ทางการไทยจับกุมผู้ต้องสงสัยรายที่สอง ในคดีวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ
2015.09.01

ทางการไทยได้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวต่างชาติอีกเป็นรายที่สอง ในการเหตุวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ ย่านใจกลางกรุงเทพฯ เดือนที่แล้ว
เมื่อวันอังคารที่ 1 กันยายน 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ กำลังหาคนวางระเบิด คนสั่งการ คนใช้โทรศัพท์อีก จึงค่อยๆทำ
"ถ้ามันได้ก็ดี จะได้รู้ว่ามาอย่างไร มาจากไหน ใครทำ ใครสั่ง ... วันนี้ก็จับได้อีกหนึ่งคน คนนี้ น่าจะมีความสำคัญในการเชื่อมโยงกับคนที่จับกุมมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเท่าที่รู้ไม่ใช่คนไทย" พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึง การจับกุมผู้ต้องสงสัยที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
ซึ่งในวันอังคารนี้ พลตำรวจโทประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการและโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเมื่อค่ำนี้ ว่า เจ้าหน้าที่ทหารสามารถจับกุมตัวชาย ไม่ทราบสัญชาติ ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นบุคคลที่วางระเบิดศาลท้าวมหาพรหม เมื่อช่วงก่อนเที่ยงวันนี้ ได้ที่ตำบลบ้านป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ขณะกำลังข้ามพรมแดนธรรมชาติไปยังประเทศกัมพูชา และได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งมีรูปร่างหน้าตามภาพสเก๊ตช์ชายเสื้อเหลืองที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด ในเหตุวางระเบิด ไว้เพื่อการตรวจสอบ
“หน้าและรูปร่าง รูปพรรณสัณฐาน คล้ายมาก เขาก็ควบคุมตัวไว้ และการเข้าออกเมืองไม่ถูกต้องและควบคุมตัวไว้ก่อน” พลตำรวจโทประวุฒิ กล่าว “จับในข้อหาพยายามหลบหนีออกนอกประเทศ เป็นผู้ต้องหาที่ผ่านแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต”
“เรายังไม่ทราบเลยว่าเขาสัญชาติใด” พลตำรวจโทประวุฒิ กล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางไปรับตัวชายผู้ต้องสงสัย บินกลับมากรุงเทพ แหล่งข่าวท้องถิ่นรายงานว่าถูกนำมาสอบปากคำโดยผ่านล่าม ที่กองพลทหารราบ
“ขอให้พยานชี้ตัวก่อน และเราก็ตรวจสอบลายนิ้วมือและดีเอ็นเอก่อน” พลตำรวจโทประวุฒิ กล่าว
“เบื้องต้นตรวจสอบหลักฐานที่เรามีอยู่ และหลักฐานต่างๆ ยืนยันได้ว่าเป็น “คนร้ายสำคัญ” ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้ต้องหาที่เราจับไว้ได้แล้วคนหนึ่ง และก็เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่นำระเบิดไปทำการในสองที่ ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา ยืนยันได้ค่อนข้างมั่นใจ รายละเอียดส่วนอื่นอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน” พลตำรวจโทประวุฒิ กล่าว ในการแถลงข่าว
ผู้ต้องสงสัยเจ็ดราย
พลตำรวจโทประวุฒิ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับรวมทั้งสิ้นแล้วขณะนี้ 7 ราย ที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 17 ส.ค.
ในการจับกุมครั้งแรก เกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารสนธิกำลังบุกเข้าตรวจค้น ในอพาร์ทเม้น ย่านหนองจอก ชานเมืองกรุงเทพฯ พบผู้ต้องสงสัยเป็นชายต่างชาติ อายุ 28 ปี
เจ้าหน้าที่กล่าว ผลการตรวจค้นพบชายซึ่งขณะนี้ ถูกจับกุมในฐานะมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง พร้อมของกลางซึ่งเป็นวัตถุประกอบระเบิด และได้ยึดพาสปอร์ตสำหรับคนสัญชาติตุรกี ที่มีรูป และใช้ชื่อว่า - “Adem Karadag” – แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า พาสปอร์ตที่เห็นนั้น เป็นของปลอม
การสอบปากคำผู้ต้องสงสัยรายแรก ทำให้เจ้าหน้าที่โยงไปถึง การออกหมายจับ ผู้ต้องสงสัยสองราย คือ ชายชาวต่างชาติที่ไม่ปรากฏชื่อ และ หญิงไทยอายุ 26 ปี ระบุชื่อ วรรณา สวนสัน ไม่สามารถระบุที่อยู่ได้ แต่รายงานข่าวกล่าวว่า ญาติของเธอบอกว่าตอนนี้ นส.วรรณา อาศัยอยู่ในประเทศตุรกี
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ และศาลมีนบุรีได้อนุมัติหมายจับ อีกสี่ราย สำหรับผู้ต้องสงสัย ที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องอยู่ในขบวนการ อาทิ รายแรก ชายที่ไม่ปรากฏชื่อ อยู่ในเสื้อเชิ้ตสีฟ้าที่เชื่อมโยงกับเหตุระเบิดวันต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม ที่ท่าเรือสาทร รายที่สอง ชายชาวต่างชาติไม่ปรากฏชื่อ และผู้ต้องสงสัยอีกสองราย ชื่อเป็น Ahmet Bozoelan and Ali Johan (อาลีโจฮาน)
“เราไม่ต้องการจะกล่าวโทษใคร”
หลังจากที่ผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมครั้งแรกนั้น สถานทูตตุรกีออกแถลงการณ์ว่า กรุงแองการาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางการไทย ในการจับกุมผู้ต้องหา ก่อเหตุวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหม
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ในวัน ทางการไทยยังคงพยายามที่จะตรวจสอบว่ามีการเชื่อมโยงกับประเทศตุรกีหรือไม่ อย่างไร
"อย่าเพิ่งไปพูดเรื่องนี้ เรื่องโน้น เพราะมันจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้ามันชัดเจนเกิดอย่างนี้จริง ก็ขอความร่วมมือกับเขาวันหน้าจะได้ไม่เกิดขึ้น โทษกันไปโทษกันมาไม่ได้อะไรขึ้นมา" พลเอกประยุทธ์ กล่าว
ส่วนเรื่องการประสานกับทางประเทศตุรกีอย่างเป็นทางการนั้น พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า
“ได้มีการพูดคุยกับทางสถานทูตมาโดยตลอด ซึ่งเขายืนยันว่า ไม่น่าจะทำ แต่ความเป็นไปได้มันสูงทุกวัน เหมือนกับบ้านเรา ที่ไม่สามารถควบคุมคนไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่ใช่ก็ดีไม่อยากให้มีผลกระทบเยอะ”