การสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงกระทบชาวบ้านอย่างรุนแรง
2020.02.19
เชียงราย และหนองคาย

การก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงโดยจีนและลาว นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในบริเวณลุ่มน้ำกว่า 60 ล้านคนอย่างหนักหน่วง เพราะคนเหล่านั้นต้องพึ่งพาอาศัยมหานทีสายนี้ในการหาปลาและทำการเกษตรกรรม
เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ นายสมเดช ธนาตุลยกุล ชาวประมงในบ้านสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองพยายามหาปลา แต่ก็ไม่ได้มาแม้แต่ตัวเดียว
“วันนี้ออกไปครั้งนึง ไม่ได้เลยสักตัว... ไม่ค่อยมีปลา หายาก ประมาณ 5 ปีย้อนหลัง เมื่อก่อน ปีก่อนรู้สึกมันจะได้เยอะกว่า ได้ถี่กว่า ถึงจะเป็นหน้าแล้งแบบนี้ก็ยังได้ เมื่อก่อน วันนึงได้ก็ 4-5 ร้อยบาท บางวันโชคดีก็ได้เป็นพันบาท เดี๋ยวนี้หลาย ๆ วัน ถึงจะได้ ได้พอกินนั่นแหละ” นายสมเดช กล่าวกับผู้สื่อข่าวของเบนาร์นิวส์ที่ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย
นายชาย (ขอสงวนนามสกุล) ชาวประมงในบ้านสบกกอีกรายหนึ่ง ก็ประสบความยากลำบากเช่นกัน
“เดี๋ยวนี้ รู้สึกว่าน้ำไม่ขึ้น บางปีมันโน่น สูงถึงข้างบนนู่น ปีนี้ขึ้นหน่อยเดียว แห้งหนักเนาะ แห้งอย่างกะสงกรานต์ หน้าน้ำขึ้นกลับเห็นดอน ปลาไม่ใช่มันไม่มีหรอก แต่มันหาไม่ได้ มันก็มีผลกระทบอยู่ ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ถ้ามันมีงานทำ เขาจ้างก็ไปหมดแหละ ไม่มีก็ต้องคอยอยู่นี่แหละ บางทีสี่ห้าวัน อยู่นี่เป็นอาทิตย์แล้ว” นายชายกล่าวระบายความทุกข์
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดอันดับ 12 ของโลก มีความยาว 4,350 กิโลเมตร ทอดยาวจากประเทศจีนสู่ประเทศเวียดนาม ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่ และเป็นที่อาศัยของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ที่หล่อเลี้ยงประชาชนกว่า 60 ล้านคน
แต่ปัจจุบัน ประเทศจีนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง 10 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมีกำลังผลิต 19,990 เมกกะวัตต์ ส่วน สปป.ลาว สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 2 แห่ง รวมกำลังผลิต 1,545 เมกกะวัตต์
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงหลายคนเชื่อว่า ปัญหาเรื่องระดับน้ำมีสาเหตุมาจากการปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน ในประเทศจีน รวมทั้งเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาวด้วย ทั้งยังมีเรื่องสภาพอากาศที่แล้งผิดปกติในปีนี้ และสำหรับชาวบ้านแล้ว สิ่งที่ตามมาจากความแห้งแล้งผิดปกติในแม่น้ำโขงคือ ความเสียหายต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา
พระอภิชาติ รติโก เจ้าอาวาสวัดสบกก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ได้สังเกตเห็นความผิดปกติของระดับน้ำในแม่น้ำโขงมาตลอดหลายสิบปี เชื่อว่าความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากเขื่อนที่สร้างอยู่ตอนบนของแม่น้ำโขง
“ตั้งแต่ปี 48 สมัยก่อนนี้ ระดับน้ำ ถ้าหน้าแล้งก็คือค่อย ๆ ลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดจุดนึง ระยะนึงมันจะค่อย ๆ ขึ้น แต่ระยะเวลา 4-5 ปีมานี้ ถ้าจะขึ้นก็ขึ้นรวดเร็ว 3 วันก็ขึ้น 3 วันก็ลง คือ ลักษณะเหมือนการเปิดแล้วก็ปิดน้ำ... ปี 51 น้ำท่วมหมู่บ้าน อพยพทั้งหมู่บ้าน ปีนั้นไม่มีการแจ้งเตือน ไม่รู้ด้วยว่าน้ำมาจากการระบาย หรือว่าจากพายุ หรือจากอะไร... ตั้งแต่นั้นมาก็เลยสังเกตว่า ขึ้น 3 วัน ลง 3 วัน ลักษณะเหมือนการเปิดแล้วก็ปิดน้ำ” พระอภิชาติกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
การเจรจากับประเทศหรือกลุ่มทุนสร้างเขื่อน
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์น้ำโขง ด้วยการวัดระดับน้ำโดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ พบว่า ตั้งแต่สถานี อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สถานีเหนือสุดของประเทศไทย ไปจนถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี สถานีสุดท้ายก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าดินแดนประเทศลาวนั้น มีระดับผิวน้ำต่ำกว่าปกติทุกสถานี ทั้งนี้ ความสูงของตลิ่งอยู่ที่ประมาณ 10 เมตร
นายเตียม เงินท๊อก ผู้สำรวจอุทกวิทยา สถานีอุทกวิทยาหมู่บ้านสบกก ในเชียงแสน กล่าวว่า ปีนี้น้ำแล้งเร็วกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วัดระดับน้ำได้เพียงประมาณ 1.40 เมตร
“ปีนี้รู้สึกว่าน้ำแห้งผิดปกติ มันเริ่มเป็นมาหลายปี แต่ว่าที่ว่าแห้งผิดปกติ ก็คือปีนี้ ขนาดเดือนกุมภายังแห้งขนาดนี้ แล้วเดือนมีนา-เมษา มันก็จะแห้งต่อไปอีก เมื่อก่อนมันต่ำ เมตรกว่า แต่มันหลังเมษานะ แต่ตอนนี้มันยังไม่ถึงเมษา แต่มันต่ำระดับนี้ หลังเมษามันต้องต่ำลงไปอีก” นายเตียมกล่าว
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่าในบางครั้งในฤดูที่ควรจะมีน้ำ กลับแล้ง และยามที่ปกติควรแห้งแล้ง กลับมีน้ำ นี่แสดงให้เห็นถึงการที่ระดับน้ำถูกควบคุมโดยเขื่อน/โรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำ
เมื่อห้วงปีที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศ ได้พูดคุยกับนายหวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน เพื่อขอให้จีนช่วยปล่อยน้ำกับประเทศปลายน้ำ และเมื่อตอนต้นเดือนมกราคมนี้ จีนได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงเพิ่มขึ้น 150 ลบ.ม./วินาที ซึ่งคนในพื้นที่ไม่สามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมได้
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยควรพยายามที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศจีนและลาว โดยยกระดับการเจรจาให้จริงจังขึ้น
“รัฐต้องมีการยกระดับในการพูดคุยกับรัฐบาลหรือกลุ่มทุนที่เขาทำเรื่องเขื่อน ว่าเราจะต้องเปิดอย่างไร โดยมีข้อมูลจากอดีตว่าระดับน้ำในอดีตมันเป็นอย่างไร ที่มันไม่มีปัญหามันเป็นยังไง เดี๋ยวนี้มันมีปัญหาอย่างเนี่ย เราจะทำต้องอย่างไรให้มันเกิดความสมดุลให้ได้... แต่ว่ารัฐไม่กระตือรือร้นในเรื่องนี้” นายนิวัฒน์กล่าวเพิ่มเติม
นายนิวัฒน์ หรือครูตี๋ ยังกล่าวอีกว่า การก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งในประเทศจีนและลาว ส่งผลให้น้ำขึ้นลงผิดปกติ ผิดฤดูกาล ซึ่งกระทบต่อการวางไข่ของปลา ทั้งยังทำให้ตะกอนในแม่น้ำโขงลดลงจนเกิดภาวะที่แม่น้ำโขงเป็นสีคราม หรือภาวะไร้ตะกอน ซึ่งเสี่ยงจะทำให้สิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงลดปริมาณลง
ด้านนายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ปฏิบัติการภาคสนาม กลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้กล่าวเสริมว่า ปัญหาของแม่น้ำโขงมีอยู่ 4 ประการคือ เรื่องของการสร้างเขื่อน เรื่องของการระเบิดแก่ง การใช้สารเคมีในพื้นที่เกษตร และการบุกรุกพื้นที่ Wet Land เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลาเข้าไปอาศัยวางไข่นอกจากนั้น ระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดฤดูที่เกิดจากเขื่อนยังส่งผลกระทบต่อการวางไข่ของปลาพื้นที่ชุ่มน้ำ เพราะเมื่อพอปลาจะวางไข่ น้ำกลับแห้ง
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตกับเขื่อนไซยะบุรี จนกว่าจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนได้ เช่น เรื่องระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดธรรมชาติ และปรากฎการณ์แม่น้ำโขงกลายเป็นสีคราม ซึ่งหมายถึงแม่น้ำขาดตะกอน แร่ธาตุสารอาหารที่จำเป็นต่อสัตว์น้ำและเกษตรกรรม
“ปัญหาในเรื่องของแม่น้ำโขง ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาร่วม เพราะแม่น้ำโขงไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่จีน ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม หรือไทย มันเป็นสมบัติสาธารณะของคนทั้งโลก มันเป็นสมบัติของลูกหลานวันข้างหน้า” นายจีระศักดิ์กล่าว