เหยื่อ นักสิทธิ นักวิชาการ: ไทยควรปฎิรูปกฎหมายเพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน
2016.06.29
กรุงเทพฯ

ครอบครัวเหยื่อการซ้อมทรมาน ทนายความ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน ร่วมเสวนาเสนอประเทศไทยปฎิรูปกฎหมายเพื่อป้องกันการซ้อมทรมานจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด โดยหน่วยงานที่มีความเป็นกลาง และต้องมีมาตรการเยียวยาเหยื่อการซ้อมทรมานอย่างเป็นระบบ
ในวันพุธ (29 มิ.ย. 2559) นี้ องค์กรสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล และองค์กรสิทธิมนุษชนหลายองค์กร ร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ “กฎหมายป้องกันทรมานกับความยุติธรรมที่รอคอย” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล สภาพความเป็นจริงที่ครอบครัวของเหยื่อได้รับ และความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานในประเทศไทย โดยมีผู้ให้ความสนใจ และสื่อมวลชนเข้าร่วมกว่า 100 คน การเสวนาเริ่มต้นขึ้นด้วยการเปิดโอกาสให้ครอบครัวของผู้ถูกซ้อมทรมาน และอดีตผู้ถูกซ้อมทรมานเล่าสภาพจริงที่เกิดขึ้น
เหยื่อการซ้อมทรมานเล่าเหตุการณ์จริง
นางบุญเรือง สุธีรพันธุ์ แม่ของสิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 โดยเชื่อว่าถูกซ้อมทรมานในค่ายวีระวัฒน์โยธิน มณฑลทหารบกที่ 25 จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ก่อนลูกชายจะเสียชีวิต ตนได้พยายามขอเข้าเยี่ยมหลายครั้ง แต่กลับถูกปฎิเสธ จนกระทั่งได้รับแจ้งข่าวจากทหารว่าลูกชายได้เสียชีวิตลงแล้ว
“ลูกฉันตายโดยผิดปกติ เมื่อวานไปเยี่ยมไม่ให้เยี่ยม แต่วันนี้โทรมาบอกว่า ลูกชายดิฉันตาย ฉันรับไม่ได้ ก็เอาผ่าพิสูจน์ พอหมอแจ้งผลมา ดิฉันก็เอาใบพิสูจน์ศพไปแจ้งความว่า ลูกดิฉันถูกเขาฆ่า ตอนนี้ ดิฉันอยากทราบว่า ลูกดิฉันรับราชการ และอยู่ในมณฑลทหารบกคิดว่าปลอดภัย แต่ทำไมลูกดิฉันต้องตาย” นางบุญเรือง กล่าว
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสุรินทร์ ได้จับกุมตัวสิบโทกิตติกร ในข้อหาให้ที่พำนัก ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดให้ผู้ที่หลบหนีจากการคุมขังตามอำนาจของศาลเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม โดยหลังจากจับกุมสิบโทกิตติกร ได้นำตัวส่งไปยังค่ายวีระวัฒน์โยธิน
หลังจากนั้น ครอบครัวและทนายความได้พยายามขอประกันตัว และขอเข้าเยี่ยม แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันและเข้าเยี่ยม โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบอ้างว่าเป็นคำสั่งของหัวหน้า จนกระทั่งสิบโทกิตติกรเสียชีวิต จากการหนาวตาย แต่บนร่างของสิบโทกิตติกรกลับพบรอยฟกช้ำตามใบหน้า และลำคอ
ในอีกกรณีหนึ่ง นางวาสนา แก้วเกิด แม่ของนายอนัน แก้วเกิด ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2558 กล่าวว่า ครอบครัวเคยได้รับการเสนอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้รับเงินช่วยเหลือ และยุติการเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีการเสียชีวิตของนายอนันหลายครั้ง แต่เธอปฎิเสธ เนื่องจากต้องการทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของลูกชาย
นายอนัน แก้วเกิด ถูกจับกุมตัวข้อหายาเสพติด เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 โดยเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สำนักงานตำรวจภูธร จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ครอบครัวได้รับแจ้งว่านายอนันเข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครราชสีมาด้วยสภาพร่างกายบอบช้ำ สื่อสารไม่ได้ จนกระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 จากการเปิดเผยผลการตรวจพลิกศพพบว่า บาดแผลบนร่างกายนายอนัน เกิดจากการถูกทำร้าย ทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง จนกระทั่งเสียชีวิต
“พอใบชันสูตรออกมา ก็มีพวกตำรวจมาหาฉัน นัดให้มาคุยว่า คุณแม่ไหนๆ คนก็ตายไปแล้ว พวกผมอยากจะช่วยทำบุญสักแสนนึง... แต่เขาพูดทำนองว่า ถ้าหากฉันรับเงินแสนนึง เขาก็จะให้เซ็นโน่นเซ็นนั่น... พออีกครั้งเขาก็ให้ไปคุยที่อำเภอ มีตำรวจมากบอกว่า คุณแม่ไหนๆ คนก็ตายไปแล้ว เราจะมาร่วมทำบุญกันเขาจะให้สามแสน... ครั้งสาม มาอีกเขาจะให้ห้าแสน...” นางวาสนา เล่าให้ผู้ร่วมสัมมนาได้รับฟัง
นายอิสมาแอ เตะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี กล่าวว่า เขาเป็นผู้หนึ่งซึ่งเคยถูกซ้อมทรมาน ทำให้หลังจากรอดชีวิตมา เขาเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับชะตากรรมเดียวกัน แต่การให้การช่วยเหลือประชาชนที่ถูกซ้อมทรมาน ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่มองในแง่ลบอย่างมีอคติ เนื่องจากให้การช่วยเหลือเฉพาะฝั่งประชาชน ไม่ได้ให้การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิตจากการถูกโจมตีจากกองกำลัง
“เราถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ว่า เราเป็นองค์กรที่เลือกข้าง องค์กรที่จัดตั้งของขบวนการ... มีวันหนึ่งเจ้าหน้าที่ได้โทรหาผมว่า คุณเป็นองค์กรลับรึเปล่า เป็นองค์กรจัดตั้งของบีอาร์เอ็นรึเปล่า เพราะว่าเราช่วยชาวบ้านโดยตรง” นายอิสมาแอเพิ่มเติม
สภาพจริงของการแสวงหาความเป็นธรรม และทางออกในการแก้ปัญหาซ้อมทรมาน
นายสมชาย หอมลออ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ปัจจุบัน การให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อการซ้อมทรมานยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาว่าซ้อมทรมาน มักเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังทำหน้าที่ และมีอำนาจ
“คนที่แสวงหาหรือเป็นเหยื่อเอง ในการแสวงหาความยุติธรรมนั้น มีความยากลำบากมาก เพราะการทรมานเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสำคัญที่สุดของประเทศไทย คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐยังเป็นผู้ที่มีอำนาจอยู่ การสอบสวนก็ไม่สามารถทำได้อย่างมืออาชีพแล้วก็เป็นอิสระ” นายสมชายกล่าว
“ที่สำคัญก็คือคนที่เป็นเหยื่อของการทรมาน คนที่ได้รับความเสียหาย น้อยรายที่มีความกล้าหาญที่จะร้องเรียน ที่จะต่อสู้ ที่จะแสวงหาความเป็นธรรม” นายสมชายเพิ่มเติม
รศ.ปกป้อง ศรีสนิท จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งตนเป็นหนึ่งในผู้ร่างนั้นได้ขยายคำจำกัดความของเหยื่อการซ้อมทรมานให้ครอบคลุมถึงญาติ และครอบครัวของผู้ถูกทรมาน เพื่อให้คนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ได้รับการเยียวยาด้วย
“คนที่ถูกเอาตัวไป คนที่ถูกทรมาน เป็นผู้เสียหายอยู่แล้ว แน่นอนตามกฎหมาย และยังขยายความรวมถึงญาติใกล้ชิด และคนที่ได้รับผลกระทบด้วย คนเหล่านี้ต้องได้รับการเยียวยา คนที่เป็นผู้เสียหายจะต้องได้รับการเข้าถึงความยุติธรรม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วย” รศ.ปกป้องกล่าว
“ถ้าอยากจะปราบปรามอาชญากรรม ถ้าอยากจะรักษาความมั่นคงของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้วิธีการทันสมัย ต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการสืบสวนสอบสวน อยากจะได้องค์กรยาเสพติดตัวใหญ่ๆ ต้องใช้วิธีใหม่ๆ เข้าไปหาเขา ไม่ใช่ใช้วิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่นไปซ้อมหรือไปขยายผล หรือวิธีบังคับให้เขาพูดแล้วไปขยายผล” รศ.ปกป้องแนะนำ
นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ที่รัฐเห็นชอบให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา เมื่อเร็วๆ นี้นั้น บางมาตรายังต้องแก้ไข โดยเสนอว่า ไม่ควรให้เจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมาน มีส่วนในการสอบสวนเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน
“บางมาตรา[ของร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ]ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เช่น มาตราว่าด้วยคณะกรรมการ มาตราที่ 25 องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการตามมาตราที่ 25 ส่วนใหญ่แล้ว ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีตั้งแต่ปลัดกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผบ.ตร. หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนว่าเป็นผู้ทรมาน” นางอังคณากล่าว
นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำตัวผู้กระทบผิดเกี่ยวกับการบังคับซ้อมทรมานมาลงโทษต้องไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่ากรณีใดๆ
“ในร่างสุดท้ายที่ออกไปจากกรรมาธิการ พอไปถึงการพิจารณาระดับสภา มีข้อยกเว้นเพิ่มขึ้นมาข้อนึงก็คือ สามารถเลี่ยงปฎิบัติได้ด้วยเหตุแห่งความมั่นคงของชาติ ซึ่งดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่มีข้อยกเว้นให้มีการทรมาน หรือปิดบังข้อมูล เพราะว่าอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหายมีข้อดีอย่างหนึ่ง ก็คือ สิทธิที่จะทราบความจริง ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว