สื่อที่มีเสรีภาพช่วยเยียวยาความแตกแยกของคนไทย: ผู้ได้รับรางวัล
2017.11.15
วอชิงตัน

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวไทย กล่าวว่า เขาไม่สามารถยอมรับรัฐบาลทหารไทยว่า เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ แม้ว่าเขากำลังเผชิญข้อหายุยงปลุกปั่นอยู่ก็ตาม
อดีตคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ประเทศไทย วัย 50 ปี ผู้นี้ กำลังเผชิญคดีอาญาสองคดี ภายใต้กฎหมายต่อต้านการยุยงปลุกปั่น และกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในปี 2557 และ 2558 รัฐบาลไทยได้เรียกตัวเขาไป “ปรับทัศนคติ” สองครั้ง เพราะโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทางสื่อโซเชียล
เสรีภาพของสื่อเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย เพื่อเยียวยาความแตกแยกอย่างลึกในสังคม ประวิตรบอกแก่เบนาร์นิวส์ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์จากนิวยอร์ค ที่ซึ่งเขากำลังจะรับรางวัล เสรีภาพสื่อนานาชาติ จากคณะกรรมการปกป้องนักข่าว (Committee to Protect Journalists หรือ CPJ)
“หนทางเดียว [ข้างหน้า] คือ การพยายามเปิดใจให้กว้าง และเข้าใจผู้ที่มีความเห็นต่างจากคุณ …หากคุณจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีเสรีภาพของสื่อ หรือเสรีภาพในการแสดงออก หรือการยอมรับในความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างออกไป” เขากล่าว
เมื่อวันอังคาร Freedom House องค์กรสนับสนุนเสรีภาพสื่อที่มีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานการศึกษา โดยประเทศไทยมีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตที่ย่ำแย่ โดยระบุว่า เสรีภาพสื่อได้ลดลงจนถึงจุดต่ำสุดในปี 2560 นับตั้งแต่ที่ทหารทำรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อสามปีที่แล้ว
“ไม่จริง ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างมาก …” ปริญญา หอมเอนก สมาชิกคนหนึ่งของคณะทำงานจัดทำกฎหมายการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ บอกแก่เบนาร์นิวส์ โดยกล่าวโต้รายงานดังกล่าว
“เสรีภาพไม่ได้ถูกจำกัดและกฎหมายที่ออกมาก็ไม่ได้ล้มเหลว อย่างที่รายงานนี้นำเสนอ เพราะถ้ามันรุนแรงขนาดนั้น ป่านนี้คงมีคนติดคุกมากกว่านี้แล้ว” นายปริญญา กล่าว
ประวิตร ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ว่า
เบนาร์นิวส์: เมื่อปี 2558 คุณเขียนว่า ประชาชนไม่ควรยอมรับการปกครองของทหาร ว่าเป็นเรื่องปกติ ตอนนี้ ใกล้สิ้นปี 2560 แล้ว ประเทศไทยยอมรับการปกครองของทหารว่าเป็นเรื่องปกติแล้วหรือยัง
ประวิตร: สังคมไทยมีความแตกแยกอย่างมาก … มีคนที่สนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างจริงจัง เพียงเพราะเหตุผลที่ว่า พวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลทหารแย่น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลของยิ่งลักษณ์/ทักษิณ ชินวัตร ขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนที่ไม่สนใจเรื่องการเมืองด้วย
แต่สำหรับตัวผมเองแล้ว ในฐานะนักข่าว ผมไม่สามารถคิดถึงรัฐบาลทหารชุดนี้ ในฐานะรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือรัฐบาลปกติได้ … [ถ้า] เรายอมรับรัฐบาลทหารว่าเป็นเรื่องปกติ สุดท้ายแล้วจะเท่ากับเป็นการเชิญชวนให้ทหารทำรัฐประหารอีกในอนาคต … นี่ไม่ใช่ความเกลียดชังคนใดคนหนึ่งในรัฐบาลทหารชุดนี้ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักการ
เบนาร์นิวส์: ประเทศไทยจะเยียวยาความแตกแยกทางการเมืองได้อย่างไร
ประวิตร: ทุกวันนี้ สังคมไทยมีความแตกแยกอย่างมาก คนเกลียดกันเพียงเพราะ เขามีความเห็นทางการเมืองต่างกัน หนทางเดียว [ข้างหน้า] คือ การพยายามเปิดใจให้กว้าง และเข้าใจผู้ที่มีความเห็นต่างจากคุณ…
คุณจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีเสรีภาพของสื่อ หรือเสรีภาพในการแสดงออก หรือการยอมรับต่อความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างออกไป … ผมคิดว่า สังคมไทยจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่คิดต่างจากตัวเอง เรียนรู้ที่จะยอมรับเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพของสื่อ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหลักการพื้นฐานของสังคมที่เสรีและมีเกียรติ
เบนาร์นิวส์: มีความคืบหน้าอย่างไรบ้างเกี่ยวกับคดีสองคดีที่คุณถูกกล่าวหา
ประวิตร: ขณะนี้ สองคดีนี้ยังอยู่กับตำรวจ …ตำรวจในกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กำลังจัดการกับคดีเหล่านี้ เราคาดว่า จะมีคำวินิจฉัยออกมาภายในหนึ่งหรือสองเดือนข้างหน้านี้ ถ้าตำรวจส่งเรื่องไปยังอัยการ อัยการจะใช้เวลาสักพักในการพิจารณาคดี …
ในทางการนั้น ตำรวจบอกผมว่า นี่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลทหาร แต่ที่ไม่ใช่ทางการ เมื่อผมรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจยังกล่าวด้วยว่า นี่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ว่า ผมไม่ยอมหยุดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร
เบนาร์นิวส์: คุณจะมีวิธีการสู้คดีอย่างไร
ประวิตร: กลยุทธ์ของผมง่ายมาก เราจะต่อสู้ข้อกล่าวหาอย่างเปิดเผยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ … ผมจะไม่ต่อสู้อย่างเงียบ ๆ ผมจะใช้ประโยชน์มากที่สุดจากปัญหาหรือประสบการณ์ครั้งนี้ โดยจะถือว่า นี่เป็นโอกาสในการเรียนรู้ เพื่อเตือนให้ประชาชนตื่นตัวเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย
เบนาร์นิวส์: นอกจากเรียกตัวคุณไปปรับทัศนคติ และตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นแล้ว รัฐบาลทหารได้ทำอะไรอย่างอื่นบ้างที่กระทบต่อชีวิต และงานของคุณ
ประวิตร: เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ผมถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปกรุงเฮลซิงกิ เพื่อร่วมงานวันเสรีภาพสื่อโลก … เพื่อให้ยุติธรรมต่อเขา หลังจากนั้นเขาก็มีการยกเลิกคำสั่งห้าม … ผมไม่ต้องขออนุญาตรัฐบาล เพื่อเดินทางมานิวยอร์คในครั้งนี้
กระนั้นก็ตาม รัฐบาลทหารมีอำนาจเด็ดขาด และเราไม่ได้กำลังถูกปกครองด้วยหลักนิติธรรม แต่ถูกปกครองภายใต้กฎหมาย ที่ผมคิดว่า รัฐบาลทหารจะเปลี่ยนใจเมื่อไหร่ก็ได้ ตามใจชอบ เรากำลังอยู่ภายใต้ระบบยุติธรรมและระบบการปกครองแบบตามอำเภอใจ นี่เป็นสิ่งที่คาดการณ์อะไรไม่ได้จริง ๆ และส่งผลต่อเรา
เบนาร์นิวส์: เสรีภาพสื่อจะยังคงถูกคุกคามหรือไม่ ถ้าประเทศไทยมีรัฐบาลพลเรือน
ประวิตร: แน่นอน แต่อาจจะเป็นลักษณะไม่ใช่ตรงๆ เท่านี้ ... ผมไม่ได้หลอกตัวเอง แม้ภายใต้รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ หรือทักษิณ ชินวัตร ก็มีแนวโน้มที่จะเบี่ยงเบน หรือต่อต้านสื่อ … เราเพียงแต่ต้องเรียนรู้ที่จะสอนหรือทำให้นักการเมืองสามารถยอมรับการถูกตรวจสอบมากยิ่งขึ้น การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ได้รับประกันถึงการเคารพเสรีภาพสื่อ …
เบนาร์นิวส์: เมื่อยี่สิบห้าปีที่แล้ว ประเทศไทยมีสื่อที่มีเสรีภาพที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน เสรีภาพสื่อในประเทศไทยเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้
ประวิตร: ตามที่คุณได้พูดถึงไปแล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องเสรีภาพสื่อ ไทยเคยอยู่ในอันดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้ เราหล่นลงมามาก เพราะมีรัฐประหารสองครั้งติดกัน
แต่ผมก็เห็นหลายอย่างว่า สื่อของไทย แม้แต่พวกที่ไม่เห็นด้วยกับผม ก็ยังมีความภาคภูมิใจในเสรีภาพและอิสรภาพที่มี ในช่วงสองทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา และนี่เป็นอะไรที่รัฐบาลทหารยุคปัจจุบัน เอาไปไม่ได้
แม้เรากำลังเผชิญกับการเก็บกดถูกควบคุม แต่สถานการณ์ก็ยังคงดีกว่าในช่วงสงครามเย็น เมื่อ 50-60 ปีก่อน รัฐบาลเผด็จการในสมัยนั้น จะลากตัวนักข่าวไปเข้าคุก และทิ้งไว้ในคุกเป็นเวลาหลายปี ตอนนี้เป็นไปไม่ได้แล้ว ที่จะเกิดอะไรเช่นนั้น … ผมยังคงมีความหวังว่า ในระยะยาว เราจะบุกบั่นฝ่าฟัน จนเป็นผู้ชนะในที่สุด
เบนาร์นิวส์: เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการไล่นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ออกจากราชการ ในฐานะนักข่าวที่ทำงานในประเทศไทย คุณทำอะไรได้บ้างกับแถลงการณ์นั้น และทำอะไรไม่ได้บ้าง
ประวิตร: มีแรงกดดันอย่างมหาศาลให้ต้องเซนเซอร์ตัวเอง สำหรับเรื่องใดก็ตามที่อาจถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้ารัฐประหารในปี 2557... สิ่งที่เราทำได้อย่างน้อยที่สุด เพื่อทำสถานการณ์ให้เป็นปกติ คือ การบอกว่าไม่เพียงแค่การเซนเซอร์เท่านั้น แต่ยังต้องเซนเซอร์ตัวเองด้วย
ตัวอย่างเช่น ที่ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ที่ผมทำงานอยู่ มีข่าวที่บางครั้งเราจะ [แจ้งเตือน] ผู้อ่านว่า เราต้องเซนเซอร์ตัวเราเอง เพราะกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ …. ผมเห็นว่านั่นเป็นการก้าวไปข้างหน้า เป็นการยอมรับที่มากขึ้น โดยแม้จะเป็นเพียงสื่อไทยส่วนน้อยก็ตาม ที่จะแจ้งและเตือนให้สาธารณชนทราบว่า เราไม่มีอิสระ
วิลาวรรณ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในรายงานชิ้นนี้