ทนายสิทธิฯ รับทราบสองข้อหาใหม่ ฐานหมิ่นศาลขอนแก่น

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.03.08
กรุงเทพฯ
180308-TH-activists-1000.jpg นายอานนท์ นำภา (เสื้อขาว) กับ นายเอกชัย หงส์กังวาน (เสื้อแดง) เข้ารับทราบข้อกล่าวหากระกระทำความผิดตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ ที่ บก.ปทอ. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2561
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในวันพฤหัสบดี (8 มีนาคม พ.ศ. 2561) นี้ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการกระทำสองกรรมใหม่ จากการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นในคดีไผ่ดาวดิน และการโพสต์บทกวีในเฟสบุคส่วนตัวชื่อ “บทกวีถึงมหาตุลาการ”

นายอานนท์ เข้าร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับกุม ควบคุมตัว และถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายพิเศษของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และร่วมทำกิจกรรมเป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งทำให้นายอานนท์ ถูกดำเนินคดีจากการต่อต้านรัฐประหารโดย คสช.

“ส่วนของผม พูดเรื่องคำพิพากษาของศาล ไม่ได้ไปละเมิดใคร แต่มันเป็นการดำเนินคดีเพื่ออะไรมากกว่า ส่วนเสรีภาพ ถามว่าทำได้เต็มที่ไหม เต็มที่ถ้ากล้า หรือยอมรับโอกาสเสี่ยงที่อาจจะถูกดำเนินคดีอย่างผม ผมพร้อมเอาเสรีภาพมาเดิมพันว่า สิ่งที่เราทำมันถูก” นายอานนท์ กล่าว

“เป็น SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) เคส เป็นการดำเนินคดีเพื่อยุติบทบาทความเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นการใช้คดีฯ ในการสกัดกั้น หรือ ถ่วงให้เราเคลื่อนไหวได้ยากขึ้น ไม่ว่าเขาจะต้องการหรือไม่ แต่ว่าผลมันเป็นอย่างนั้น” นายอานนท์ นำภา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นายอานนท์ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. ว่าได้สรุปสำนวนคดีของตน ไว้รวมกันเพียงหนึ่งสำนวน แต่แยกกระทงความผิดเป็น 4 กระทง 4 กรรม

“ทุกคนที่ติดตามเฟสบุ๊คของผมคงรู้อยู่แล้วว่า มันไม่มีอะไรที่เคยผิดกฎหมาย แล้วก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ บทบาทต่อจากนี้จะไม่เปลี่ยน ยิ่งเป็นยาชูกำลัง สำหรับคนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง มันเหมือนว่าว เวลามันโดนลมแรงๆ มันยิ่งขึ้นสูง ก็ยิ่งมัน” นายอานนท์ได้กล่าวไว้ต่อสื่อมวลชน เมื่อเดือนมกราคม

ส่วน นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวเรื่องนาฬิกาของรองนายกรัฐมนตรี เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกัน กรณีโพสต์ข้อความลามก ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่นกัน ท่ามกลางความกังวลของนักกฎหมายว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจตีความผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. แจ้งข้อกล่าวหา สำหรับ นายเอกชัย ว่าได้กระทำความผิดในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกอนาจารและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ จากการโพสต์เฟสบุคเรื่องราวชีวิตในเรือนจำ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 60 ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4) ซึ่งนายเอกชัย ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

“เอกชัย มีบทบาทในการตรวจสอบนาฬิกาของคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่เอาผิดเขาเรื่องนั้นไม่ได้ เลยเอากรณีที่เขาโพสต์เฟสบุคเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในเรือนจำไปหยุดเขา” นายอานนท์ ให้สัมภาษณ์ในฐานะทนายของนายเอกชัย หงส์กังวาน

ปอท. ย้ำทำตามหลักกฎหมาย ไม่ใช้อารมณ์

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. เดินหน้าแจ้งข้อหาในฐานความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับอดีตนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายคน อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข นายวีระ สมความคิด นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต นายอานนท์ นำภา และนายเอกชัย หงส์กังวาล จนทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลว่าเป็นการสกัดกั้นการใช้เสรีภาพ ทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัวในเรื่องการแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านโลกออนไลน์

พันตำรวจเอกสัญญา เนียมประดิษฐ์ รองโฆษก บก.ปอท. ให้สัมภาษณ์ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ได้จับตาบุคคลใดเป็นพิเศษ พร้อมระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่ไม่เคยปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็น การตรวจสอบเป็นการตรวจสอบปกติ ถ้าพบว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายตำรวจก็เข้าไปดำเนินการ

“อยากให้แยกให้ออกระหว่างการปิดกั้น กับการที่เราไม่อยากให้คนเอาอินเทอร์เน็ตไปใช้ในการกระทำความผิด หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน เราทำตามระเบียบ ตามกฎหมาย เราพยายามทำเพื่อทำให้สังคมดำเนินอยู่ได้และไม่ได้ไปรุนแรงกับใคร” พ.ต.อ.สัญญา ระบุ

รองโฆษกฯ บก.ปอท. แสดงความกังวลด้วยว่า สังคมไทยปัจจุบันตัดสินทุกอย่างตามกระแสโดยขาดการพิจารณาถึงหลักเหตุผล ตัดสินเพียงชอบหรือไม่ชอบ ถูกหรือผิดจากความรู้สึก โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการทางความคิด ซึ่งเป็นอันตรายและอุปสรรคอย่างหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ บก.ปอท. ได้รับแรงกดดันจากทุกฝ่าย แต่เจ้าหน้าที่ก็ทำงานตามหลักกฎหมายรวมถึงพยานหลักฐานเป็นสำคัญ

“หลักการที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้คือ มีคนละเมิดสิทธิ กับมีคนเสียสิทธิ เราจะปล่อยให้คนสองคนนี้มาชนกันเองเหรอ” โฆษกฯ ปอท. กล่าวทิ้งท้าย

เจตนารมณ์ของการใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ

นางสาวสาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ที่ร่วมร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวว่า เจตนารมณ์เดิมในการร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อควบคุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ในลักษณะการกระทำความผิดต่อระบบหรือข้อมูล เช่น เจาะระบบ ดักรับข้อมูล จารกรรมข้อมูล แต่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฯ กลับได้ขยายเจตนารมณ์เป็นเรื่องของการดำเนินคดีต่อผู้เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นความผิดในโลกไซเบอร์ด้วย นำมาซึ่งมาตรา 14

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สาวตรี มองว่า รัฐใช้กฎหมายมาปราบปรามผู้เห็นต่างมานาน นับแต่กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 หรือหลังการรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งมีการปิดเว็บไซต์ มีการลงโทษผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่ให้พื้นที่กับกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลมาก่อนแล้ว

“เหตุผลที่เขาใช้กฎหมายมาปิดปากทางการเมือง (SLAPP) เพราะกฎหมายเขียนกว้างเกินไป เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลยพินิจมากเกินจำเป็น เช่น คำว่า ขัดต่อความมั่นคง หรือ ขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งไม่สามารถนิยามให้ชัดเจนได้ และข้อต่อมา ตัวผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้เข้าใจเจตนารมณ์ของข้อกฎหมายได้อย่างกระจ่างชัด และสุดท้าย คือ ผู้ใช้อำนาจปกครองในยุคนั้นต้องการควบคุมสื่อ จึงมีความพยายามใช้เครื่องมือที่มีอยู่ไว้ควบคุมความเห็นต่าง” อาจารย์สาวตรี ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์

อย่างไรก็ดี อาจารย์สาวตรี ย้ำว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะวิธีการเจาะระบบ การจารกรรมข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่การนำกฎหมายมาใช้เพื่อปราบปรามการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นความผิด หรือนำมาใช้ปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นต่าง ควรมีการจำกัดกรอบและใช้ดุลพินิจให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพมากเกินไป

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง