลงที่กระบวนการเจรจา ฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ค่อยสนใจฝ่ายไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยรายหนึ่งกล่าวว่า การพูดคุยครั้งนี้ นับว่าเป็น “การถอยหลัง” ขณะอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า มีการกดปุ่ม “รีเซ็ต” กันใหม่กันเลยทีเดียว

“มันเหมือนกับว่า ฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่อยากเข้าร่วมเจรจาด้วย” เจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งกล่าว ทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับประทานอาหารร่วมกัน และไม่ได้พูดคุยด้วยกันในระหว่างพักทานกาแฟ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตัวแทนของบีอาร์เอ็นรายหนึ่งเห็นว่า การเจรจาครั้งนี้ไม่ได้เป็น “การถอยหลัง” แต่ยอมรับว่าการเจรจาไม่ราบรื่นและจบไม่สวย

บีอาร์เอ็น "ยืนกระต่ายขาเดียว" เขากล่าวกับเบนาร์นิวส์

แหล่งข่าวทั้งสองฝ่ายให้ข้อมูลกับบทความนี้โดยขอสงวนนามเพราะไม่สามารถเปิดเผยบรรยากาศของการพูดคุยอย่างเป็นทางการได้

กลุ่มอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยกล่าวว่า การลงนามในเอกสารใด ๆ กับฝ่ายบีอาร์เอ็น ย่อมทำให้เกิดการยกระดับความขัดแย้งสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สหประชาชาติ หรือชุมชนนานาชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศได้

'ง่ายเกินไป'

ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าจะมีความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้แทนเจรจาของฝ่ายบีอาร์เอ็น สมาชิกระดับอาวุโส และกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่

กลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่เชื่อว่ากลุ่มแกนนำขบวนการควรแสวงหาการยอมรับและสร้างความชอบธรรมด้วยวิธีการอื่น ซึ่งฝ่ายกองกำลังไม่เห็นด้วยกับหลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพราะผูกพันกับรัฐธรรมนูญไทย และมาตราที่ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว ห้ามแบ่งแยก

อย่างไรก็ตาม แกนนำของบีอาร์เอ็นยืนยันว่า เป้าหมายทางการเมืองที่ต้องการ “เอกราชเพื่อประชาชนปาตานี” ซึ่งเป็นค่านิยมอันศักดิ์สิทธิ์นั้น ยังคงอยู่โดยมิเปลี่ยนแปลง 

“ความชอบธรรมและการได้รับการยอมรับ ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นที่เขามี หรือแผนการที่จะทำร่วมกับสมาชิกประชาคมโลก และยังขึ้นอยู่กับการกระทำในพื้นที่” นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะ ปาตานี ซึ่งสนับสนุนสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์กล่าว

บีอาร์เอ็นได้แสดงความปรารถนาที่จะเข้าใจต่อวิถีปฏิบัติของนานาชาติและหลักสิทธิมนุษยชน

ในสายตาของนายอาเต็ฟแล้ว รัฐบาลไทยและนายราฮิม นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยของมาเลเซีย ควรจะยินดียอมรับข้อนี้เพราะมันจะหมายถึงการมีความศิวิไลซ์ขึ้นในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง  

ต่อบรรยากาศการเจรจาที่ไม่สู้ดีในกัวลาลัมเปอร์นั้น นายอาเต็ฟ ให้ทัศนะว่า “บีอาร์เอ็นเว้นระยะห่างจากผู้แทนการพูดคุยของไทยนั้นดีแล้ว”

“ฝ่ายไทยได้อะไรไปง่าย ๆ มาก” นายอาเต็ฟกล่าว และชี้ให้เห็นถึง “การขอมากเกินไป” ในการที่ฝ่ายไทยเสนอการดำเนินการเข้าพรรษาสันติสุข 108 วัน โดยได้เพิกเฉยต่อท่าทีและการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่ที่ “ต้องได้ทั้งหมดหรือไม่ก็ไม่ต้องได้อะไรเลย”

นายอาเต็ฟ กล่าวว่า ฝ่ายไทยก็พากันเพิกเฉยต่อความกระอักกระอ่วนใจของกองกำลังบีอาร์เอ็นในพื้นที่ที่จะต้องปฏิบัติตามความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข เพราะไม่อยากทำให้ผู้แทนการเจรจาของฝ่ายตนเสียหน้า นั่นคือเหตุผลที่กองกำลังบีอาร์เอ็นยอมทำตาม และพักรบตลอดห้วงเวลารอมฎอนที่ผ่านมา

ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของไทย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง