รมช.กลาโหม พร้อมลงโทษ จนท. หากละเมิดต่อนายอับดุลเลาะ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และ มารียัม อัฮหมัด
2019.09.04
กรุงเทพ และ ปัตตานี
190904-TH-abdullah-1000.jpg นางซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ยื่นหนังสือต่อ น.ส.พรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรคอนาคต เพื่อขอให้ยื่นกระทู้ถามสดในสภากรณีการเสียชีวิตของสามี วันที่ 4 กันยายน 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า รัฐบาลจะให้ความยุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิต และจะลงโทษผู้กระทำทั้งทางวินัยและอาญา หากพบว่ามีผู้กระทำผิด

ในวันนี้ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ได้ยื่นกระทู้ต่อรัฐบาลเพื่อให้ความกระจ่างต่อกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ หลังการถูกควบคุมตัวในสถานที่ซักถาม ในค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี และเข้ารับการรักษาพยาบาล 35 วัน ซึ่งนายอับดุลเลาะเสียชีวิตเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมานี้   ทั้งนี้ นางซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ พร้อมญาติของนายอับดุลเลาะ ได้เดินทางมาจากปัตตานี เพื่อยื่นหนังสือถึงพรรคอนาคตใหม่ เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการหาทางตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมี น.ส.พรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน

“รัฐบาลจะดูแลให้ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง หากเจ้าหน้าที่ละเมิด จะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด ทั้งทางอาญาและวินัย” พล.อ.ชัยชาญ กล่าวต่อสภา

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวอีกว่า ต่อกรณีดังกล่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ คือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีการติดตามซักถามเจ้าหน้าที่ทุกคน ส่วนการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาใหม่นั้น ญาติผู้เสียชีวิตสามารถดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายได้

นอกจากนั้น พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมติให้จ่ายเงินเยียวยาครอบครัวนายอับดุลเลาะ จำนวน 5 แสนบาท

ด้าน นายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ กล่าวว่า ทางครอบครัวอีซอมูซอ เรียกร้องให้รัฐบาลสนองตอบต่อคำร้องขอ 3 ข้อ คือ 1. ให้สอบสวนสาเหตุการตายของอับดุลเลาะอย่างเที่ยงธรรม โปร่งใส 2. ขอคำยืนยันจากกระทรวงกลาโหมว่า ญาติจะได้รับข้อมูลเวชระเบียนที่เที่ยงตรง ปราศจากการปรับแก้จากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ที่อับดุลเลาะเข้ารับการรักษา เพื่อเป็นหลักฐานในการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิต โดยเฉพาะโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งเป็นที่แรกที่รับตัวอับดุลเลาะจากค่าย จึงมีข้อมูลสภาพร่างกายของนายอับดุลเลาะหลังถูกควบคุมตัวมากที่สุด และ 3. พิจารณายกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวประชาชนเข้าไปสอบสวนในค่ายทหารได้นานต่อเนื่อง 30 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา และออกกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลสูญหายที่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ เพื่อให้กฎหมายไทยสอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้วในเวทีโลก

ส่วนเรื่องเงินเยียวยาที่ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมติให้จ่ายแก่ครอบครัว เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท นั้น นายโมฮำมัดรอฮมัด กล่าวว่า ยังต้องพิจารณาดูก่อน

“ต้องดูก่อนว่าเงินตัวนี้มีหลักการยังไงบ้าง ถ้าว่าจ่ายแล้วให้เรื่องจบ ทางครอบครัวไม่ขอรับ แต่หากจ่ายเพื่อหลักสิทธิมนุษยชนเพราะว่านายอับดุลเลาะเสียชีวิตในระหว่างการดูแลของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ต้องผิดชอบอยู่แล้ว ส่วนเรื่องคดีก็จะขอปรึกษาทางทนายก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร” นายโมฮำมัดรอฮมัดกล่าว

ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรคอนาคต กล่าวว่า ทางพรรคต้องการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่

“ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการทวงคืนความเป็นธรรมแก่ครอบครัวของนายอับดุลเลาะเท่านั้น แต่เป็นการทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่อีกด้วย” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

ในเรื่องการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษนั้น พล.อ.ชัยชาญ รมช.กลาโหม ชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีการลดระดับการใช้กฎหมายลงจาก พ.ร.ก. เป็น พ.ร.บ.แล้ว 8 อำเภอ และจะเสนอเพิ่มอีก 1 อำเภอ คือ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับให้มีเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ควบคู่กับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของคนในพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง