กระทรวงยุติธรรมพิจารณาปล่อยนักโทษบางส่วน หากคุมโควิด-19 ไม่ได้
2021.05.18
กรุงเทพฯ

กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ มีแผนที่จะพักโทษผู้ต้องขังเป็นกรณีพิเศษ หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำต่างๆ ได้ เพื่อลดความแออัดและการะบาด หลังจากพบผู้ติดเชื้อนับหมื่นราย
โดยในวันอังคารนี้ เรือนจำและทัณฑสถาน ภายใต้กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 1,408 ราย จาก 9,635 เมื่อวานนี้
ขณะที่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 2,473 ราย เสียชีวิตอีก 35 ราย เป็นสถิติสูงสุดของการมีผู้เสียชีวิตในหนึ่งวัน รวมทั้งเด็กทารกอายุเพียงสองเดือน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 113,555 ราย เสียชีวิตสะสม 649 ราย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ และทัณฑสถานทั่วประเทศยังน่าเป็นห่วง จึงมีแผนที่จะปล่อยตัวชั่วคราวนักโทษบางส่วนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดการระบาด
“กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์จะพิจารณาในเรื่องของการพักโทษในรูปแบบพิเศษ จะพิจารณาเพิ่มเติม หากว่ายังไม่สามารถชะลอหรือหยุดยั้ง เชื้อโรคได้… ในขณะนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติด อยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา เชื่อว่าต้นเดือนหน้า ประมวลกฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณา จบออกมาแล้ว สมบูรณ์เรียบร้อยมันจะมีนักโทษส่วนหนึ่ง ที่ได้รับการปรับในอัตราโทษใหม่ ซึ่งผมดูแลประมาณ 5 หมื่นคน จะทำให้เรือนจำไม่ติดขัดมากมาย” นายสมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำและทัณฑสถานยืนยันเพิ่มเติมในวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,408 ราย จากผู้ต้องขังทั้งหมด 311,693 ราย โดยปัจจุบัน มีติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษา 11,670 ราย หรือ 3.74 เปอร์เซ็นต์ ในนั้น สถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือ เรือนจำพิเศษเชียงใหม่ 3,608 ราย เรือนจำพิเศษธนบุรี 2,807 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 1,851 ราย ทัณฑสถานหญิงกลาง 1,428 ราย และเรือนจำคลองเปรม 1,175 ขณะเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่ติดเชื้อและอยู่ระหว่างการรักษา 35 ราย
“กรมราชทัณฑ์ จะพิจารณานโยบายการพักโทษในรูปแบบพิเศษ เช่น การติดกำไลอีเอ็ม ให้ละเอียดรอบครอบ โดยพิจารณาสิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริง ตลอดจนสภาวะของผู้ต้องขัง เพื่อกำหนดนโยบายการพักโทษขึ้นมา รวมทั้งกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสังคมได้ประโยชน์ด้วยกัน ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานผู้ต้องขัง” นายสมศักดิ์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการระบุรายละเอียดการพักโทษดังกล่าว
ไทยเสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่ม 35 ราย ทำสถิติมากสุดในหนึ่งวัน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ไทยยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“2,473 ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เกิดขึ้นจากการติดเชื้อในประเทศ… ทำให้ตัวเลขยืนยันสะสม 113,555 ราย หายป่วย 2,718 ราย วันนี้เสียชีวิต 35 ราย ยอดรวม 649 ราย วัคซีนเข็มที่หนึ่งฉีดไป 1.5 ล้านเศษ การนอนรักษาในโรงพยาบาล 21,199 บวกกับโรงพยาบาลสนาม 21,789 ราย อาการหนัก 1,150 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ที่ 384 ราย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ทั้งนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิต 35 ราย ซึ่งมากที่สุดในการมีผู้เสียชีวิตต่อหนึ่งวันของประเทศไทย แบ่งเป็นชาย 17 ราย หญิง 18 ราย อายุน้อยสุด 2 เดือน อายุมากสุด 93 ปี พบในพื้นที่ กรุงเทพฯ 16 ราย เชียงราย สงขลา สมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย อุบลราชธานี สระแก้ว ศรีสะเกษ ระยอง ชลบุรี ปทุมธานี ชัยภูมิ ลพบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ชุมพร สระบุรี สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย
“ผู้เสียชีวิต มีความดันสูง เบาหวาน ความดันเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูง ติดเชื้อจากกลุ่มเสี่ยงครอบครัว แต่มีตัวเลขคือ ค่ากลางของอายุอยู่ที่ 68 ปี ยังเป็นคนสูงอายุอยู่ วันที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล ตั้งแต่ทราบผลถึงเสียชีวิต นานที่สุดถึง 38 วัน ค่ากลางอยู่ที่ 15 วัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม
อานนท์ได้รับรางวัลกวางจู จากเกาหลี ขณะยังถูกคุมขังและรักษาโควิด-19
ในวันเดียวกัน นายอานนท์ นำภา จำเลยข้อหา ม.112 ในคดีชุมนุม 19-20 กันยายน 2563 ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในการควบคุมตัว โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างการพิจารณาคดี และรักษาตัวจากอาการติดเชื้อโควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
“เรามีบาดแผลทางประวัติศาสตร์คล้ายกันคือ การถูกทำร้ายด้วยความรุนแรงโดยรัฐ ดังนั้นสังคมต้องหาแนวทางเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง เพื่อนำสังคมไปสู่ประชาธิปไตย” นายอานนท์ เขียนข้อความดังกล่าว หลังทราบว่าได้รับรางวัล
ในช่วงที่ผ่านมา นายอานนท์ ได้ขึ้นปราศรัยกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกในการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และเริ่มมีการพูดถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ระหว่างการปราศรัยที่ริมถนนราชดำเนิน การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทำให้ นายอานนท์ ถูกดำเนินคดี ม.112 อย่างน้อย 12 คดี
ทั้งนี้ รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มจัดขึ้นและมอบให้กับนักสิทธิมนุษยชนในปี 2543 โดยสำหรับคนไทย เคยได้รับมาแล้ว 2 ครั้ง คือ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในปี 2549 และนายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ดาวดิน ในปี 2560
ขณะที่ นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงว่า แอมเนสตี้ยินดีกับนายอานนท์ และต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวเขาเพื่อออกมาต่อสู้คดี
"เรามีความยินดีที่การทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นที่รับรู้ และได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ และยังมีผู้คนอีกมากมายที่ยึดมั่นในการทำงานเพื่อการเคารพ ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งของตัวเองและผู้อื่น การก้าวขึ้นมาร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยและแสดงความเห็นโดยสงบเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ขอบคุณนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและทั่วโลกที่ยังยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน" นางปิยนุช ระบุ
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าว