พลเอกประยุทธ์ยืนยันกับสหรัฐฯ จะประกาศวันเลือกตั้งในปี 61

อวยพร สถิตย์ปัญญาพันธุ์
2017.10.04
วอชิงตัน
171004-TH-prayuth-1000.jpg ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ร่วมการประชุมในห้องรูปไข่ของทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดีซี วันที่ 2 ตุลาคม 2560
เอเอฟพี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันต่อแขกผู้ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำของ สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน และสภาหอการค้าสหรัฐฯ เมื่อค่ำวันอังคาร ว่า จะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 แน่นอน และปัจจุบัน กำลังแก้ปัญหาภายในประเทศ เพื่อวางกฎระเบียบสำหรับประชาธิปไตย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า รัฐบาลของตนเองกำลังดำเนินการแก้ปัญหาในประเทศ เพื่อเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย และยืนยันว่า การเข้ามาของ คสช. ไม่กระทบด้านธุรกิจการค้า และไม่ได้ต้องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“สิ่งที่ท่านต้องการเห็นเป็นประชาธิปไตย มันมาแน่นอน ผมยืนยันในปีหน้า ผมประกาศวันเลือกตั้งแน่นอน… วันนี้เราพูดกันมา 3 ปีแล้ว ท่านก็เห็นแล้วเรามีความตั้งใจขนาดไหน ในการที่จะแก้ไขสถานการณ์ แก้ไขปัญหา ตั้งกฎระเบียบออกมาใหม่ การลงทุนสิทธิประโยชน์มากมาย ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายสำหรับประเทศไทย เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างนี้มานานแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ขณะที่ในวันพุธ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ประเทศไทยจะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 แต่ไม่ได้ยืนยันว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีเดียวกันนั้น

“ปีหน้าจะประกาศวันเลือกตั้ง หลังจากที่กฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นไปตามโรดแมป พอกฎหมายเสร็จก็นับไป 150 วัน ก็เป็นวันที่จะประกาศ” พล.อ.ประวิตรกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการทำงานของคณะรัฐบาลที่ผ่านมา ในงานเลี้ยงรับรองที่มีนักธุรกิจนักลงทุน นักการทูต ผู้แทนรัฐบาล และสื่อจากหลายสำนัก

“ผมไม่เคยไปทำอะไรกับธุรกิจการค้าของใครเลยในประเทศไทย มีแต่ทำให้ดีขึ้น หน้าที่ของผมคือ เอาทุกอย่างที่เป็นปัญหา ทุกอย่างที่เป็นอุปสรรค ทุกอย่างที่เป็นความขัดแย้ง มาแก้ปัญหา… ไม่ได้ต้องการที่จะใช้อำนาจ หรือมาละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมาจำกัดเสรีภาพของคนทั่วๆไป คนไทย 90 เปอร์เซนต์ไม่ได้เดือดร้อนกับผม มีคนอยู่ไม่กี่พวกที่เดือดร้อน เพราะเขาทำผิดกฎหมาย”

พันธมิตรทางความมั่นคงที่เข้มแข็ง

ความร่วมมือทวิภาคีเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคง ยังอยู่ในวาระการพบปะของพลเอกประยุทธ์ครั้งนี้

"เราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมมือกันในการป้องกันความมั่นคง เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนของเราจะได้รับการปกป้องจากการก่อการร้ายและภัยคุกคามอื่น ๆ" พลเอกประยุทธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าว ก่อนการประชุมที่ทำเนียบขาว

แถลงการณ์ร่วมที่ออกโดยผู้นำทั้งสองหลังจากนั้น ได้เรียกร้องให้มีการรวมตัวของพันธมิตรที่เข้มแข็งขึ้น ในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ในประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัย ทั้งพลเอกประยุทธ์ และนายทรัมป์ได้พูดคุยถึงประเด็น ทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี และวิกฤตชาวโรฮิงญาในประเทศเมียนมา และบังคลาเทศ

ทั้งสองเล็งเห็นความสำคัญของทะเล ว่าเป็นเส้นทางหลักในการเดินเรือระหว่างประเทศ

"พวกเขาเห็นด้วยว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางในการร่วมมือกัน ในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในทะเลจีนใต้" แถลงการณ์ร่วมกล่าว

ผู้นำทั้งสองยังได้แสดงความวิตกอย่างมากเกี่ยวกับ การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ และได้เรียกร้องให้มีการใช้มติความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้คาบสมุทรเกาหลี เป็นสถานที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์

ทั้งสองยังกล่าวถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮิงญา ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมา

พลเอกประยุทธ์ และ นายทรัมป์ กล่าวว่า พวกเขาอยากจะเห็น "ความมุ่งมั่นของรัฐบาลเมียนมา ในการยุติความรุนแรง [และ] และให้ความมั่นใจว่า ผู้ลี้ภัยจะกลับมาอย่างปลอดภัย"

แถลงการณ์ร่วมยังระบุอีกว่า ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความพยายามของไทยในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์

ส่วนด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เราพยายามจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ให้ได้ในปีต่อไปให้ถึง 8500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีหลายสิ่งที่ต้องซื้อระหว่างกัน” กล่าวเพิ่มต่อ “และยังมีนักลงทุนนักธุรกิจไทยกว่า 20 บริษัทขนาดใหญ่ ลงทุนในสหรัฐอเมริกาประมาณ 6000 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างงานประมาณ 5-6 หมื่นคน วันนี้เรามีแผนจะลงทุนเพิ่ม 8300 ล้านเหรียญ จ้างงานอีกประมาณ 62000 คน เริ่มงานไปส่วนหนึ่งแล้ว ในเรื่อง ปิโตรเคมี เกษตรและอาหารแปรรูป สินค้าประมง...”

“การพัฒนาแรงงานสู่การพัฒนาระดับสากล เพื่อตอบสนองบริษัทต่างๆที่มีในประเทศไทย เพราะเป็นความต้องการแรงงานทั้งมีฝีมือและไม่มี การจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ... การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งผมถือว่าเป็นภัยร้ายแรง ผมดำเนินการอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ไม่ว่าส่วนเจ้าหน้าที่ จะต้องถูกลงโทษ .. รวมทั้งการดูแลเหยื่อด้วย ในเรื่องการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ขาดการควบคุม เหล่านี้เราดูทั้งหมด มีผลกระทบกับคนไทยทั้งสิ้น”  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแก่ผู้เข้าร่วมงานหลังอาหารค่ำ ในงานเลี้ยงรับรองนายกรัฐมนตรีไทย และคณะ

พล.อ.ประยุทธ์เดินทางเยือนสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 ถือเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกในรอบ 12 ปีที่เดินทางเยือนสหรัฐฯ และได้เข้าหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการเดินทางเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯซึ่งได้มีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560

นอกจากนายกรัฐมนตรี ยังมีรัฐมนตรีหลายคนร่วมเดินทางประกอบด้วย คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นต้น

สำหรับประเด็นการหารือร่วมระหว่างผู้นำไทยและสหรัฐฯ เน้นที่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านต่างๆ โดย บริษัท สยามซีเมนต์ กรุ๊ป (SCG) จะซื้อถ่านหินจากบริษัทเอกชน สหรัฐฯ โดยเตรียมลงนามการซื้อถ่านหินจากภาคเอกชนสหรัฐฯ 2 ฉบับ รวมจำนวน 155,000 ตัน

การซื้อขายอาวุธหลังจากที่สหรัฐฯระงับการขายอาวุธให้ไทยเมื่อมีการทำรัฐประหารในปี 2557 พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า ไทยจะซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ตามแผนงานเดิมก่อนรัฐประหาร โดยมีแผนจัดซื้อ เฮลิคอปเตอร์โจมตี คอบร้า เพื่อทดแทนรุ่นเก่าที่ใกล้ปลดระวางแล้ว แผนซื้อขีปนาวุธฮาร์พูน 5 ลูก และเฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์ก 4 ลำ

ไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์อย่างยาวนานกว่า 200 ปี โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2376 จากที่ทั้งสองฝ่ายมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ๊คสัน และได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน

หลังการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 22 พฤษภาคม 2557 ความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ตกต่ำลง อย่างมาก โดยทันทีหลังเกิดการรัฐประหารทางการสหรัฐอเมริกาตัดสินใจระงับเงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไทยในเบื้องต้น 3.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 112 ล้านบาท และทบทวนความช่วยเหลือระดับทวิภาคีต่อไทย มูลค่า 7 ล้านดอลลาร์ หรือราว 224 ล้านบาท และความช่วยเหลือจากโครงการระดับสากลและระดับภูมิภาคเป็นลำดับต่อไป ก่อนกลับมาฟื้นฟูความช่วยเหลืออีกครั้งในปี 2560 นี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง