ศาลฯ สั่งให้“ชิเกตะ”เป็นพ่อตามกฎหมายเด็กอุ้มบุญ 13 คน
2018.02.20
กรุงเทพฯ

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำสั่งในวันอังคาร (20 กุมภาพันธ์ 2561) นี้) ให้เด็ก 13 คน ที่เกิดจากการอุ้มบุญของหญิงชาวไทย เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายชิเกตะ มิตซูโตกิ นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ซึ่งจากกรณีนี้ ได้นำไปสู่การร่างกฎหมายเพื่อป้องกันการอุ้มบุญเพื่อการค้าหรือการแสวงหากำไร มีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2558
นายชิเกตะกลายเป็นพ่อตามกฎหมายของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยถึง 17 คน ท่ามกลางข้อกังขาด้านคุณธรรมและจริยธรรม อย่างไรก็ตาม หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญก่อนหน้าที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ถือว่าไม่มีความผิดตามกฎหมาย และยังมีอำนาจการปกครองที่ยกลูกของตนให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นได้ด้วย
ทั้งนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง อ้างถึงผลการตรวจดีเอ็นเอที่พบว่า นายชิเกตะ เป็นบิดาโดยสายโลหิตของเด็กทั้ง 13 คน อีกทั้งยังเข้ามาดูแลรับผิดชอบอุปการะเด็กทั้งหมดมาตั้งแต่กำเนิด พร้อมทั้งแสดงแผนการเตรียมความพร้อมในการดูแลบุตรทั้งหมดเมื่อกลับสู่ประเทศญี่ปุ่น และไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งอธิบดีกรมกิจการเด็ก ในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานที่เลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้ง 13 คน มีหนังสือไม่คัดค้านการที่นายชิเกตะ ร้องต่อศาลขอเป็นบิดาตามกฎหมาย
“เห็นสมควรมีคำสั่งให้ผู้เยาว์ทั้งสิบสามคนที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องนับแต่วันที่ผู้เยาว์นั้นเกิด และเมื่อได้ความว่าหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทน มิได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้เยาว์แต่อย่างใด และทุกคนต่างทำบันทึกยอมสละอำนาจปกครองแล้ว จึงเห็นควรให้ผู้ร้องใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสิบสามคนแต่เพียงฝ่ายเดียว” คำสั่งศาลระบุ
ด้าน นายก้อง สุริยะมณฑล ทนายความของนายชิเกตะ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จากคำพิพากษาดังกล่าวทำให้นายชิเกตะ เป็นพ่อโดยชอบด้วยกฎหมาย และให้ใช้อำนาจปกครองลูกๆ ทุกคน โดยฝ่ายเดียว คดีนี้จึงถือเป็นที่สิ้นสุด และขณะนี้ ลูกความของตนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้ดำเนินการนำบุตรทั้ง 13 คน กลับประเทศญี่ปุ่นโดยเร็ว
“จากคำพิพากษาของศาล ข้อเท็จจริงยุติว่าลูกความของผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ไม่มีความผิดอาญาใดๆ มีความเหมาะสม ต้องการที่จะมีบุตรและอุปการะบุตรทุกคนจริงๆ ขั้นตอนต่อไปนี้เป็นเรื่องต้องประสานกระทรวง พม. เพื่อขอรับลูกๆ กลับมาในความอุปการะ” นายก้อง กล่าวกับสื่อมวลชน
ในวันเดียวกันนี้ นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กรณีนี้ ถือเป็นคดีแรกที่มีการขอรับบุตรที่เกิดจากการอุ้มบุญจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฎมา โดยพบว่ามีเด็กจำนวน 17 คน ที่เกิดจากการอุ้มบุญโดยการใช้น้ำเชื้อของนายชิเกตะ ที่ผ่านมากรมฯ ได้จำหน่ายเด็กออกไปแล้วจำนวน 4 คน จึงเหลือเด็กอีก 13 คน เป็นเด็กชายจำนวน 8 คน และเด็กหญิงจำนวน 5 คน อายุระหว่าง 3 ปี 8 เดือน จนถึง 4 ปี 6 เดือน ที่อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ซึ่งนายชิเกตะ ได้ส่งมารดาของตน หรือ คุณย่าของเด็กๆ มาดูแลเป็นประจำทุกๆ สองเดือน โดยมีกำหนดเยี่ยมครั้งต่อไปในวันที่ 14 มีนาคม และมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการนำตัวเด็กทั้ง 13 คน กลับญี่ปุ่นพร้อมกัน
หลังจากศาลฯ มีคำพิพากษา ทางสถานสงเคราะห์เด็กและทนายความของนายชิเกตะ จะได้เริ่มกระบวนการปรับตัวเด็กให้มีความพร้อมกับสภาพแวดล้อม เช่น ให้เรียนภาษาญี่ปุ่นและใช้ชีวิตอยู่กับพี่เลี้ยงที่นายชิเกตะจัดหามาให้ พร้อมๆ กับที่จะได้ดำเนินการจัดการเอกสารในการนำเด็กออกราชอาณาจักรในเวลาเดียวกัน ส่วนนายชิเกตะ จะมารับบุตรด้วยตัวเองหรือไม่นั้น ยังไม่แน่นอน
“อยู่ที่ความพร้อมของเด็ก อาจต้องมีการปรับตัวให้คุ้นเคยกับพี่เลี้ยงคนใหม่ที่ทางพ่อเขาจัดหามาให้ ขณะเดียวกันก็ทำเรื่องจำหน่ายเด็กออกจากสถานสงเคราะห์ ทั้งหมดได้คำนึงถึงประโยขน์สูงสุด ความผาสุขของเด็ก และสวัสดิภาพของเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งกระบวนนี้ใช้เวลาไม่เกินสิบวัน ซึ่งหลังจากนี้ ทางเราจะได้มีการติดตามผลต่อไป” นายวิทัศน์ กล่าว
คดีที่มีเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญมากที่สุดในประวัติการณ์
เดือนสิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบห้องพักแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว พบหญิงไทยและด็กทารกจำนวนมาก รวมถึงหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อาศัยอยู่รวมกันโดยที่ทั้งหมดสารภาพว่า ได้รับว่าจ้างจากชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นให้เป็นแม่อุ้มบุญของทารกทั้งหมดนี้
ผลจากการตรวจดีเอ็นเอ ยืนยันว่าเด็กทั้งหมดมีความเกี่ยวพันเป็นพี่น้องกัน ซึ่งเกิดจากการอุ้มบุญ โดยใช้น้ำเชื้อของนายชิเกตะ มิตซูโตกิ อายุ 24 ปี นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ผสมกับไข่ของแม่อุ้มบุญในห้องทดลอง ก่อนนำตัวอ่อนกลับไปฝังในมดลูกของแม่อุ้มบุญเหล่านั้นอีกครั้ง ซึ่งนายชิเกตะ เดินทางออกจากประเทศไทยทันที และไม่ได้กลับมาอีกเลย
ข้อมูลจาก อธิบดีกรมกิจการเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานว่า นายชิเกตะ มีบุตรที่เกิดจากอุ้มบุญทั้งหมด 19 คน เป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทยทั้งหมด 17 คน และประเทศกัมพูชาอีก 2 คน
ในขณะนั้น สื่อมวลชนต่างประเทศได้รายงานว่าประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการอุ้มบุญเพื่อการค้า และตั้งข้อสังสัยถึงเหตุผลในความต้องการมีบุตรจำนวนมาก รวมถึงความถูกต้องของศีลธรรม จริยธรรม
คำพิพากษาศาลฯ ตอนหนึ่งระบุว่า พฤติกรรมของนายชิเกตะ เกิดก่อนกฎหมายอุ้มบุญ ทำให้นายชิเกตะ สามารถร้องขอต่อศาลฯ สั่งให้เด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญจากการดำเนินการของนายชิเกตะเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายได้
ในขณะที่อธิบดีกรมกิจการเด็กเลี่ยงที่จะตอบคำถามเชิงคุณธรรม จริยธรรม โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า หลังจากการที่กฎหมายอุ้มบุญบังคับใช้ การกระทำในลักษณะของนายชิเกตะ จะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป และวันนี้ ศาลได้พิพากษาแล้ว ประเด็นคุณธรรม จริยธรรมจึงตกไป เพราะเป็นพ่อลูกตามกฎหมายแล้ว และนายชิเกตะเอง สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ถูกต้องตามกฎหมาย
“ตอนนี้ศาลฯ ก็สั่งให้เขาเป็นพ่อลูกกันแล้ว ต่อไปลักษณะแบบนี้ทำไม่ได้อีก และเท่าที่เรามีประวัติอยู่ เขาน่าจะมีลูกที่เกิดจากการอุ้มบุญมากที่สุด อย่างไรก็ตามเด็กควรได้อยู่กับพ่อที่แท้จริง” อธิบดีกรมกิจการเด็ก ในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานที่เลี้ยงดูเด็กทั้งสิบสามคน กล่าวทิ้งท้าย