ไผ่ ดาวดิน ได้อิสรภาพหลังรับพระราชทานอภัยโทษ
2019.05.10
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นแล้ว หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะเดียวกัน 5 แกนนำพันธมิตร ก็ได้รับอิสรภาพในโทษบุกทำเนียบ ปี 2551
นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและการเมือง ในนามกลุ่มดาวดิน และประชาธิปไตยใหม่อีสาน ได้รับอิสรภาพ หลังถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 5 เดือน จากการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นเบื้องสูง) โดยการเผยแพร่รายงานข่าวพิเศษของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนเฟสบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ซึ่งคดีนี้ เดิมมีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 19 มิถุนายน 2562
“รู้สึกดีใจ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดไม่ได้ ติดนานจนลืมว่าอิสรภาพเป็นยังไง เดี๋ยวขอลองไปใช้อิสรภาพสักหน่อย ว่ามันเป็นยังไง ห่างหายไปนาน ต้องปรับตัวสักหน่อย รอบนี้นานไปหน่อย” นายจตุภัทร์ กล่าวแก่สื่อมวลชน
นายจตุภัทร์ ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน ด้วยชุดเสื้อยืดคอกลมสีเหลือง-กางเกงขาสั้นสีเข้ม หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกับอดีตผู้ถูกคุมขัง 100 คน ที่จังหวัดขอนแก่น โดยเขายืนยันต่อสื่อมวลชนว่า จะยังเคลื่อนไหวทางสังคม ยังสนใจการเมืองเช่นเดิม และเป็นกำลังใจให้กับนักเคลื่อนไหวทุกคน
“อยากบอกทุกคนว่า อยากจะสู้ก็สู้ ทำให้เต็มที่ ไม่ต้องไปเสียใจทีหลัง ในฐานะประชาชน เป็นกำลังใจให้ ไม่ต้องกลัว ผมก็ยังผ่านมาได้” นายจตุภัทร์ ระบุ
นายจตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 หลังเผยแพร่รายงานข่าวพิเศษของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนเฟซบุ๊คส่วนตัว
หลังถูกคุมตัว นายจตุภัทร์ ได้รับการประกันตัวก่อนในชั้นสอบสวน แต่ถูกเพิกถอนการประกันในเวลาอันสั้น ทำให้นายจตุภัทร์ต้องต่อสู้ในชั้นพิจารณาคดีเป็นเวลากว่า 7 เดือน จากในทัณฑสถานฯ โดยไม่ได้รับการประกัน แม้จะยื่นขอประกันต่อศาลมากกว่า 10 ครั้ง กระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2560 นายจตุภัทร ตัดสินใจรับสารภาพในคดีดังกล่าว และศาลตัดสินจำคุก 5 ปี ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน เพราะรับสารภาพ โดยไม่รอลงอาญา
นายจตุภัทร์ เป็นผู้ถูกดำเนินคดีเพียงรายเดียวจากเผยแพร่รายงานข่าวชิ้นดังกล่าวของบีบีซีไทย โดยยังไม่ปรากฏ ผู้ใช้เฟสบุ๊ค หรือประชาชนรายใด ถูกดำเนินคดีจากการเผยแพร่ข่าวเดียวกับนายจตุภัทร์ แม้ว่าเฟสบุ๊คระบุว่า ข่าวชิ้นดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อกว่า 2,500 ครั้ง ขณะที่สำนักข่าวบีบีซีไทยเอง ก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีใดๆ เช่นกัน
นอกจากคดีนี้ นายจตุภัทร์ ตกเป็นจำเลยใน 4 คดี คือ คดีเกี่ยวกับการขัดขืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเลขที่ 3/2558 คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ความผิดเกี่ยวกับการรณรงค์การออกเสียงประชามติที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ และความผิดเกี่ยวกับการจัดงาน “พูดเพื่อเสรีภาพ” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งทุกคดีสิ้นสุดลงแล้ว หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจาก คสช. ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 ระบุว่า มีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน มีผู้ถูกจับกุมโดย คสช. อย่างน้อย 611 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 94 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 91 คน และมีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน
แกนนำพันธมิตรได้รับอภัยโทษ คดีบุกทำเนียบ
ในวันเดียวกัน ผู้ต้องขังจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกสั่งจำคุก 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 ในความผิดจากการบุกทำเนียบรัฐบาล ปี 2551 ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ แล้ว หลังรับพระราชทานอภัยโทษ เช่นกัน
“รู้สึกรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้” พล.ต.จำลอง กล่าวแก่สื่อมวลชน หลังได้รับปล่อยตัวจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ในประเด็นอื่น
พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ระบุความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป”
“อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2517 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้” พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ระบุ การพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ ทำให้มีผู้ต้องขัง ประมาณ 5 หมื่นคน ได้รับอิสรภาพ