สหประชาชาติขอร้องไทยแก้ ม.112

อวิกา องค์รัตนะคณา และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.06.14
กรุงเทพฯ
TH-protest-1000 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินประท้วงผู้บริหารฯ ที่สั่งห้ามใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย ในการรณรงค์ให้รัฐแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 ก.พ. 2555
บางกอกโพสต์/เอเอฟพี

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ (The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights - OHCHR) ได้ออกแถลงการณ์ในวันอังคารที่ผ่านมา เรียกร้องให้ประเทศไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง โดยระบุว่า กฎหมายหมิ่นฯ มีโทษที่รุนแรงเกินไป และการใช้กฎหมายนี้ยังเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองด้วย ซึ่งเป็นกติกาที่ไทยเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2539

หลังจากที่นายวิชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี จำเลยในความผิดหมิ่นเบื้องสูงถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลา 70 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 30 ปี 60 เดือน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นโทษที่หนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ด้านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายที่ไว้ใช้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการถูกกล่าวร้าย

เมื่อช่วงเย็นของวันอังคาร สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ หรือ โอเอชซีเอชอาร์ ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจระบุว่า สหประชาชาติมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ของประเทศไทยมาก เนื่องจากสถิตินับตั้งแต่ปี 2557 ระบุว่า จำนวนผู้ถูกตัดสินลงโทษจากความผิดตามกฎหมายหมิ่นฯเพิ่มมากขึ้น ถูกพิพากษาโทษที่รุนแรงขึ้น และการพิจารณาคดียังเกิดขึ้นในศาลทหารแทนที่จะเป็นศาลพลเรือน

“สำนักงานของพวกเราตระหนักถึงประเด็นที่มีความซับซ้อนและอ่อนไหวที่รายล้อมกฎหมายหมิ่นฯ ของไทย พวกเรากังวลใจกับอัตราการดำเนินคดีและการพิพากษาด้วยโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงการวิจารณ์บุคคลสาธารณะด้วย การกักขังบุคคล เพียงเพราะเขาใช้เสรีภาพนั้น ละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” บางส่วนของแถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุว่า การใช้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) มาตราที่ 19 ซึ่งเป็นกติกาที่ไทยเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2539 และในปี 2560 โอเอชซีเอชอาร์เห็นว่า ประเทศไทยควรทบทวนการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับมาตราที่ 19 ของข้อกติกาข้างต้นด้วย

โอเอชซีเอชอาร์ยังระบุว่า มีความกังวลกับการที่ประเทศไทยพิจารณาคดีหมิ่นฯในศาลทหาร การพิจารณาคดีหมิ่นฯทางลับ การที่จำเลยส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และการที่จำเลยบางรายที่ถูกฝากขังเป็นระยะเวลานานก่อนถึงการพิจารณาคดี

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ และขอให้ทำการทบทวนคดีหมิ่นที่เคยถูกตัดสินไปแล้วทั้งหมดด้วย” นายรูเพิร์ท คอลวิลล์ โฆษกสํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุผ่านแถลงการณ์

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 นายวิชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี ชาวเชียงใหม่ ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก 70 ปี จากความผิดข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากที่ในปี 2558 ถูกจับกุมตัวจากการปลอมเฟซบุ๊ค โดยใช้ชื่อบุคคลอื่น เพื่อโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นฯจำนวน 10 ครั้ง

อย่างไรก็ดีศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุก 7 ปีต่อ 1 กรรม จากการกระทำผิด 10 กรรม แต่ลดโทษกึ่งหนึ่ง เนื่องจากนายวิชัยรับสารภาพ เหลือจำคุก 3 ปี 6 เดือนต่อ 1 กรรม นายวิชัยจึงถูกตัดสินลงโทษเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 30 ปี 60 เดือน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ ถึงประเด็นดังกล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่เห็นว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ใช้ป้องกันการกล่าวร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นปัญหาอย่างที่ชาวต่างชาติกังวล โดยเชื่อว่า กฎหมายของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ

“หลักการของมาตรา 112 ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่ากฎหมายเรื่องของการหมิ่นประมาท คือใครพูดจาให้ร้าย กล่าวเท็จ ใส่ความ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ พระองค์ท่านทุกพระองค์ไม่เคยลงมาฟ้องร้องว่ามีใครกล่าวร้าย กล่าวเท็จทำให้ท่านเสียหาย ในฐานะคนไทยก็ต้องมีอะไรที่ปกป้องท่าน” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

“เพราะฉะนั้นหลักการอย่างนี้มันผิดหลักสิทธิมนุษยชนตรงไหน ถ้าผิดหลักสิทธิมนุษยชน มันต้องไม่มีกฎหมายเรื่องของการหมิ่นประมาททั่วโลก อย่างที่ท่านนายกฯ เคยพูด กฎหมายหนึ่งฉบับไม่สามารถใช้ได้กับทุกประเทศทั่วโลก” พล.ท.สรรเสริญกล่าวเพิ่มเติม

จากสถิติที่เก็บโดยสหประชาชาติระบุว่า ระหว่างปี 2554-2556 มีผู้ถูกสอบสวนในคดีหมิ่นฯ 119 คน ในนั้นมีคดีที่ได้รับการยกฟ้องเพียง 24 เปอร์เซนต์ ขณะที่ในช่วงปี 2557-2559 มีผู้ถูกสอบสวนคดีหมิ่นฯถึง 285 คน แต่กลับถูกพิพากษายกฟ้องเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง