กลุ่มผู้เห็นต่างจากไทย ขอเข้าพบผู้นำองค์การอิสลามโลก ในประเทศมาเลเซีย

ซุฮานา ออสมาน
2016.01.08
TH-OIC-620 นายอิยาด อามิน มาดานี เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) พูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) ในกรุงมอสโก วันที่ 11 มิถุนายน 2558
เอเอฟพี

ปรับปรุงข้อมูล 2016-01-11 2:58 p.m. ET

มารา ปาตานี องค์กรร่ม ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่าง 6 กลุ่มจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย ที่มีความพยายามจะเริ่มต้นการพูดคุยสันติภาพกับทีมพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย จะเข้าพบเลขาธิการขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ สุดสัปดาห์นี้ หนึ่งในสมาชิกจากกลุ่มผู้เห็นต่าง กล่าวกับเบนาร์นิวส์

กลุ่มมารา ปาตานี ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของโอไอซีวันนี้ (ศุกร์ที่ 8 มกราคม 2559) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อที่จะประสานการเข้าพบอย่างเป็นทางการกับเลขาธิการขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ในวันต่อไป อาบูฮาฟิซ อัลฮาคิม สมาชิกมารา ปาตานี กล่าว

"เราได้พบกับเจ้าหน้าที่ของโอไอซี ที่นี่ วันนี้" อาบูฮาฟิส กล่าว

"การพบกันครั้งแรกของเรากับเจ้าหน้าที่โอไอซีวันนี้ ถือว่าดีมาก มากกว่าที่เราคาดหวัง" เขากล่าวเสริม โดยไม่ขยายรายละเอียด

นายอิยาด อามีน มาดานี ตามกำหนดการจะเดินทางถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันศุกร์ สำหรับการเยือนประเทศมาเลเซียเป็นเวลาสามวัน ซึ่งตามกำหนดการเขาจะพบกับ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ตามข่าวจากสำนักข่าวเบอร์นามา ของมาเลเซีย

และในวันอาทิตย์ (10 ม.ค. 2559) นายอิยาด อามีน มาดานี จะเดินทางมาถึงประเทศไทย โดยมีกำหนดการเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 10 - 13 มกราคม 2559 ในระหว่างนั้น เขาจะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีของไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเข้าร่วมการสัมมนา ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องการเสวนาระหว่างความเชื่อ และการอยู่ร่วมกันโดยสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม (Symposium on Interfaith Dialogue and Peaceful Coexistence in Multicultural Societies) " กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการแถลงข่าวสารนิเทศ

อาบูฮาฟิส อัลฮาคิม เป็นสมาชิกตัวแทนของ Barisan Islam Pembebasan Patani (BIPP - บีไอพีพี) ที่เข้าเป็นแนวร่วมในนามองค์กรมาราปาตานี และเข้าร่วมในการเจรจาลับกับคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย เมื่อปีที่แล้ว

ความพยายามในการการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ กับประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังจากการเจรจาได้หยุดชะงักไป ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2557 โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก จะยังคงดำเนินต่อไป ในการพูดคุยรอบใหม่อย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายใต้รัฐบาลทหาร นับตั้งแต่มีรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อพฤษภาคม 2556

ทั้งนี้ กลุ่มผู้เห็นต่าง กลุ่มหลัก และกลุ่มย่อย เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ท่ามกลางการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้มีผู้สูญเสียชีวิตกว่า 6,000 คน ตั้งแต่ปี 2547

ประเทศมาเลเซียเป็นหนึ่งใน 57 ประเทศสมาชิก โดยมี ประเทศไทยเป็นหนึ่งในห้าประเทศผู้สังเกตการณ์ โอไอซี ถือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดของโลกมุสลิม และเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

เป็นเรื่องภายในประเทศ

เมื่อวันศุกร์ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นของไทย ตีพิมพ์บทบรรณาธิการวิเคราะห์ความล้มเหลวของไทยในการรักษาข้อตกลงที่ผ่านๆ มา ซึ่งมีกับองค์กรที่เป็นตัวแทนของโลกมุสลิม

"ยังไม่ชัดเจนว่า นายอิยาด อามีน มาดานี และ 57 ประเทศสมาชิก คิดอะไรอยู่ในเรื่องนี้ แต่การมาเยือนของตัวแทน โอไอซี ในปี 2550 และ 2555 ก็เป็นการบ่งบอกอะไรบางอย่าง นายอิยาด อามิน มาดานี จะมาพร้อมกับข้อเสนอที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่มีชาวมุสลิมมลายูอาศัยเป็นส่วนใหญ่" บทความดังกล่าว กล่าว

โดยวันศุกร์ (8 ม.ค. 2559) ที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำศาสนา นักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ. สงขลา รวมจำนวนกว่า 100 คน โดยมี แม่ทัพภาค 4 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่สันติสุขของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.อ.อักษรา กล่าว “12 ปี ที่เราแก้ไขปัญหาภาคใต้ ตัวละครได้ออกมาครบหมดแล้ว ทั้งตัวสร้างปัญหาตัวแก้ปัญหา จึงถือว่าความคิดเห็นจากตัวแทนภาคประชาคมและภาคประชาสังคม มีความสำคัญที่จะนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในห้วงชั้นความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถรวบรัดให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว”

“เรื่องปัญหาภาคใต้ ทางโอไอซี ให้การสนับสนุนเราในการพูดคุย และเข้าใจว่าเป็นเรื่องของภายในประเทศ ที่ทาง โอไอซี จะไม่ก้าวก่าย" พล.อ.อักษรา เกิดผลกล่าว

* แก้ไขหัวเรื่องของการเสวนาจากเดิม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง