ผู้บัญชาการเรือนจำกลางปัตตานี: หัวโจกก่อจลาจลสองราย เคยก่อเหตุมาก่อนในเรือนจำกลางนราธิวาส
2016.07.18
ปัตตานี
ผู้บัญชาการเรือนจำกลางปัตตานี กล่าวในวันจันทร์ (18 กรกฏาคม 2559) นี้ว่า นักโทษสองรายที่เป็นตัวก่อชนวนในการประท้วงที่เรือนจำกลางปัตตานี ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสามราย เมื่อคืนวันศุกร์นั้น เป็นนักโทษที่เคยก่อเหตุจลาจลในเรือนจำกลางนราธิวาสมาก่อนแล้ว
"นักโทษกลุ่มนี้ เคยก่อจลาจลในเรือนจำกลางนราธิวาสมาแล้ว โดยเพิ่งย้ายมาที่เรือนจำกลางปัตตานีได้เพียง 2 เดือน สำหรับประมาณการค่าเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุเผาอาคาร 3 หลัง รวมประมาณ 4 ล้านบาท" นายนพพร รัตนวัย ผู้บัญชาการเรือนจำกลางปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายนพพร กล่าวเพิ่มเติมว่า "ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นแล้ว เพื่อมาทำการสอบสวนในการหาข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรือนจำปัตตานีครั้งนี้ เกิดจาก 2 คนที่กล่าวมานั้น เคยเป็นนักโทษเรือนจำนราธิวาส และเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการจลาจล ในเรือนจำนราธิวาส เมื่อปี 2554"
ซึ่งในวันนี้ เจ้าหน้าที่ ยังคงเพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยบริเวณเรือนจำกลางปัตตานี เพื่อป้องกันการก่อเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นอีก เนื่องจากในเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี ยังมีผู้ต้องขัง อีกพันกว่าคน
หลังเกิดเหตุจลาจล ในวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ย้ายผู้ต้องขัง 333 คน ไปฝากขังที่เรือนจำกลางสงขลา จำนวน 125 คน เรือนจำจังหวัดสงขลา จำนวน 45 คน ทัณฑสถานบำบัดจังหวัดสงขลา จำนวน 100 คน และเรือนจำจังหวัดนาทวี จำนวน 63 คน
ในวันเสาร์ที่ผ่านมา นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายปฏิคม วงษ์สุวรรณ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รองอธิบดี ผู้บัญชาการเรือนจำ และนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เดินทางลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ในครั้งนี้ด้วย
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เหตุการณ์จลาจลครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ตามที่มีการรายงานข่าว แต่เป็นนักโทษคดีลักทรัพย์และคดียาเสพติด
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง ที่อยู่ในเรือนจำปัตตานี 50 กว่าคน ส่วนนายมูฮำหมัด อันวาร์ หะยีเตะ ก็ไม่ได้เป็นแกนนำก่อจลาจลตามที่เป็นข่าว กลับทำหน้าที่ช่วยเป็นล่ามแปลภาษาให้กับเจ้าหน้าที่” นายชาญเชาวน์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
“ส่วนสาเหตุเกิดจากแกนนำ 2 คน คือ นายแวอุสมาน แวสือเมาะ และนายอัสฮีร่า ดอเลาะ เป็นผู้ต้องขังคดีลักทรัพย์และคดียาเสพติด ไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ปรับกฎระเบียบในเรือนจำให้เข้มงวดขึ้น ไม่ให้นำของเยี่ยมเข้าไปได้ง่ายๆ ขณะที่โทรศัพท์และยาเสพติดเป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งสองคนไม่พอใจจึงไปชักจูงคนอื่นๆ ให้มาก่อจลาจล" นายชาญเชาวน์ กล่าวเพิ่มเติม
นายชาญเชาวน์ กล่าวอีกว่า เหตุครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 7 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ต้องขัง และมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย
ผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นผู้ต้องขังชั้นดี ประกอบด้วย นายเกียรติศักดิ์ พรหมดวง นายเสริม จันขุนทร ทั้งสองคนถูกเผาในที่เกิดเหตุ และนายสุอนันท์ ป้องเศร้า ถูกแทงระหว่างเกิดจลาจล โดยปลัดกระทรวงยุติธรรมบอกว่า จะชันสูตรพลิกศพผู้ตายทุกรายตามกฎหมาย ก่อนส่งสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อไต่สวนการตาย และแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า "ได้ลงติดตามเหตุการณ์หลังจากชาวบ้านร้องเรียนมา เพราะเป็นกังวลญาติที่อยู่ข้างใน และรู้สึกเป็นกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้เข้าไปดูข้างในเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าไป"
ทางด้าน นายมูหาหมัดซิดดิบ หะยีเต๊ะ พี่ชายนายอันวา ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสมาคมนักศึกษามุสลิมในภาคใต้ ที่เบื้องต้นถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในสองแกนนำนักโทษที่ก่อเหตุจลาจล ได้กล่าวว่า ตนเองรู้สึกโล่งใจเมื่อทราบว่าน้องชายตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น
"ตอนที่ได้ทราบข่าวน้องเป็นแกนนำ จากเหตุการณ์จลาจล ที่เรือนจำปัตตานี ก็รู้สึกตกใจมาก พอตอนเช้าก็รีบมาที่เรือนจำเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง จึงได้รู้ว่าน้องชายไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ พอทราบแบบนั้นก็รู้สึกดีขึ้น" นายมูหาหมัดซิดดิบ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ส่วนนางบีเดาะ เจะโซ๊ะ แม่นักโทษคดีอาวุธปืนรายหนึ่ง กล่าวว่า เป็นห่วงลูกชายมาก ไม่รู้ว่าลูกชายเขาจะเป็นยังไงบ้าง ในขณะที่เจ้าหน้าที่บอกตอนนี้ อยู่ช่วงวันหยุดไม่สามารถเยี่ยมได้ ให้มาวันทำการ
“สิ่งที่กังวลตอนนี้ ยังไม่ได้เจอลูกชาย และต่อไปเจ้าหน้าที่ จะไม่ให้นำอาหารและของทุกอย่างเข้าไปฝากให้ลูกแล้ว ฝากเงินได้อย่างเดียว แต่ก็สามารถซื้อของที่เจ้าหน้าที่ขายได้” นางบีเดาะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์