คนไทยต้องเผชิญแอลกอฮอล์ หน้ากาก ไม่ได้มาตรฐาน ช่วงโควิด-19 ระบาด
2020.04.03
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์สารปริมาณน้อยและไบโอเซนเซอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า พบแอลกอฮอล์ล้างมือที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ ถึง 21 ตัวอย่างจากจำนวน 261 ตัวอย่าง ในขณะที่ทั่วประเทศ ต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังได้กวาดจับพ่อค้าหัวใสที่ขายแอลกอฮอล์ รวมทั้งหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งยังขายโก่งราคาแพงเกินปกติ
ผศ.ดร.จงดี บูรณชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์สารปริมาณน้อยและไบโอเซนเซอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในตัวอย่างจากการเก็บตัวอย่างที่มีในท้องตลาดและที่ทางบ้านส่งมาให้ตรวจ พบแอลกอฮอล์ล้างมือที่เป็นเมทิลแอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายจำนวนหนึ่ง
“ทดสอบมา 261 ตัวอย่าง พบเอทานอล โพรพานอล และเมทานอล โดยพบเมทานอลซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย 21 ตัวอย่าง และ 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีสารประกอบแอลกอฮอล์เลย เมทานอล เป็นสารพิษ ถ้าเราทามันจะดูดซึมเข้าร่างกาย และเปลี่ยนเป็นสารพิษมากขึ้นเป็นฟอร์มาลดีไฮด์ เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ อาจก่อให้เกิดมะเร็ง เข้าตาอาจจะบอดได้ ถ้ากินก็ถึงตายได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณ คนที่ส่งตัวอย่างมาให้เราตรวจ บางคนบอกว่า มีอาการแสบร้อนมือ แสบผิวหนัง” ผศ.ดร.จงดี ระบุ
ผศ.ดร.จงดี กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ จะเปิดรับตัวอย่างแอลกอฮอล์จากทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2563 หลังจากนั้น ข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ โดยแนะนำว่า หากไม่สามารถหาซื้อแอลกอฮอล์ล้างมือที่น่าเชื่อถือได้ ให้ล้างมือด้วยสบู่ ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกัน
“ปัจจุบัน พบว่าแอลกอฮอล์มีราคาสูงขึ้น น่าจะเป็นเพราะภาวะการขาดแคลนทั่วประเทศ ข้อแนะนำในการเลือกซื้อแอลกอฮอล์ล้างมือคือ อันดับแรกเลย ให้ระวังการซื้อจากอินเตอร์เน็ต เนื่องจากเราไม่ได้เห็นสินค้าจริง ไม่เห็นรหัสจดแจ้ง ไม่เห็น อย. ให้พยายามเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะจากตัวอย่างมาวิเคราะห์พบว่า แอลกอฮอล์ยี่ห้อเดียวกัน แต่ซื้อจากร้านยากับอินเตอร์เน็ต กลับพบสารประกอบแตกต่างกัน ซื้อจากอินเตอร์เน็ต เราพบเมทานอลผสม เพราะตอนนี้ความต้องการค่อนข้างสูงอาจมีคนฉวยโอกาส” ผศ.ดร.จงดี กล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 นายไพศาล ดั้งคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกประกาศที่ระบุรายชื่อผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 24 รายชื่อ ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมน้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ตามมาตรฐาน โดยได้เพิกถอนใบรับจดแจ้งและให้เรียกคืนสินค้าจากท้องตลาดทั้งหมด
ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 จับหน้ากากเถื่อนเกือบล้านชิ้น
ในวันเดียวกัน พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ได้แถลงผลการจับกุมหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ ที่ขายเกินราคาได้ 19 คดี มีผู้ต้องหา 31 คน และยึดของกลางได้จำนวนมาก
ซึ่งพล.ท.อำพล ระบุว่า สินค้าที่จับได้ เป็นการระดมตรวจค้นในพื้นที่ สมุทรปราการ นนทบุรี และดอนเมือง หน้ากากจำนวนหนึ่งเป็นสินค้านำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม ที่ด่านอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยไม่ได้รับอนุญาต และนำไปขายเกินราคา
“สามารถจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ 30 มีนาคม ถึงปัจจุบัน 19 คดี ยึดหน้ากากอนามัยจำนวน 787,779 ชิ้น และเจลแอลกอฮอล์กว่า 10,000 ลิตร ส่วนนึงเป็นหน้ากาก และแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้มาตรฐาน พูดง่าย ๆ คือ คนเห็นแก่ตัวกันเยอะ พี่น้องประชาชนก็ต้องมาซื้อของแพง” พล.ต.ท.อำพล กล่าวแก่สื่อมวลชน พร้อมทั้งระบุว่า จะส่งตัวอย่างหน้ากากที่นำเข้ามาจากเวียดนามให้ทางองค์การอาหารและยา ตรวจสอบอีกครั้งว่าได้มาตรฐานหรือไม่
ขณะที่ ในวันเดียวกันที่จังหวัดพิษณุโลก เจ้าหน้าที่แถลงว่า สามารถจับกุมผู้ผลิตแอลกอฮอล์ โดยใช้เมทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายเป็นส่วนผสม เจ้าหน้าที่สามารถยึดของกลางได้ประมาณ 5 คันรถกระบะ โดยจะได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในสองข้อหา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากห้องปฏิบัติการยืนยันว่า มีส่วนผสมของเมทิลแอลกอฮอล์จริง จะถูกดำเนินคดีฐานผลิต นำเข้า หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ สำหรับผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 นายสุพพัต อ่องแสงคุณ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ประเภทหน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ล้างมือ 6 ราย โดยยอดจับกุมตั้งแต่วันที่ 26-31 มีนาคม 2563 รวม 236 ราย
“ผลการจับกุมผู้กระทำความผิดในส่วนของหน้ากากอนามัย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 จับกุมได้อีก 6 ราย แยกเป็นกรุงเทพฯ 5 ราย ได้แก่ ร้านค้าออนไลน์ 2 ราย เป็นการล่อซื้อและจับกุม โดยกระทำความผิดจำหน่ายเกินราคาควบคุม และขายราคาเกินสมควร โดยหนึ่งในนั้นผู้กระทำความผิดเป็นชาวเวียดนาม (จำหน่ายหน้ากากนำเข้า) ร้านค้าทั่วไป 2 ราย โดยทั้ง 2 ราย เป็นการกระทำความผิดในข้อหาขายเกินราคาควบคุม พบขายหน้ากากอนามัย เฉลี่ยชิ้นละ 16-25 บาท และอีก 1 ราย กระทำความผิดไม่แจ้งการครอบครองเจลแอลกอฮอล์และแอลกอฮอล์” นายสุพพัต ระบุ
สธ. แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 103 ราย เสียชีวิต เพิ่ม 4 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผย ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิต
“สถานการณ์ของประเทศไทยเรา วันนี้มีผู้ป่วยที่หายแล้ว 581 ราย ผู้ป่วยยืนยัน ณ วันนี้ 1,978 ราย รายใหม่ 103 ราย เสียชีวิต 19 ราย ใน 19 รายนี้ วันนี้ที่เป็นตัวเลขที่จะต้องมารายงาน คือใหม่ 4 ราย ใน 103 ราย นี้ 48 รายแรก อยู่ในกลุ่มสนามมวย สถานบันเทิง พิธีกรรมทางศาสนา ประเทศอินโดนิเซีย 6 ราย สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่พบก่อนหน้านี้ กลุ่มที่สอง 44 คน คนไทยเดินทางจากต่างประเทศ สัมผัสกับผู้ป่วยทั้งหลาย รวมถึงระหว่างการสอบสวนอีก 11 ราย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ครม. อนุมัติบรรจุพนักงาน ลูกจ้าง เป็นข้าราชการ สธ. 4.5 หมื่นตำแหน่ง
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมนัดพิเศษโดยอนุมัติหลักการบรรจุพนักงาน ลูกจ้าง สาธารณสุข เป็นข้าราชการ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขไทย และ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานควบคุมป้องกันการระบาดโควิด-19 จำนวน 45,242 ตำแหน่ง โดยกลุ่มที่จะได้รับการบรรจุ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 บุคลากรที่ให้บริการในสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด -19 รวม 31,296 คน และกลุ่มที่ 2 บุคลากรที่สนับสนุนการให้บริการในสถานการณ์โควิด-19 รวม 6,809 คน
ครม. จะใช้งบ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เยียวยาและรับมือโควิด-19
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. นัดพิเศษ โดยระบุว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแต่ละกระทรวง เพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
“ท่านนายกฯ กำชับว่า ให้ใช้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยทั้งหมด ในส่วนที่เหลือที่งบประมาณไม่สามารถทำได้ ก็จะมีการกู้ยืม การกู้ยืมโดยกระทรวงการคลังที่จะนำมาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ มากระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลประชาชน การกู้ยืมอีกส่วนในนามของแบงค์ชาติ คือการออกพระราชกำหนดให้ออก ซอฟท์โลนได้ เพื่อให้มีการหมุนเวียนของระบบการเงินและไปดูแลผู้ประกอบการ คงจะพูดได้แค่นี้ เพราะจะยังไงต้องผ่าน ครม. ก่อน” นายสมคิด ระบุ
“กลุ่มกิจกรรมมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ ดูแลเยียวยาประชาชน เรื่องการเข้าไปดูแลเศรษฐกิจใน 2-3 เดือนข้างหน้า ให้มันมีการไหลเวียนไม่ใช่หยุดนิ่ง ซึ่งกระทรวง ทบวง กรมทั้งหลายจะเข้ามา และส่วนที่สาม คือ ระบบเศรษฐกิจให้กลไกทุกอย่างเดินได้ พวกเราต้องการให้งบประมาณถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คาดว่าจะใกล้เคียงกับ 10 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณที่ใช้ได้ บางส่วนใช้ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของเงินเดือน เราไม่แตะต้องอยู่แล้ว บางส่วนเป็นงบที่ใช้ไปแล้วคิดว่า ไม่จำเป็นก็จะไม่แตะต้อง ในส่วนที่เหลือ” นายสมคิด กล่าว
ในปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 1,041,126 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 181 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 55,132 คน และรักษาหายแล้ว 221,262 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอิหร่าน เป็นต้น ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว