นักสิทธิเรียกร้องมาเลเซียยกเลิกกฎหมายละเมิดสิทธิ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.08.30
กรุงเทพฯ
TH-AI-Malaysia-620 นางสาวหลิว ซุ่ย หยิน ตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย (ซ้าย) รับหนังสือจากนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ประเทศไทย ในวันที่ 30 สิงหาคม 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (30 สิงหาคม 2559) นี้ นักสิทธิมนุษยชนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียยกเลิกพระราชบัญญัติปลุกระดม (พ.ร.บ.ปลุกระดม) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ในวันนี้ ตนเดินทางยื่นหนังสือให้รัฐบาลมาเลเซียเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต่างๆ ของประชาชนในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากในวันที่ 31 สิงหาคม จะเป็นวันชาติมาเลเซีย

“พระราชบัญญัติปลุกระดมมวลชน ซึ่งจับกุมคนที่เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูน นักกฎหมาย ทนาย ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล แม้กระทั่งทนายที่มาช่วยผู้ถูกจับกุม ก็โดนจับด้วย เราก็เรียกร้องให้มีการยุติพระราชบัญญัติตัวนี้ ยกเลิกการจับกุมผู้ที่เห็นต่าง และยกเลิกกฎหมายอะไรก็ตามที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก” นางปิยนุชกล่าว

นางปิยนุช กล่าวว่า ในเดือนมกราคม 2559 แอมเนสตี้ฯ เคยเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปลุกระดม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎหมายนี้ในประเทศมาเลเซียมาแล้ว แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ในวันนี้ จึงมายื่นหนังสือเพื่อให้ประเทศมาเลเซียระลึกถึงกฎหมายที่ยังล้าหลังและละเมิดสิทธิ

“เคสที่ดังๆ คือนักเขียนการ์ตูนชื่อซูนาร์ เขาเขียนการ์ตูนล้อเลียนรัฐบาลแล้วก็ทวีตไป แล้วก็โดนเอาผิด 9 ข้อหา หรือว่านักศึกษาที่แสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ต แม้กระทั่งหัวหน้าพรรคกรรมกรก็โดน เรียกได้ว่าปีที่แล้วมีคนโดนข้อหานี้ 91 คน มากที่สุดในรอบ 50 ปี” นางปิยนุชเพิ่มเติม

ด้านนางสาวหลิว ซุ่ย หยิน ตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือเรียกร้องจากแอมเนสตี้ ได้กล่าวกับต่อตัวแทนแอมเนสตี้ฯ ว่า ขอบคุณสำหรับการเดินทางมายื่นหนังสือครั้งนี้ และขอบคุณที่ทำการเรียกร้องอย่างสงบ ไม่ทำให้สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียเกิดความกังวล

การเรียกร้องของแอมเนสตี้ฯ ครั้งนี้ เป็นการทวงถามคำสัญญาที่นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกเลิก พ.ร.บ.ปลุกระดมในปี 2554 แต่ปัจจุบัน กลับยังคงมีการใช้กฎหมายนี้อยู่ และคล้ายกับว่าจะมีความพยายามใช้มากที่สุดในปี 2558

สำหรับบทลงโทษ หากประชาชนถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ปลุกระดม และกฎหมายการสื่อสารและมัลติมีเดียจะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 ริงกิต (ประมาณ 45,000 บาท) หรือจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับผู้กระทำความผิดครั้งแรก และไม่เกิน 5 ปีสำหรับผู้กระทำความผิดซ้ำ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง