ยูเอ็นเรียกร้องรัฐบาลไทย ปรับปรุงนโยบายลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2018.04.04
กรุงเทพฯ

คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงนโยบาย และหามาตรการในการลดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยให้มีความสอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แต่ในขณะเดียวกัน ได้แสดงความชื่นชมที่รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นเพื่อเป็นผู้นำในภูมิภาค ในด้านการสร้างความสมดุลระหว่างการทำธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา
ในวันพุธนี้ นายแดนเต เพสซ์ (Dante Pesce) รองประธาน คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Working Group on the Issues of Human Rights and Transnational Corporations and Other Business Enterprises) ได้แถลงถึงการสรุปผลการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในการศึกษาความพยายามในการป้องกัน บรรเทา และเยียวยา ผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อสิทธิมนุษยชน ในระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึง 4 เมษายน ศกนี้ ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการดำเนินธุรกิจที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลไทยมีความตื่นตัวในการขจัดปัญหาด้านการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งทางคณะทำงานฯ เห็นว่ารัฐบาลไทยควรดำเนินการแบบเดียวกันในธุรกิจด้านการเกษตร ก่อสร้าง พลังงาน และการผลิต
“รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจต่างๆ ควรมีการพัฒนาปรับปรุงนโยบาย รวมถึงมาตรการในการบรรเทา ลดความเสี่ยงในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยให้มีความสอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights - UNGP) รวมไปถึงการลงทุนของบริษัทไทยในโครงการขนาดใหญ่ในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้” นายแดนเต เพสซ์ กล่าวในการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในกรุงเทพ
ในการเยือนครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในคณะทำงานฯ ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย รัฐวิสาหกิจ เอกชน จากหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมไปถึงสมาคมธุรกิจ องค์กรประชาสังคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหภาพแรงงาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับผลกระทบ แรงงานข้ามชาติ สมาชิกของชนกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ และนักวิชาการ รวมกว่า 250 คน เพื่อศึกษาถึงสถานการณ์ การดำเนินการตามพันธกรณีและหน้าที่ในการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยสอดคล้องกับหลักแนวทางของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างไร รวมถึง ความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เนื่องจาก ประเทศไทยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น เกษตรกรรม ประมง ปาล์มน้ำมัน โทรคมนาคม การเงิน การพลังงาน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันทั่วโลก ซึ่งต้องมั่นใจว่า บริษัทที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยและต่างประเทศจะไม่กระทำการใดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
อนึ่ง เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization - ILO) ระบุว่า สถานการณ์แรงงานต่างด้าวในภาคประมงไทยดีขึ้น แต่ยังพบการละเมิดสิทธิลูกจ้างแรงงานต่างด้าวในบางประการ
“ผมมั่นใจว่าสถานการณ์ด้านความเป็นอยู่และการทำงานของแรงงานต่างด้าวมีสภาพที่ดีขึ้น และรัฐบาลไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างแรงกล้า ในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติให้เท่าเทียมกับแรงงานไทย” นายจักรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์เบนาร์นิวส์ หลังจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้ออกมาระบุว่า สถานการณ์แรงงานต่างด้าวดังที่กล่าวมา
คสช. ใช้กฎหมายปิดปากภาคประชาสังคม
อย่างก็ตาม นายสุรยา เดวา ผู้เชี่ยวชาญในคณะทำงานฯ ได้ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับรายงานที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีกับภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สหภาพแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวในประเทศไทย เพื่อกดดันให้ยุติการทำกิจกรรมที่ขัดกับคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) หรือที่เรียกว่า กฎหมายปิดปาก SLAPP CASE และมีการปรับทัศนคติกับบุคคลดังกล่าว
“เราขอให้รัฐบาลยุติการกระทำเหล่านี้ และเรียกร้องให้มีการคุ้มครองภาคประชาชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากคดีหมิ่นประมาท ทั้งทางแพ่งและทางอาญาที่ยื่นฟ้องเพื่อปิดปาก SLAPP CASE” นายสุรยา กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานแถลงข่าว
นายสุรยา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คณะทำงานฯ เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมประมง แต่ยังมีงานอีกมากที่รัฐบาลจะต้องทำ เช่น การขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวได้ลงทะเบียนเพื่อทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย รวมถึงการอนุญาตให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานข้ามชาติ การให้ความคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย รวมถึงเรื่องความเสมอภาคทางเพศ
“รัฐบาลไทยควรมีมาตรการในการรับเรื่องร้องเรียนการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ของผู้ที่มีอาชีพให้บริการทางเพศ แม้ว่าอาชีพนี้จะผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลควรหาช่องทางทางกฎหมายให้ผู้ที่ทำอาชีพนี้ได้รับความคุ้มครอง เพื่อปกป้องการถูกล่วงละเมิด” นายสุรยา กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังระบุด้วยว่าข้อเสนอต่างๆ มาจากการสังเกตุเบื้องต้นในระยะเวลาการเยือนอย่างเป็นทางการเพียง 10 วัน และคณะทำงานฯ ยินดีเป็นอย่างมากที่รัฐบาลไทยได้เปิดให้มีการพูดคุยถึงข้อท้าทายที่ยังมีอยู่ เพื่อพิจารณาในการจัดการแก้ไข ซึ่งจะถูกบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการระดับชาติต่อไป ซึ่งรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะทำงานที่จะระบุข้อค้นพบพร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ จะถูกนำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในเดือนมิถุนายน 2562