รัฐร่วมเอกชนลงทุน ลงนามพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา 2.9 แสนล้านบาท

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.06.19
กรุงเทพฯ
200619-TH-airport-UTapao-1000.jpg พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีร่วมลงนามพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ณ ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 19 มิถุนายน 2563
รัฐบาลไทย

ในวันศุกร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด มูลค่าการลงทุนโครงการ 2.9 แสนล้านบาท เป้าหมายสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการลงนามสัญญาโครงการดังกล่าว ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานี้ จะยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่

“สำหรับการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนครั้งนี้ ก็เป็นการยืนยันเจตจำนงของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นแนวทางในการลงทุนของรัฐบาลต่อไป ในเรื่องของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการที่จะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ ถือว่าเป็นมิติใหม่ ในส่วนของประเทศไทย ยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคให้ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมในทุกมิติทั้งในเรื่องของการจ้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ เมืองใหม่ และกิจกรรมใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อีอีซี” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เป็นบริษัทซึ่งมีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท ถือหุ้นโดย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 45% บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 20% โดยมีอายุสัญญารับสัมปทาน 50 ปี จะจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ 305,555 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 290,000 ล้านบาท

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาโครงการเมืองการบินอู่ตะเภานี้ เพื่อประโยชน์แก่ภาครัฐเป็นสำคัญ

“เราต้องการที่จะให้ประโยชน์กลับคืนกับภาครัฐให้มากที่สุด ไม่ใช่ว่าเราจะต้องมีกำไรมากมาย เรามองว่าอะไรที่เราจะสามารถก่อประโยชน์ภาครัฐได้มากที่สุด เท่าที่เราทำไหว มันก็เริ่มมาเป็นตัวนี้” นายพุฒิพงศ์ กล่าว

ขณะที่ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า สนามบินอู่ตะเภา โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท รัฐได้ผลประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก

“เมื่อผสานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะก่อให้เกิดการลงทุนในมิติต่าง ๆ ทั้งจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมาสู่พื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและคนไทยทุกคน” นายคณิศ กล่าว

โครงการสนามบินอู่ตะเภา ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินตะวันออก อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ห่างจาก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ประมาณ 30 กิโลเมตร เป้าหมายการพัฒนาเพื่อรองรับการขนส่งทางอากาศทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า มีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่งอิสระจากกัน ความยาว 3,500 เมตร รองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด มีหลุมจอดอากาศยานรวม 124 หลุมจอด

อาคารผู้โดยสาร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทุกระยะ จะมีขนาด 450,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี มีการติดตั้งระบบ ระบบการ Check-in อัตโนมัติ ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ และจะมีหอบังคับการบินที่สามารถควบคุมให้อากาศยานขึ้นลงได้สูงสุด 70 เที่ยวบินต่อชั่วโมง มีคลังสินค้าและพื้นที่ขายสินค้าปลอดภาษี 470,000 ตารางเมตร รองรับการขนส่งสินค้ากว่า 3 ล้านตันต่อปี มีศูนย์ขนส่งภาคพื้นดินพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง รถบัส แท็กซี่

ยังมีพื้นที่กิจกรรม ด้านอุตสาหกรรมการบินที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งงานสนับสนุนอื่น ๆ ขนาด 1,400 ไร่ ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ โรงผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น โรงผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย และบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน นอกจากนั้นยังมี ร้านค้าปลอดภาษี ภัตตาคาร โรงแรม ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า และอาคารสำนักงาน ในพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร

โดย แผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ และระบบทางเดินเลื่อน เพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด จะแล้วเสร็จประมาณปี 2573 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี

ส่วน ระยะที่ 3 ต่อขยายอาคารผู้โดยสาร 107,000 ตารางเมตร เพิ่มรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ 1 ขบวน เพิ่มหลุมจอดอากาศยาน 34 หลุมจอด จะแล้วเสร็จประมาณปี 2585 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 4 เพิ่มอาคารผู้โดยสาร 82,000 ตารางเมตร ติดตั้งระบบ Check-in อัตโนมัติ เพิ่มหลุมจอดอากาศยาน 14 หลุมจอด จะแล้วเสร็จประมาณปี 2598 จะรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง