ยินดีต้อนรับสู่ประเทศไทย : นักท่องเที่ยว-แรงงานข้ามชาติรับผลกระทบโควิดต่างกัน
2021.07.16
การระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาและมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดได้ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันอย่างมาก ต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และแรงงานข้ามชาติ ในประเทศไทย
รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการใหม่ หลังจากที่พบการแพร่ระบาดติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชาวต่างชาติที่มาเยือน หรือแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศเอง เนื่องจากทั้งสองกลุ่มล้วนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน รัฐบาลได้สั่งปิดแคมป์คนงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล เพื่อควบคุมการเข้าออกพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายหมื่นคน ต้องแยกตัวอยู่แต่ในที่พักเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้พยายามฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดใหญ่โควิด-19 ในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยนำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศ รัฐบาลได้ประกาศ เปิดเกาะภูเก็ต เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทยได้ในโครงการภูเก็ต “แซนด์บ็อกซ์” และเมื่อวานนี้ รัฐบาลได้ประกาศเปิดเกาะสมุย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเกาะที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นกัน
บทสัมภาษณ์สั้น ๆ ต่อไปนี้ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของชาวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทย แรงงานข้ามชาติและคนไทยที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศ ในห้วงที่มีการระบาดระลอกใหม่เพิ่มขึ้นสูง และผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนดขึ้น
ภาพเชิงซ้อนจากวิดีโอคอลที่สัมภาษณ์ลิน แรงงานชาวลาว ในกรุงเทพฯ ที่กำลังตั้งครรภ์ (ภาพโดย ลิน/เรดิโอฟรีเอเชีย)
ลิน แรงงานจากสปป. ลาว
แรงงานสาวชาวลาว ที่ใช้ชื่อเล่นว่า ลิน ทำงานในตลาดแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ตอนนี้ตั้งท้องได้แปดเดือน และตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้
“ฉันหายใจลำบาก อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ และอาเจียน อาการต่าง ๆ แย่ลง แม้ว่าจะกินยาและกักตัวที่บ้านพักกับสามี” ลิน ให้สัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาลาว ซึ่งร่วมเครือข่ายเดียวกับเบนาร์นิวส์ เมื่อต้นเดือนนี้
“เด็กขยับตัวไม่เป็นปกติ เมื่อหลายวันก่อน เขาเตะท้อง ราว 9 ครั้งต่อวัน แต่ปกติแล้วเขาจะเตะวันละอย่างน้อย 15 ครั้ง”
ลินยังกลัวว่าสามีของเธอจะติดเชื้อโควิดด้วย เพราะเริ่มแสดงอาการบางอย่าง ส่วนตัวเธอต้องรอนานถึงห้าวัน ก่อนที่จะได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์แพทย์ฉุกเฉินเอราวัณบอกว่า เธอต้องเสียเวลารอเข้าโรงพยาบาล เพราะมีผลติดเชื้อโควิด
“ในกรณีนี้ เธอตั้งท้อง เธอจึงไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามได้ และไม่สามารถไปโรงพยาบาลที่รักษาโรคโควิด-19 อย่างเดียวได้ เธอต้องไปโรงพยาบาลที่สามารถดูแลเธอได้ เพราะว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับครรภ์ของเธอ จะทำให้การรักษาโควิดช้าลงไปอีก” เจ้าหน้าที่ศูนย์แพทย์เอราวัณกล่าวในตอนนั้น
ลินได้ออกจากโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นี้ หลังจากที่รักษาโควิดหายแล้ว แต่สามียังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เมื่อสามีออกจากโรงพยาบาลแล้ว ลินคิดว่าจะเดินทางกลับ สปป. ลาว เพราะไม่มีเงินค่าคลอดลูกในโรงพยาบาลในประเทศไทย
เมียน ลา เป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านจากประเทศกัมพูชา เธอกับสามีและลูกสาววัยหนึ่งขวบ ติดเชื้อโควิด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ขณะหลบซ่อนตัวอยู่ใกล้กรุงเทพฯ (เรดิโอฟรีเอเชีย)
เมียน ลา นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชา
เมียน ลา บอกว่าทั้งสามคนไม่มีอาหารเพียงพอ และไม่สามารถขอรับการรักษาพยาบาลได้ ครอบครัวได้รับการเจือจุนจากแรงงานชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในไทย เช่น อาหารแห้ง ปลากระป๋อง ไข่ไก่ และน้ำปลา
เธอบอกว่า ตนเองมีปัญหาด้านสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด แต่เธอเป็นห่วงลูกสาวมากกว่า “ลูกสาวฉันยังเล็ก เขายังไม่รู้ความ ตอนที่ฉันติดคุกลูกก็เข้าไปกับฉัน พอฉันหนีมาจากกัมพูชา ลูกก็ต้องมากับฉัน”
เมียน ลา บอกว่า ครอบครัวของเธอหนีมาประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2563 เพื่อหนีการจับกุมจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาสนับสนุนนายสม รังสี รักษาการหัวหน้าพรรค Cambodia National Rescue Party ที่ถูกยุบไป
“ฉันไม่กล้าออกไป เพราะกลัวจะโดนตำรวจจับ” เมียน ลา กล่าว และบอกว่า เธอขอความคุ้มครองทางการเมืองจากยูเอ็นเอชซีอาร์ ในกรุงเทพฯ เมื่อสิบเดือนก่อน แต่ยังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัย
อับดุลลา ฮุซเซน ยืนหน้าประตูทางเข้าโรงแรมไอ พาวิลเลียน ภูเก็ต วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 (เบนาร์นิวส์)
อับดุลลา ฮุซเซน นักท่องเที่ยวจากกาตาร์
“ตอนที่ผมขับรถไปตามทาง... ผมถึงกับร้องไห้ นี่ประเทศไทยหรือ.. นี่มันภูเก็ตหรือ.. เมื่อก่อน มีนักท่องเที่ยวนับล้านคน... ตอนนี้ว่างเปล่า!” อับดุลลา ฮุซเซน นักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ต กล่าวกับเบนาร์นิวส์
อับดุลลา วัย 59 ปี มีอาชีพนักธุรกิจ เป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ต ตามโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่รัฐบาลหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วจากต่างแดน ให้มาเยือนหาดทรายที่ขาวละมุนและสถานที่พักตากอากาศที่งามดั่งสวรรค์
อับดุลลา บินถึงภูเก็ตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ได้เข้าพักที่โรงแรมไอ พาวิลเลียน ภูเก็ต มีกำหนดเวลา 2 สัปดาห์ ตามข้อกำหนดของโครงการ ซึ่งกำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องพักอยู่ที่โรงแรมแห่งเดียวในภูเก็ต เป็นเวลา 14 วัน แต่สามารถเที่ยวได้ทั่วเกาะ หากตรวจไม่พบเชื้อ เมื่อแรกมาถึง
อับดุลลา บอกว่า ในประเทศของตนนั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดมากนัก จัดว่าเป็นประเทศในระดับสีเขียว เพราะว่ารัฐบาลสามารถดูแลได้เป็นอย่างดี ประชาชนเองก็มีการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้ง ต้องมีใบรับรองผลตรวจโควิด หากจะออกไปห้างสรรพสินค้า
อับดุลลา เดินทางมาภูเก็ต เพราะว่าเขาหลงรักเกาะแห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อได้มาเที่ยวในครั้งก่อน ๆ โดยมาเที่ยวปีละสามถึงสี่ครั้ง ก่อนที่ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ต่อจากจีนในปี 2563
“ผมชอบอากาศที่นี่ ผมชอบตรงที่เมื่อผมเดินเที่ยว ผมรู้สึกสุขภาพดีขึ้น ผมก็เดินชมพื้นที่สีเขียว ภูเขา พบปะผู้คนที่ทักทายด้วยคำว่า สวัสดี คนไทยพูดจาด้วยอัธยาศรัยเป็นมิตร” อับดุลลา กล่าว
ฤชุภณ นพคุณ ผู้จัดการโรงแรมไอ พาวิลเลียน ภูเก็ต ยืนที่หน้าโรงแรมในการให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 (เบนาร์นิวส์)
ฤชุภณ นพคุณ อายุ 52 ปี ผู้จัดการโรงแรมไอ พาวิลเลียน ภูเก็ต (I Pavilion Phuket Hotel)
ฤชุภณ กล่าวว่า ตนได้รับผลกระทบเสียหายจากโควิดทั้งทางเศรษฐกิจและชีวิตประจำวัน ไม่สามารถไปเยี่ยมเครือญาติและไปมาหาสู่เพื่อนฝูงได้
ในตอนแรก ฤชุภณ ยังสงสัยว่าโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ จะทำได้เป็นจริงเป็นจังหรือไม่ เพราะเกรงว่านักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศอาจจะยังกลัวโควิดอยู่ แต่เมื่อดำเนินการจริง พบว่าได้ผลดีทีเดียว
โรงแรมไอ พาวิลเลียน ภูเก็ต มีห้องทั้งหมด 105 ห้อง ถูกปิดตัวลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่เมื่อทางการเปิดโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ได้ไม่กี่วัน ทางโรงแรมมีแขกเข้ามาพัก 30 ห้อง ทำให้เจ้าของมีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
เมื่อก่อนหน้านี้ การท่องเที่ยวในภูเก็ตได้รับผลกระทบหนักมาก
“ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่รายได้ส่วนใหญ่ แต่เรียกได้ว่ารายได้ทั้งหมดของภูเก็ตมาจากการท่องเที่ยว พอไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็คือ โรงแรมหลายโรงแรมในภูเก็ตปิดหมด” ฤชุภณ กล่าว
เบนาร์นิวส์ และเรดิโอฟรีเอเชีย (อาร์เอฟเอ) ภาคภาษาลาวและกัมพูชา ร่วมผลิตรายงาน และพุทธินี นิ่มพิทักษ์พงศ์ ในจังหวัดภูเก็ต ร่วมรายงาน