ตำรวจห้ามโรฮิงญาแถลงข่าวเรียกร้องสัญชาติจากนางอองซาน ซูจี

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.06.23
กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร
TH-assk-620 นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เดินทางเยี่ยมเยียนแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ในจังหวัดสมุทรสาคร ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559
เอเอฟพี

ปรับปรุงข้อมูล 10:50 a.m. ET 2016-06-24

เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ได้สั่งห้ามไม่ให้กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้ชาติ และชมรมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย แถลงข่าวเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของตนที่มีต่อนางอองซาน ซูจี เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย. 2559) นี้

ในขณะที่ผู้จัดจะเริ่มแถลงข่าวในเช้าวันนี้ เจ้าหน้าตำรวจ ที่มีคำสั่งห้ามฉุกเฉิน มิให้มีการแถลงข่าว ที่ทางกลุ่มจะยื่นข้อเรียกร้องแก่นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 23 -25 มิถุนายน 2559 นี้

หลังมีการเจรจากันอยู่นานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้จัดงาน ในที่สุดเจ้าหน้าที่อนุญาตให้มีการแจกจ่ายเอกสารข้อเรียกร้อง และเจ้าหน้าที่ได้สั่งให้สลายตัว

ส่วนข้อเรียกร้องหลักๆ ประกอบไปด้วย หนึ่ง การให้รัฐบาลเมียนมาทบทวน พรบ. ว่าด้วยพลเมือง เพื่อเป็นการยุติการไร้รัฐของชาวโรฮิงญา ซึ่งชาวโรฮิงญา เคยได้รับสัญชาติก่อนที่จะมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ และสอง ให้เมียนมาอนุญาตให้หน่วยงานระหว่างประเทศเข้าถึง และดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธ์ โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาและอื่นๆ เป็นต้น

ตั้งแต่นายพลเน วิน ครองอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2505 ทางการพม่า (ชื่อในขณะนั้น) ได้สลายสถานะของชาวโรฮิงญาและองค์กรทางการเมือง และในกฎหมายว่าด้วยพลเมือง ค.ศ.1982 ของพม่า ได้จัดชาวโรฮิงญาเป็น “บุคคลที่ไม่มีสัญชาติ” หรือ “คนต่างด้าว”

ชาวโรฮิงญา ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ประสบปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และการปะทะด้วยอาวุธกับชาวยะไข่ เมื่อไม่นานมานี้ จนต้องกลายเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานไปยังมาเลเซีย และหลายๆ คน ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์อีกด้วย

ล่าสุด นางอองซาน ซูจี ได้บอกให้รัฐบาลนานาชาติ ยุติการใช้ชื่อโรฮิงญา แต่ให้เรียกชาวโรฮิงญาว่า “ชนชาวมุสลิมในรัฐยะไข่” แทน

นายฮะยี อิสมาอิล กรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มโรฮิงญาเพื่อสันติ หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานแถลงข่าว ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเรียกชาวโรฮิงญาด้วยชื่อเดิม ไม่ให้เปลี่ยนไปตามความต้องการของนางอองซาน ซูจี

“ขอให้ทุกฝ่ายเรียกโรฮิงญา ว่า โรฮิงญา อย่าเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น เพราะนี่เป็นชื่อดั้งเดิมของชาวโรฮิงญา” นายอิสมาอิล กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ทางด้าน นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่เยือนประเทศไทยนั้น นางอองซาน ซูจี ควรจะพูดคุยกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งเรื่องโรฮิงญาและกลุ่มพม่าชาติพันธุ์ต่างๆ

“สิ่งที่นางอองซาน ซูจี พูดในประเทศพม่า และจะพูดเวลามาเยือนไทยนั้น ประเด็นเรื่องโรฮิงญา ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง” นายสุนัยกล่าว

ทัน ซอ มิน อายุ 30 ปี แรงงานชาวพม่า เดินทางมาต้อนรับนางอองซาน ซูจี ที่ตลาดทะเลไทย มหาชัย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559

ทัน ซอ มิน อายุ 30 ปี แรงงานชาวพม่า เดินทางมาต้อนรับนางอองซาน ซูจี ที่ตลาดทะเลไทย มหาชัย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 (เบนาร์นิวส์)

แรงงานพม่าแห่แหนต้อนรับอองซานซูจี

นางซูจี เดินทางมาเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และทั้งสองฝ่ายจะได้พบปะหารือกัน ในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนนี้ และเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน  (Memorandum of Understanding on Labor Co-operations) และความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน (Agreement on Employment of Workers and Agreement on Workers Crossing) อีกด้วย

ตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มีแรงงานจากสามประเทศหลักๆ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ขึ้นทะเบียนแรงงานรวมสิ้น 2,053,383 คน เป็นแรงงานจากเมียนมา 1,438,127 คน มีการประเมินว่า ตัวเลขจำนวนแรงงานที่แท้จริงน่าจะมีจำนวนมากถึงสี่ล้านคน

และในตอนเย็นของวันนี้ นางอองซาน ซูจี ได้เดินทางไปยังตลาดทะเลไทย ในอำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเยี่ยมแรงงานชนเผ่าต่างๆ จากประเทศพม่า ที่รอต้อนรับท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาค่อนข้างหนัก

นายทัน ซอ มิน ชาวพม่าจากมัณฑะเลย์ ทำงานเป็นพนักงานโรงงานเสื้อผ้าวัย 30 ปี ยอมลางานและเดินทางจากอำเภออ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม เพื่อเฝ้ารอการมาถึงของผู้หญิงที่เขาศรัทธามากถึงขนาดสักภาพใบหน้าของเธอลงบนหน้าอกของตัวเอง เขากล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า เขาและชาวพม่าส่วนใหญ่เรียกนางซูจีว่า “มาซู” ซึ่งแปลว่า “แม่ซู” เพราะทุกคนเชื่อมั่นว่า นางซูจี คือคนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศพม่า

“เมื่อก่อนประเทศของเรายังไม่มีประชาธิปไตย แต่เดี๋ยวนี้ประเทศเรามีประชาธิปไตยแล้ว ผมมั่นใจว่าอองซาน ซูจีมาแล้ว (ชาวพม่าในไทย) มีโอกาสดีขึ้นแน่ ไม่มากก็น้อย” นายทัน ซอ มิน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

เมื่อถามเขาว่า อยากกลับบ้านหรือไม่ เขาบอกว่า อยากกลับ เพราะอย่างไรเสียประเทศไทยก็ไม่ใช่บ้าน

“ตอนนี้ ต่อใบอนุญาตอยู่ที่นี่แล้ว แต่ยังไงก็อยากจะกลับบ้าน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ งานที่นี่ก็ดีอยู่แล้ว แต่ยังไงก็อยากกลับ ถ้าสถานการณ์ที่พม่าดีกลับแน่นอน เพราะยังไงที่นี่ก็ไม่ใช่บ้านของเรา” ชายผู้มีรอยสักนางซูจี ที่หน้าอกกล่าว

“ถ้าประเทศไทยอยากให้คนต่างชาติทำงานที่นี่ ต้องให้สวัสดิการกับแรงงานข้ามชาติมากขึ้น” ทัน ซอ มิน กล่าวทิ้งท้าย

ข้อเสนอแนะของเครือข่ายแรงงานต่อนางซูจี เพื่อความร่วมมือกับรัฐบาลไทย

ก่อนการมาถึงของนางอองซาน ซูจี มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เครือข่ายความร่วมมือแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย (MUNT) คณะกรรมการสมานฉันท์คุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในประเทศไทย (AAC-SCPM) และแรงงานข้ามชาติชาวพม่า (สมุทรสาคร) ในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “เสียงจากแรงงานข้ามชาติชาวพม่าถึงนางอองซานซูจี เพื่อสุขสันติภาพและความยุติธรรมในประเทศไทย” ซึ่งสามารถสรุปข้อเสนอต่อนางอองซาน ซูจี ผ่านความร่วมมือกับรัฐบาลไทยได้ดังนี้

1. ให้เร่งดำเนินการจัดทำเอกสารทำงานและพิสูจน์สัญชาติแก่แรงงานพม่า

2. สร้างกลไกคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานแรงงานไทย เช่น การดูแลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการสังคม ค่ารักษาพยาบาล และการรับผิดชอบลูกจ้าง เป็นต้น

3. ดูแลเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย และการเดินทางกลับประเทศต้นทาง ในกรณีแรงงานข้ามชาติที่ถือบัตรใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) หรือ บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย สามารถเดินทางระหว่างจังหวัดได้ เพราะปัญหาที่ผ่านมาแรงงานไม่เข้าใจระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐบางคน หาช่องทางเรียกรับผลประโยชน์จากแรงงาน

4. ให้มีสิทธิในการรวมตัวก่อตั้งสหภาพแรงงาน และการอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และพัฒนาศักยภาพ ทักษะฝีมือแรงงานไปพร้อมๆ กัน

5. ให้การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การคุ้มครองทางสังคมแก่เด็ก และผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ โดยการจดทะเบียน และให้การศึกษา เป็นต้น

6. การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยการแสดงออกตามสิทธิทางสังคมและพหุวัฒนธรรม ให้แรงงานข้ามชาติมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา มีพื้นที่สาธารณะ

7. ให้มีการเข้มงวดกวดขันเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตคอรัปชั่น และให้มีการขจัดกลุ่มนายหน้าทั้งไทยและข้ามชาติ รวมถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และหาแนวทางป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติทุกรูปแบบ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง