เงินเยียวยาโควิด : ฝนตกไม่ทั่วฟ้า

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.04.08
ปัตตานี และกรุงเทพ
200408-TH-deepsouth-aid-1000.jpg น.ส.คอรีเยาะ สาแม (ขวามือ) ช่วยเช็คข้อมูลให้กับนางรอกีเยาะ อาบู ชาวบ้านในตำบลยะหา จังหวัดยะลา ว่ามีเงินโอนค่าเยียวยาเข้าบัญชีแล้วหรือไม่ วันที่ 9 เมษายน 2563
เบนาร์นิวส์

วันนี้เป็นวันแรกที่รัฐบาลโอนค่าเยียวยาจากผลกระทบจากการระบาดโควิด ให้ประชาชนเกือบสามแสนราย แต่ประชาชนที่ด้อยโอกาสบางส่วน ไม่สามารถขึ้นทะเบียนรับเงินเยียวยาได้ เพราะเหตุผลบางประการ ในขณะที่ผู้มีฐานะบางรายกลับได้รับชดเชยอย่างรวดเร็ว ซึ่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเรียกร้องให้รัฐบาลขยายฐานผู้มีสิทธิ์ให้ครบ 24 ล้านคน

“จะลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือจากรัฐได้ยังไง ไม่มีบัญชีธนาคาร คือถ้าเรามีสมุดบัญชีอย่างน้อยให้คนอื่นช่วยลงทะเบียนได้ แต่เราไม่มี ก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องอดมื้อกินมื้อ บัตรประชารัฐก็ไม่มี และลูกก็ต้องถูกพักงานเพราะโควิดด้วย” นางลาตีปาร์ มะนาหิง อายุ 54 ปี แม่ค้าขายผลไม้ตามฤดูกาล ในจังหวัดยะลา กล่าวระบายความทุกข์ยากแก่เบนาร์นิวส์

ในวันที่ 8 เมษายน 2563 นี้ เป็นวันแรกที่รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนที่ลงทะเบียนว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 บนเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com งวดแรกจำนวน 280,000 ราย ซึ่งหลังจากการระบาดของโรคโควิดในประเทศไทย เมื่อกลางเดือนมกราคมนี้ ได้มีผู้ติดเชื้อนับพันราย จนรัฐบาลต้องสั่งหยุดกิจการของเอกชน เพื่อลดการระบาด ทำให้มีคนว่างงานจำนวนมาก ซึ่งทุกคนต่างหวังว่าเงินช่วยเหลือจากรัฐจะช่วยประทังชีวิตของตนได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดตัวเว็บไซต์ดังกล่าว ตั้งเป้าจะจ่ายเงินชดเชย 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยจำกัดจำนวนเพียง 3 ล้านคน แต่มีผู้ลงทะเบียนกว่ายี่สิบล้านคน

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คนที่ยังลำบากอยู่จะได้รับเงินโดยง่าย เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ หรือในบางราย ไม่มีความรู้เข้าใจเพื่อให้สามารถลงทะเบียนได้สำเร็จดังกล่าวข้างต้น

น.ส.อัยเสาะ เงาะตาลี อายุ 32 ปี ชาวอำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี มีอาชีพเป็นแม่ค้าขายไก่ตามตลาดนัดหรืองานต่างๆ กล่าวว่า ตนเองลงทะเบียนรับเงินเยียวยาไปแล้ว และยังรอคอยเงินเยียวยาอย่างใจจดจ่อ

“ลูกมาขอเงินไปซื้อขนม เราไม่มีให้ เราได้แต่อธิบาย แล้วก็ทำขนมให้กินเองแทนการไปซื้อขนมที่ร้านค้า โชคดีที่ลูกก็เข้าใจ ส่วนคนเป็นพ่อ เป็นแม่ ก็ถือศีลอด เวลาละศีลอดก็กินข้าวกับน้ำบูดู เพราะต้องประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราไม่รู้ว่าวิกฤตินี้จะอีกนานแค่ไหน” น.ส.อัยเสาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ในหมู่บ้านก็มีคนติดโควิด เจ้าหน้าที่เลยปิดหมู่บ้าน ออกจากบ้านได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่เราไม่มีเงินแล้ว โชคดีที่แม่มีบัตรประชารัฐ ก็เอามาซื้อข้าวสารกับแป้ง และบูดูได้บ้าง” น.ส.อัยเสาะ ระบุ

สำหรับนางสิริวรรณ อัศวนุภาพ แม้ว่าเธอเข้าสู่วัยเกษียณแล้วก็ตาม แต่ยังต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพ และต้องดูแลมารดาที่อายุได้ 90 ปีแล้ว

“เป็นผู้สูงอายุไม่ได้รับเงินเยียวยา เขาบอกเราอายุเกิน 60 ปี แต่เรายังทำงานอยู่ เราถีบจักรยานส่งหนังสือพิมพ์ เราก็ได้รับผลกระทบ ส่งตามบ้านลูกค้าหายไป 40 เจ้า เหลือ 10 เจ้า จากเดิมส่งวันละ 50 เจ้า ลูกค้าประจำหน้าร้านก็หายไป ปกติเขาจะมาแวะซื้อหนังสือพิมพ์ก่อนไปทำงาน ทุกวันนี้ก็ไม่มี หนังสือพิมพ์ก็คืนไม่ได้” นางสิริวรรณ แม่ค้าขายหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ กล่าว

“ทุกวันนี้ อยู่กับแม่อายุ 90 ปี เขาก็ขอเยียวยาไม่ได้เพราะอายุเกิน ค่าเช่าบ้านเดือนละ 1.5 หมื่นบาท เราไปทำอาชีพอื่นไม่ได้ เพราะไม่เคยทำ ขายมาตั้งแต่สาวๆ ทุกวันนี้กำไรเหลือแค่ 15 เปอร์​เซ็นต์ ถ้าอยากให้รัฐบาลช่วย ก็อยากได้เงินเหมือนคนอื่นเขา ถ้าได้เดือนละสัก 5 พันบาท ก็ยังพอได้ช่วยจ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่ต้องเป็นภาระลูกเขามาก เพราะเขาก็มีครอบครัวของเขา” นางสิริวรรณ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ลงทะเบียนบางรายที่พอมีฐานะกลับได้รับเงินรวดเร็ว แต่กลับดูหมิ่นเงินว่าเป็นเพียง “เงินหลังตู้เย็น” ด้วยการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊คในวันนี้ ก่อนที่จะขอโทษและลบบัญชีไป จนทำให้นายลวรณ แสงสนิท ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ประกาศว่าจะตรวจสอบคุณสมบัติของหญิงรายดังกล่าวอีกครั้งและอาจจะยึดเงินคืน

กรณ์ จาติกวณิช เรียกร้องให้ขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยกับการที่รัฐจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่เห็นว่าควรขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ให้ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบ 24 ล้านคน

“ผมคิดว่า มีคนถึง 24 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วยอาชีพอิสระ ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคม 5 ล้านคน และนอกระบบประกันสังคม 7 ล้านคน มีเกษตรกรอีก 12 ล้านคน ยังมีพนักงานบริษัท หรือผู้ที่ได้รับเงินเดือนที่ถูกลดเงินเดือน หรือ ถูกให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าแรงอีก เขาน่าจะได้รับการเยียวยา สำหรับการอัดฉีดเงินผู้ที่ได้รับอานิสงส์ คือ ร้านค้าปลีก ซึ่งรัฐควรไปเจรจาให้ร้านพวกนี้ลดราคาสินค้าจำเป็นลง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายเงินเยียวยาที่มาจากภาษีของประชาชนได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ผมคิดว่า ถ้ารัฐพร้อมเจรจา เขาก็พร้อมที่จะทำ” นายกรณ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์

กลุ่มอาชีพในลำดับต้น และกลุ่มไม่สิทธิ์

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กลุ่มอาชีพที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยา คือ ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล คนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไกด์ รวมถึงอาชีพอิสระหรือค้าขาย ขณะที่กลุ่มที่จะไม่เข้าเกณฑ์การเยียวยาคือ 1. คนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี 2. นักเรียน นักศึกษา 3. คนว่างงาน 4. คนที่ได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม 5. เกษตรกร 6. ผู้ค้าออนไลน์ 7. คนงานก่อสร้าง 8. โปรแกรมเมอร์ 9. ข้าราชการ และ 10. ผู้รับบำนาญ

ต่อมา ในวันที่ 31 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขยายสิทธิ์การเยียวยาโดยครอบคลุมถึงผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 อีก 5 ล้านคน ก่อนที่ ครม. จะมีมติให้ขยายระยะเวลาเยียวยาจากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน โดยจะใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้หนึ่งล้านล้านบาท ที่ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563

จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเปิดเผยว่ามีผู้ที่ลงทะเบียนขอรับการเยียวยาผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวแล้วกว่า 24 ล้านคน แต่มีผู้ที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์ และจะได้รับเงินกลุ่มแรกเพียง 1.68 ล้านคน

ไทยพบป่วยโควิด-19 ยืนยันเพิ่ม 111 ราย เป็นกลุ่มเผยแพร่ศาสนากลับมาจากอินโดนีเซีย 42 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่กลับมาจากอินโดนิเซียติดเชื้อถึง 42 ราย

“ตัวเลขผู้ป่วยใหม่วันนี้ 111 ราย ทำให้ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,369 ราย หายป่วยไป 888 ราย เสียชีวิตสะสม 30 ราย เป็นรายใหม่ 3 ราย… ผู้ป่วยที่ตรวจพบจากการกลับจากประเทศอินโดนิเซีย ทั้งหมดกลับมาหลายท่าน ตรวจพบ 42 ท่านในกลุ่มก้อนเดียวกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ที่พบแบ่งเป็น กลุ่มผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 69 ราย ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 11 ราย ในนั้นเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 21 ราย และเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากอินโดนิเซีย ซึ่งเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 เมษายนนี้ ซึ่งได้เข้ากระบวนการกักตัวของรัฐ 42 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง