องค์การนิรโทษกรรมสากลยกเลิกการแถลงข่าว หลังถูกเตือนไม่ให้ใบอนุญาตทำงาน
2016.09.28
กรุงเทพฯ

การแถลงข่าวของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อเผยแพร่รายงานการทรมานและการปฎิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทยโดยสำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ต้องยุติลงอย่างกระทันหัน ก่อนที่งานจะเริ่มขึ้น หลังเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่เข้ามาสังเกตุการณ์ภายในงานเตือนว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมายแรงงานของไทย หากตัวแทนจากองค์การนิรโทษกรรมสากลต่างชาติ พูดบนเวทีโดยปราศจากใบอนุญาตทำงาน
ตามกำหนดการเดิม ในวันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล จะแถลงรายงานในหัวข้อ “บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้: การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย” โดยมีผู้แถลงที่สำคัญ เช่น นายยูวาล กินบาร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายขององค์การนิรโทษกรรมสากล และราเฟนดี จามิน ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่กำลังดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยเป็นผู้แถลง
นายยูวาล กินบาร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายขององค์การนิรโทษกรรมสากล ที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ได้ยุติการแถลงข่าวที่จัดขึ้นที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านสุขุมวิท 26 แต่ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ภายหลังยุติการแถลงว่า ตนเองทำงานที่สำนักใหญ่ของแอมเนสตี้ฯ ในกรุงลอนดอน แต่ได้มาทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยโดยมีวีซ่าธุรกิจ
“โดยส่วนตัว สำนักงานผมอยู่ในลอนดอน ผมมีวีซ่าธุรกิจครอบคลุมปีนี้ทั้งปี... สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องหลักของธุรกิจของผม ซึ่งเขาทราบดี ผมไม่เห็นว่าทำไมผมจะทำกิจกรรมด้านนี้ไม่ได้” นายยูวาลกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
“ขอพูดอีกครั้งว่า เราไม่ได้กล่าวหาให้ร้ายรัฐบาล หรือให้ร้ายประเทศไทย แต่ตำหนิเรื่องการกระทำการทรมาน” ยูวาล กล่าว
“ปัญหาของทหารไทย คือการใช้อำนาจบทเฉพาะกาลของกฎหมายและคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมคุมขังประชาชนได้โดยที่เขาสามารถปกป้องตนเองได้เลยเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งกฎหมายปกติ ต้องให้นำตัวผู้ต้องสงสัยไปศาลภายใน 48 ชั่วโมง ทนายและญาติเข้าพบได้ แต่นี่ โอกาสแบบนี้ถูกขว้างทิ้งออกนอกหน้าต่างไป” นายยูวาลกล่าว
“เราพบว่าในระหว่างการควบคุมตัวโดยทหาร มีการทรมานผู้ถูกกักตัวด้วย” กล่าวทิ้งท้าย
'การกระทำสำคัญกว่าคำพูด'
หลังจาก คสช. ยึดอำนาจจากนักการเมือง คสช. ได้ออกคำสั่งเพิ่มอำนาจให้ศาลทหารพิจารณาคดีใน 4 ฐานความผิด อันประกอบด้วย ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดคดีความมั่นคง ความผิดในการฝ่าฝืนคำสั่งและประกาศ คสช. และความผิดในการครอบครองอาวุธสงคราม
ซึ่งแต่เดิมศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาคดีที่ทหารเป็นผู้กระทำความผิด เท่านั้น ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่มีประชาชนเป็นจำเลย อำนาจของศาลทหารจึงถูกวิพากษ์-วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ และมีการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้อำนาจของศาลทหารตลอดมา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า คสช. ควรยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือนทั้งหมด โดยให้มีผลย้อนหลังด้วย เพื่อเป็นการคืนสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
“หลังรัฐประหาร มีประกาศ 3 ฉบับ ด้วยกันที่ครอบคลุมความผิด 4 ฐานความผิดด้วยกันคือ คดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ คดีความมั่นคง คดีฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. และคดีเกี่ยวกับอาวุธ ซึ่งมีสถิติ 1,546 คดี ที่ขึ้นสู่ศาลทหาร และมีจำนวนจำเลย 1,811 คน” น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ จาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
การเผยแพร่ข้อมูลการทรมานอย่างโหดร้ายในประเทศไทยขององค์การนิรโทษกรรม สากล ที่แจกจ่ายแก่สื่อมวลชน ระบุว่า หลังจากใช้กำลังยึดอำนาจทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หน่วยงานของกองทัพบกไทยปล่อยให้วัฒนธรรมการทรมานและปฎิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ แผ่ขยายไปทั่วประเทศ เช่น มี 74 กรณี ที่เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจกระทำการทรมาน ผู้ถูกกักตัว นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวครอบคลุมถึงการทรมานผู้ต้องสงสัย ว่าเป็นสมาชิกขบวนการก่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้
แอมเนสตี้ฯ ได้ยกตัวอย่างกรณีของเหยื่อที่ถูกทารุณกรรมอย่างโหดร้ายในรายงานขององค์การ นิรโทษกรรมสากลเปิดเผยไม่นานหลังการรัฐประหาร คือ เรื่องของเหยื่อรายหนึ่ง ชื่อ ตุล (นามสมมุติ) ถูกทหารจับกุมและควบคุมตัวที่ลับนานกว่าเจ็ดวันถูกซ้อมด้วยการทุบตีอย่าง รุนแรงถูกคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติกจนสลบ และถูกทำให้ตื่นโดยใช้น้ำเย็นราดใส่ ถูกช็อตอวัยวะเพศด้วยไฟฟ้าและอื่นๆ
การยกเลิกการแถลงข่าวของแอมเนสตี้ฯ วันพุธนี้ ในกรุงเทพฯ "ก่อให้เกิดคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับการที่องค์การระหว่างประเทศ จะสามารถจัดเวทีกิจกรรมสาธารณะในประเทศไทย" นายลอเรนท์ มิลลาน ผู้แทนคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ตามข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นอีกหนึ่งการแสดงที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักต่อสู้ด้านสิทธิ ที่มีความพยายามในการรวบรวมข้อมูลเอกสารการทรมานในประเทศไทย" นายลอเรนท์ กล่าวแก่สำนักข่าวเอพี
คำชี้แจงจากโฆษก คสช.
ซึ่ง พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ โฆษก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้กล่าวในวันนี้ว่า ตนเองยังไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นกับแอมเนสตี้ฯ ในวันนี้ เพราะติดราชการ แต่ได้กล่าวปฏิเสธถึงข้อกล่าวหาในเรื่องการใช้อำนาจโดยเกินขอบเขตโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
“ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ที่ คสช. เข้ามาควบคุมการบริหารประเทศ คสช. ก็ระมัดระวังเรื่องการใช้อำนาจในทุกๆ อย่าง แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะมีคำสั่ง คสช. มีการประกาศกฎอัยการศึก พอเริ่มคลี่คลายแล้วเราก็ลดความเข้มข้นนั้นลงมา” พันเอกปิยพงศ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
“สำหรับการที่จะไปทำอะไรนอกเหนือกรอบกฎหมายนี่ คงจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานภายใต้กรอบของกฎหมาย และอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่” พันเอกปิยพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม