สภาพัฒน์คาดโควิด-19 ทำคนตกงาน 8.4 ล้านคน
2020.05.28
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ซึ่งระบุว่า อาจมีคนไทยถูกเลิกจ้างประมาณ 8.4 ล้านคน เพราะการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ขณะที่ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเดิมที่จะหมดอายุวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ให้มีอายุถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นการกระทำที่ผิดกาลเทศะของรัฐบาลไทย
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ทำงาน 37,424,214 คน ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.7 โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 3.7 จากผลกระทบของภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 แต่อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5
“จากการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงาน พบว่า แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน จะได้รับผลกระทบประมาณ 2.5 ล้านคน 2. แรงงานในภาคอุตสาหกรรม จากทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และ 3. การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน” นายทศพร กล่าว โดยระบุเพิ่ม
“มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง 26 จังหวัด รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน คาดว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะปรากฏผลชัดเจนเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่สอง และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน โดยหลังเดือนพฤษภาคม รัฐบาลจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม”
ในวันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11 ราย รักษาหายเพิ่ม 14 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,065 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วสะสม 2,945 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 57 ราย ปัจจุบัน ยังคงมีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 63 ราย
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ : องค์กรสิทธิฯระบุ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยจะต่ำมาก หากเทียบกับช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 แต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ ขยายอายุของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน โดยอ้างว่า เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะประเทศกำลังจะเข้าสู่มาตรการการผ่อนปรนระยะที่สาม โดยการต่ออายุครั้งนี้ คำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่ใช่เหตุผลด้านการเมืองตามที่ฝ่ายค้าน นักวิชาการหรือองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหา
สืบเนื่องจากมติของครม. ดังกล่าว องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ จึงได้ออกแถลงการณ์ในวันพุธ ระบุว่า นับตั้งแต่ การประกาศสภาวะฉุกเฉิน และใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งแรกในวันที่ 24 มีนาคม 2563 รัฐบาลได้พยายามปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ หรือปิดปากผู้เห็นต่าง โดยเจ้าหน้าที่รัฐพยายามปิดกั้นการวิจารณ์การทำงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากสื่อมวลชน บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณชน โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ)
“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดำเนินการกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยปราศจากความรับผิดชอบ.. รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมที่จะขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จ และโดยไม่มีเหตุสมควร ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญไทย” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์
ในแถลงการณ์ระบุว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย และ นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง หลังจากที่ทั้งคู่ทำกิจกรรมประมูลภาพวาดเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 และตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 4 หมื่นบาท รวมถึงการห้าม ชาวบ้านในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา รวมตัวประท้วงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ณ หาดม่วงงาม โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จัดการกับผู้ที่เห็นต่าง
“สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย หากดูจากสถิติผู้ติดเชื้อไม่ได้วิกฤต เหมือนตอนเริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายตัวนี้แล้ว เพราะมีกฎหมายตัวอื่นตอบโจทย์อยู่แล้ว การควบคุมโรคก็ใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ ได้ ข่าวปลอม ก็ใช้กฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.คอมฯ ได้ การควบคุมราคาสินค้าจำเป็นก็ใช้กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ได้ และการนำกฎหมายมาใช้จัดการกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ผิดกาลเทศะ ถูกเอาไปใช้ในทางมิชอบ ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล และเอาผิดไม่ได้ ดังนั้นควรจะหยุดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แล้ว” นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์
ขณะที่ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ถึงเรื่องเดียวกันระบุว่า รัฐบาลไทยต้องรับประกันว่า มาตรการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ต้องไม่ถูกใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ต้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ ยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยพลการ
“หลังมีการล็อคดาวน์มานานสองเดือน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอให้ทางการไทยรับประกันว่า การจำกัดการใช้สิทธิที่จะเกิดขึ้น ต้องเป็นไปอย่างสมควรและจำเป็น นอกจากนั้น ยังเรียกร้องทางการให้มีมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถปกป้องตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงการระบาดของโรค ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลและการเข้าถึงการดูแลและบริการด้านสุขภาพที่เพียงพอ หรือขาดศักยภาพในการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ” แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุ
“ขอให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคล ซึ่งถูกลงโทษเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยพลการ และงดเว้นการใช้มาตรการจำกัดสิทธิ โดยพุ่งเป้าไปที่เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ ทั้งยังมีการลงโทษที่ไม่สมควรจากแรงจูงใจทางการเมือง แม้การจำกัดสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ เมื่อจำเป็นและเหมาะสม ในการป้องกันด้านสาธารณสุข แต่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการชุมนุม โดยกล่าวว่า เป็นการละเมิดมาตรการการรักษาระยะห่างทางกายภาพ จะต้องไม่ถูกลงโทษด้วยการจำคุก” แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ ระบุ
ต่อเรื่องดังกล่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงกับฝ่ายค้านในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่อาคารรัฐสภาว่า รัฐบาลพยายามดำเนินการเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตลอด ตั้งแต่พบการระบาดในประเทศไทย โดยยืนยันว่า ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ลดความเข้มงวดในการป้องกันโรคลง และมั่นใจว่า แม้เกิดการระบาดระลอกที่สองก็สามารถรับมือได้
“การพิจารณาเข้ามาตรการผ่อนคลายระยะ 3 ก็เพื่อรองรับการผ่อนคลาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อมันถึงเวลาที่ต้องเลิก พ.ร.ก. ขอย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมในการดูแลรักษาประชาชน หวังว่าหลังจากผ่านพ้นวิกฤติการตรงนี้แล้ว ไทยจะกลายเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติ เพราะความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และนั่นคือโอกาสที่จะดึงสิ่งที่เคยเสียไปกลับคืนมาขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ ไม่เคยการ์ดตก และขอให้ประชาชน ต้องตั้งการ์ดด้วย ศัตรูคือ โควิด19 ถ้านับคะแนน ประเทศไทยยังนำอยู่ ถ้าจะน็อคได้ ต้องมีวัคซีน ประเทศไทย เราเหลืออยู่อย่างเดียวคือ วัคซีน ซึ่งได้สนับสนุนงบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติไปแล้ว” นายอนุทิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อไปหานาง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เพื่อขอคำความเห็นเกี่ยวกับแถลงการณ์ขององค์กรสิทธิมนุษยชนเรื่องการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ