ตำรวจจับบริษัทนำเที่ยวจีนในภูเก็ต พบใช้เอกสารปลอมและอาจเข้าข่ายอั้งยี่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.07.07
กรุงเทพฯ
TH-phuket-fraud-1000 ผู้คนขวักไขว่บริเวณหน้าหาดกะรน หนึ่งในหลายหาดที่เป็นที่นิยม สำหรับนักท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต ภาพเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555
เอเอฟพี

วันพฤหัสบดี (7 กรกฎาคม 2559) พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการสำนักงานตำรวจภูธร จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบหลักฐานคดีที่บริษัท ไท่ลี่ หรือทรานลี่ แทรเวล ซึ่งดำเนินกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยใช้เอกสารปลอมในการก่อตั้งบริษัทพบว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นชาวจีน แต่ใช้บัตรประชาชนไทยปลอม ในการจดทะเบียนตั้งบริษัท และยังพบว่าการกระทำของบริษัท อาจเข้าข่ายความผิดฐานอั้งยี่ โดยมีการปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการสำนักงานตำรวจภูธร จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า หลักฐานพบว่า นายวีระชัย คำไผ่ประพันธ์กุล และนายกฤชกร รุ่งมงคลนาม ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ไท่ลี่ แท้จริงแล้วเป็นชาวจีน ซึ่งใช้บัตรประชาชนปลอมยื่นจดทะเบียนบริษัท เนื่องจากการก่อตั้ง บริษัทในประเทศไทยจำเป็นต้องมีผู้ถือหุ้น 51% เป็นคนไทย เมื่อพบการกระทำผิดดังกล่าว

เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจค้นและทำการยึดทรัพย์ของบริษัทไว้เพื่อตรวจสอบ

“เราจะดำเนินการตรวจยึดก่อน เพราะเราเชื่อว่าทรัพย์สินเหล่านี้ได้มาจากการกระทำผิดฐานอั้งยี่ ขณะนี้กำลังดำเนินการ ยังไม่มีการตั้งข้อหา เพราะขณะนี้นายวีระชัยเขาหลบหนี ส่วนของนายกฤชกรเรียกไปแล้ว อยู่ในช่วงประกันตัว แต่ยังไม่พบตัว ซึ่งหลังจากนี้บริษัทต้องมาชี้แจงว่าไม่ได้กระทำผิด” พล.ต.ต.ธีระพล กล่าว

พล.ต.ต.ธีระพลเพิ่มเติมว่า บริษัท ไท่ลี่ มีบริษัทท่องเที่ยวในเครือข่ายอีก 17 บริษัท ดำเนินกิจการในประเทศไทยมากว่า 10 ปี ปัจจุบันตำรวจได้ทำการยึดทรัพย์สินของบริษัทเพื่อตรวจสอบแล้วประกอบด้วย เรือยนต์รับ-ส่งนักท่องเที่ยว 29 ลำ จากทั้งหมด 35 ลำ และรถบัสรับ-ส่งนักท่องเที่ยว 50 คัน จากทั้งหมด 117 คัน

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.อาชยน ไกรทอง รองผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยวเผยว่า ตำรวจท่องเที่ยวจะตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีบริษัทหรือบุคคลใดเป็นเครือข่ายของบริษัท ไท่ลี่อีก

“ต้องมีการสืบสวนขยายผล ผู้ร่วมกระทำผิดในขบวนการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจดแจ้งธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจนำเที่ยว ที่เข้าไปเกี่ยวพันกับหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าต่างๆ ที่พัก แล้วก็ร้านของที่ระลึกว่า มีส่วนร่วมในการกระทำผิดกับผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ เราคงต้องขยายผลไป” พ.ต.อ.อาชยนกล่าว

โดยเพิ่มเติมว่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่ซื้อทัวร์ของบริษัท ไท่ลี่ไปแล้วนั้น การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตจะเป็นผู้จัดหาบริษัทนำเที่ยวเอกชนมารับช่วงต่อ เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวเสียประโยชน์จากการจับกุมครั้งนี้

ด้านพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีนี้อย่างถึงที่สุด ไม่มีการละเว้น ไม่ว่ากรณีใดๆ

“บังคับใช้กฎหมาย 100 เปอร์เซนต์ทุกข้อหาที่มี ผิดถึงใคร ยืนยันว่า ผิดถึงใครจับถึงนั่น โดยให้กองปราบติดตามว่าเงินที่ได้จากบริษัทออกนอกประเทศไปได้อย่างไร” พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว

การตรวจสอบบริษัท ไท่ลี่ เริ่มในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2559 หลังจากพบเบาะแสว่า บริษัทอาจเป็นบริษัทตัวแทนของต่างชาติ และดำเนินการหลีกเลี่ยงภาษี

โดยหลักฐานระบุว่า บริษัท ไท่ลี่ หรือทรานลี่ เทรเวล จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดย นายวีระชัย คำไผ่ประพันธ์กุล และนายกฤชกร รุ่งมงคลนาม เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจ.ภูเก็ต ประกอบด้วย เรือนำเที่ยว รถบัสรับส่งนักท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก สปา ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก

ขณะนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 คน ถูกศาลจังหวัดภูเก็ตออกหมายจับ เนื่องจากเป็นบุคคลต่างด้าว แต่อ้างว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยให้เจ้าหน้าที่ออกบัตรประชาชน แล้วนำไปจดทะเบียนนิติบุคคลประกอบธุรกิจนำเที่ยวถึง 17 บริษัท พร้อมทั้งมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นนอมินีให้ทุนต่างชาติ เนื่องจากมีหลักฐานว่าบริษัทได้ส่งเงินออกนอกประเทศไปยังประเทศจีน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามจะได้ติดตามสืบสวนต่อ ถึงกรณีที่เชื่อว่าอาจมีผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นให้การช่วยเหลือบริษัท และตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้จับกุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการมาลงโทษ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง