ผู้นำอิสลามปัตตานีขอให้จังหวัดสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านต่อแผนสร้างพุทธมณฑล
2016.01.19

ในวันอังคาร (19 ม.ค. 2559) นี้ ผู้นำศาสนาอิสลามและนักวิชาการในปัตตานี ได้กล่าวแสดงความกังวลต่อโครงการก่อสร้างพุทธมณฑลในจังหวัดปัตตานี ซึ่งดำเนินโดยภาคเอกชนและมีทางจังหวัดเป็นที่ปรึกษา และอยากให้ทางจังหวัดสร้างความเข้าใจกับประชาชน และสอบถามความคิดเห็นก่อนการดำเนินโครงการ
นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี และประธานเครือข่ายคณะกรรมการอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า อยากให้ทางจังหวัดมีการทำความเข้าใจและสอบถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ ก่อนที่จะมีการสร้างพุทธมณฑลปัตตานีขึ้น
“สำหรับคนมุสลิม การสร้างพระพุทธรูปในพื้นที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ มุสลิมที่นี่รับไม่ได้ที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่ ยังมีอะไรที่จะต้องร่วมกันพัฒนาพื้นที่อีกมาก เพื่อนำความเจริญ ความสุข มาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงอยากให้หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องคิดทบทวน เพื่อความสงบสุขของคนในพื้นที่” นายแวดือราแม กล่าว
นายแวดือราแม ยังกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี มีการสร้างวัดขึ้นมาใหม่หลายแห่ง มุสลิมก็ไม่ได้ต่อต้าน ถือว่าเป็นสิทธิของความเชื่อของแต่ละศาสนา เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
“ตลอดที่ผ่านมาเราเหมือนพี่น้องกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นดินแดนพาหุวัฒนธรรม แต่กรณีการสร้างพุทธมณฑลในพื้นที่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะที่นี่เป็นชุมชนมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ล้อมรอบ ไม่ควรที่จะให้เกิดความรู้สึกไม่ดีระหว่างพี่น้องมุสลิมกับพี่น้องไทยพุทธ” นายแวดือราแม กล่าว
ทางด้าน ผศ. วรวิทย์ บารู ประธานกรรมการเครือข่ายสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย และอดีตวุฒิสมาชิก ปัตตานี กล่าวว่า การสร้างพุทธมณฑลไม่น่าจะเหมาะสม เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดปัตตานีนับถือศาสนาอิสลาม
“เป็นเรื่องที่สร้างได้ เพราะถ้าคิดแค่ว่ามีอำนาจอยู่ในมือ แต่ถ้าดูความเหมาะสมแล้วมันไม่น่าจะเหมาะสม” ผศ.วรวิทย์ กล่าว
“ควรสอบถามประชาชนในพื้นที่ต่อกรณีการสร้างพุทธมณฑล แต่ที่อยากถามผู้ที่เกี่ยวข้องว่า สร้างเพื่ออะไร มันมีความสำคัญต่อพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธอย่างไร เพราะยังมีกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมทางพุทธศาสนาอีกหลายทาง มากกว่าที่จะมุ่งเน้นเพียงแค่สัญลักษณ์ของความเป็นพุทธศาสนา ซึ่งอาจกลายเป็นปมของความขัดแย้ง” ผศ.วรวิทย์ กล่าว
“อย่าคิดว่าประชาชนไม่ออกมาเดินขบวน คิดว่าประชาชนจะเห็นด้วย เราไม่ควรที่จะผลักให้ประชาชนกลับไปอยู่กับอีกฝ่ายโดยที่ไม่จำเป็น วันนี้ เรากำลังสร้างบรรยากาศปรองดอง เพื่อสันติภาพ จึงอยากให้ทุกคนทุกฝ่ายควรที่จะตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก” ผศ.วรวิทย์ กล่าวเพิ่มเติม
ผศ.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลในอดีตและปัจจุบัน ได้ถือข้อเท็จจริงที่ว่าปัตตานีมีความสำคัญในทางศาสนาอิสลาม เกิดการพัฒนาเป็นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยเฉพาะการแปรรูปอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก ดังนั้น การที่จะมาสร้างอะไรก็แล้วแต่ที่เปลี่ยนสัญลักษณ์ไปจากเดิม อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อความพยายามพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และส่งผลต่อบรรยากาศในเวทีการพูดคุยสันติสุขที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น
ทางด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีโครงการจัดสร้างพุทธมณฑล ที่จังหวัดปัตตานี ในวันนี้ว่า ทางจังหวัดยังไม่ได้ขออนุญาตผ่านกระทรวงมหาดไทยมา จึงยังไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่จะตัดสินใจอนุญาต
“สร้างหรือยัง? ใครสร้าง? แล้วขออนุญาตใคร? แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดต้องขอใคร? กระทรวงมหาดไทยรู้หรือยัง? เพราะถ้าเป็นโครงการจะเสนอมาต้องเสนอผ่านกระทรวงมหาดไทยเข้าใจหรือเปล่า มันเป็นงานของกระทรวงมหาดไทย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล
“อะไรที่ทำให้เกิดความเข้าใจได้ ก็ไปหาทาง ไม่ใช่อะไรก็กลับมารัฐบาลทำ แล้วจะเข้าข้างใคร เข้าข้างนี้ข้างนี้ก็เสียหาย เข้าอีกข้างก็เสียหาย ตนเพียงแต่จะทำอย่างไรให้สองศาสนาไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน ศาสนาเดียวกันยังขัดแย้งเลย เวลาไปสร้างอะไรของพุทธไปตั้งในมุสลิม แล้วเวลามุสลิมไปไทยพุทธก็ต้านอีก เอาอย่างไรตกลงกันให้ดี” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
โครงการพุทธมณฑลปัตตานี บนเนื้อที่ 100 ไร่
ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559 คณะดำเนินการโครงการพุทธมณฑลปัตตานีและเจ้าหน้าที่ จังหวัดปัตตานี ได้ร่วมประชุมที่ห้องประชุมวัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง อำเภอเมืองปัตตานี โดยมี นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมหารือ มี นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พระสิริจริยาลังการ เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
โครงการพุทธมณทลปัตตานี เป็นโครงการที่คิดขึ้นโดยภาคเอกชน และมีภาครัฐเป็นที่ปรึกษา มีแผนการที่จะสร้างขึ้นบนที่ดินขนาด 100 ไร่ ที่เป็นที่ดินที่งอกบริเวณปากอ่าวปัตตานี
ที่ประชุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ได้มีการชี้แจงถึงความคืบหน้าของโครงการ และเสนอใช้พื้นที่ที่อยู่ด้านหลังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ปัตตานี หมู่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีเป็นที่ตั้ง พร้อมมีการพิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษา และคณะกรรมการจัดตั้งพุทธมณฑลปัตตานี ฝ่ายต่างๆ การพิจารณารูปแบบของสังเวชนียสถาน 4 ตำบล การพิจารณารูปแบบพระประธาน รูปแบบฐานองค์พระประธาน รวมทั้ง รูปแบบการระดมทุน
ทางเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบงานโครงการท่านหนึ่งกล่าวว่า โครงการได้รับความร่วมมือจากบริษัทไปรษณีย์ไทย ในการออกไปรษณียบัตรเพื่อจำหน่ายให้ผู้ร่วมทำบุญได้จัดซื้อหรือร่วมบริจาคเงิน และตอบกลับไปรษณียบัตร ถึงเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี ใบละ 20 บาท ทำทั้งหมดหนึ่งล้านใบ คาดว่าจะมีเงินบริจาคประมาณ 160-170 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้สร้างพุทธมณฑลปัตตานี โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาลเลย
“ยอมรับว่า ชื่อ พุทธมณฑลปัตตานี ฟังดูยิ่งใหญ่มาก แต่ถ้าประชาชนรู้สึกไม่สบายใจ ทางจังหวัดมีการพูดคุยกันแล้วว่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น เจดีย์รวมใจคนทั้งชาติ เพราะสิ่งที่เราจะสร้างนี้ เป็นการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้น และทำเป็นสถานที่พักผ่อนของคนที่ต้องการความสงบ” เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามท่านเดียวกันกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
เจ้าหน้าที่ท่านเดียวกันกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ทั้งที่คิดกันมาตั้งแต่ปี 2545 ตอนแรก มีการคุยกันว่า จะสร้างขึ้นที่บ้านมะพร้าวต้นเดียว อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีคนค้าน ต่อมาก็มีการเสนอที่ดินที่งอกขึ้นมาอยู่ด้านหลังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ปัตตานี ซึ่งก็ยังเป็นแค่การพูดคุย ในขณะนี้ ยังไม่ได้มีการเริ่มดำเนินการใดๆ
ด้านนายศราวุธ ศรีส่ง ชาวไทยพุทธในจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า “การสร้างพุทธมณฑลปัตตานี ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะว่า ไทยพุทธ-มุสลิม เป็นเพื่อนกัน เวลามีกิจกรรมทางศาสนาก็มีการช่วยเหลือกัน แต่ทางจังหวัดควรชี้แจงว่าการสร้างนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์สาธารณะ เช่นว่า ทำเป็นสวนสาธารณะไปด้วย”
นางฮาสือนะ แวดอเลาะ อายุ 45 ปี ชาวบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “ก็รู้สึกไม่ค่อยดี ถ้าจะมีการสร้างในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ขนาดนั้นที่ปัตตานี เพราะปัตตานี เมื่อทุกคนได้ยิน ก็จะมีเรื่องของประวัติศาสตร์ คิดว่าถ้าไปทำในที่อื่นที่ไม่ใช่ปัตตานี ความรู้สึกจะอีกแบบ”