หญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลสตรีผู้กล้าหาญสากลปี 2559 จากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ
2016.04.12
วอชิงตัน

แก้ไขข้อมูล เวลา 9:58 a.m. ET 2016-04-13
หญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลสตรีผู้กล้าหาญสากล ปี 2559 และเป็นหนึ่งในสิบสี่คนจากสตรีทั่วโลกที่ได้รับรางวัล จากกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยมี นาย จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้มอบรางวัล
รจเรข วัฒนพาณิชย์ ในวัย 49 ปี เธอเป็นเจ้าของผู้ร่วมก่อตั้งร้านหนังสือ บุ๊ครีพับลิก (Book Re:public) ในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรการสร้างความตระหนักรู้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย หรือ โครงการคาเฟประชาธิปไตย (Creating Awareness for Enhanced Democracy - Café Democracy) ซึ่งเป็นองค์กรที่อุทิศเพื่อการสร้างความตระหนักรู้ทางการเมือง ความเข้มแข็งของพลเมือง และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างเสรี
นับตั้งแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 รจเรขถูกเชิญตัวไป “ปรับทัศนคติ” ที่ค่ายทหารถึง 2 ครั้ง และถูกให้เซ็นข้อตกลงที่ให้ละเว้นจากกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งรวมถึงให้ปิดร้านหนังสือเป็นเวลาร่วมปี แต่เธอยังมีความพยายามในการขับเคลื่อนการตระหนักรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิสตรี ตลอดมา และเมื่อร้านบุ๊ครีพับลิกได้เปิดอีกครั้งเมื่อปลายที่ผ่านมา ร้านได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญที่รวมตัวของผู้คนที่นั่น ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะปัญหาสังคม และพัฒนาหาทางออกในความท้าทายของการเมืองไทย
ในพิธีมอบรางวัล สตรีผู้กล้าหาญสากล ปี 2559 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 นาย จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึง รจเรข ก่อนจะเป็นผู้มอบรางวัลอันทรงเกียรติว่า
“รจเรข ดำเนินตนตามแนวทางที่ว่า "ปากกามีอานุภาพกว่าอาวุธ" ในฐานะเจ้าของร้านหนังสือร่วมและผู้ร่วมก่อตั้งคาเฟประชาธิปไตยในประเทศไทย เธอได้ใช้ฐานะนี้ในการส่งเสริมประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออก โดยต้องเสี่ยงกับการถูกคุกคาม”
“เธอถูกทหารเรียกตัวไปปรับทัศนคติ ถูกกักขัง และซักถาม ในค่ายทหารถึงสองครั้ง ซึ่งเป้าหมายของทหาร คือการคุกคามตัวเธอ แต่รจเรขปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อความกลัว ตรงกันข้าม เธอได้เปิดร้านหนังสืออีกครั้ง และได้จัดให้มีการสัมมนาในเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตลาดเสรี และประชาธิปไตย”
“.. ความมุ่งมั่นของคุณต่อสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ที่ทำให้สังคมมีความสงบสุข รุ่งเรือง และมั่นคง” จอห์น แคร์รี่ กล่าวในพิธีมอบรางวัล
10 ปี 60 ประเทศ ผู้หญิงเกือบ 100 คน เป็นจำนวนจากปีที่รางวัลสตรีผู้กล้าหาญสากล (International Women of Courage Award) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2550 โดย คอนโดลีซซา ไรซ์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จวบจนวันนี้ นับเป็นพันธกิจที่น่าชื่นชมและเป็นรางวัลที่มอบแก่สตรีทั่วโลก ที่แสดงให้เห็นศักยภาพความกล้าหาญ และเป็นผู้นำที่โดดเด่นในการทำงานเคลื่อนไหวและเรียกร้อง ในด้านสันติภาพ ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศ และการส่งเสริมสิทธิและศักยภาพของผู้หญิง
บทสัมภาษณ์ รจเรข วัฒนพาณิชย์ หนึ่งในผู้ได้รับรางวัล สตรีผู้กล้าหาญสากลประจำปี 2559 โดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ต่อเบนาร์นิวส์
เบนาร์นิวส์: เพราะเหตุใดคุณรจเรขจึงได้เปิดร้านหนังสือ และก่อนหน้านั้นคุณทำอะไร?
รจเรข วัฒนพาณิชย์: ก่อนเปิดร้านหนังสือ ดิฉันทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ประเด็นป่าชุมชน ในโครงการ กลุ่มสนับสนุนป่าชุมชน (Community Forest Support Group) และเมื่อเกิดเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ที่แยกราชประสงค์ ปี 2553 (เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553) ดิฉันสะเทือนใจกับการที่ประชาชนถูกยิงเสียชีวิตกลางเมือง แม้ว่าเราจะเห็นต่างทางการเมือง แต่ก็ไม่ควรมีใครต้องเสียชีวิตจากการออกมาชุมนุมหรือเรียกร้องสิทธิ หลังจากนั้นดิฉันและเพื่อนต้องการหาคำตอบ ว่าทำไมการเมืองในประเทศไทยจึงถอยหลังกลับแทนที่จะเดินไปข้างหน้า จึงหันไปสนใจอ่านหนังสือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และคิดว่าความรู้และปัญญาจะต้องนำพาสังคม สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ เปิดร้านหนังสือและพื้นที่สาธารณะ ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างมีอารยะ
เบนาร์นิวส์: คุณรจเรขมีความตั้งใจส่วนใหญ่ เพื่อให้ร้านหนังสือเป็นสถานที่สาธารณะให้ผู้คนเข้ามาใช้แลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองทางการเมืองเท่านั้นหรือ
รจเรข: เราต้องการเปิดพื้นที่ให้คนมาแลกเปลี่ยนในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ที่ผ่านมาเราเปิดพื้นที่คุยในเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นความหลากหลายทางเพศ และ Gender ไม่ใช่เฉพาะประเด็นการเมือง แต่ในขณะเดียวกันหลายเรื่องก็เป็นการเมืองในตัวของมันเอง เช่น ประเด็นเรื่องเขื่อน เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทุนนิยม เรื่องการเสนอกฏหมายความหลากหลายทางเพศ ทุกเรื่องเมื่อเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ นั่นก็คือการเมืองแทบทั้งสิ้น การเมืองที่ไม่ได้หมายถึงระบอบการปกครองอย่างเดียว
เบนาร์นิวส์: คุณรจเรขรู้สึกอย่างไรที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้
รจเรข: ดิฉันรับรางวัลนี้ในฐานะที่เป็นสัญญลักษณ์ของผู้หญิงและทุกๆ คน ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในประเทศไทย ดีใจในแง่ที่ว่า ประชาคมโลกหรือสหรัฐอเมริกายืนยันและสนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชนด้วยการให้รางวัลกับผู้หญิงที่ยืนยันในหลักการนี้ แม้ต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการ
เบนาร์นิวส์: การทำงานส่วนไหนที่ยากที่สุด หรือเป็นส่วนที่ท้าทายที่สุด
รจเรข: ยากที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้ คือ การถูกปิดกั้นไม่ให้มี เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน รัฐทหารยังใช้มาตรา 44 ในการให้อำนาจเต็มที่แก่ผู้นำที่จะสั่งยกเลิก หรือสนับสนุนโครงการใด ๆ ก็ได้ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่เราก็ยังต้องหาทางออกในเรื่องนี้ต่อไป
เบนาร์นิวส์: เหตุใดคุณรจเรขจึงถูกรัฐบาลทหารเชิญไป “ปรับทัศนคติ” ถึงสองครั้ง
รจเรข: ครั้งแรกดิฉันถูกเชิญโดยค่ายทหารกาวิละ ซึ่งอยู่ในเชียงใหม่ ครั้งที่สองโดยกองทัพส่วนกลาง ดิฉันถามผู้สอบสวนว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงต้องมารายงานตัวสองครั้ง นายทหารชั้นสูงผู้หนึ่งบอกว่า สิ่งที่ดิฉันและบุ๊ครีพับลิกทำนั้น มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย (ดิฉันขอถือว่าเป็นคำชม)
เบนาร์นิวส์: หลังจากกลับมาจากการถูกเชิญ คุณต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการขับเคลื่อน หรือเป้าหมายของการทำงาน (ที่ร้านหน้งสือ) หรือไม่ อย่างไร
รจเรข: ร้านเราถูกกดดันจนต้องย้ายที่ใหม่ และปิดไปเกือบหนึ่งปี จึงกลับมาเปิดใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2558 วิธีการขับเคลื่อนต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนเพราะเราไม่สามารถดำเนินกิจกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังยืนยันว่า สิ่งที่ผ่านมานั้นเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราต้องการเห็นประเทศชาติดำเนินไปอย่างก้าวหน้า เพราะฉะนั้นเป้าหมายของเรายังคงเดิม คือ เราไม่เคยคิดว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งสุดท้ายสูงสุด แต่ “กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย” ต่างหากที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนให้ก้าวไปข้างหน้า
เบนาร์นิวส์: คุณรจเรขยังรู้สึกว่าถูกกดดันจากรัฐบาลหรือไม่
รจเรข: ดิฉันยังถูกกดดันจากรัฐบาลอยู่ ด้วยการถูกเฝ้าดูตลอดเวลาว่า จะทำกิจกรรมอะไรบ้าง และตอนที่ดิฉันถูกเรียกเข้าค่ายนั้น ก่อนออกมาดิฉันต้องเซ็นต์ MOU ที่กำหนดว่า ดิฉันจะต้องไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น และต้องขออนุญาตทุกครั้งที่จะเดินทางออกประเทศ MOU นี้จะถูกยกเลิก ก็ต่อเมื่อไม่มี คสช.แล้วเท่านั้น
เบนาร์นิวส์: คุณรจเรข มองอนาคตของการเมือง “ประเทศไทย” เป็นอย่างไร
รจเรข: ในช่วง 5 ปีจากนี้ไป ดิฉันยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเท่าใดนัก ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญที่ปูพื้นให้กับอำนาจทหาร ในการควบคุมการเมืองในระบบรัฐสภา หรือการละเมิดสิทธิ และการกำจัดคนคิดเห็นต่างทางการเมือง ก็ยังดำเนินต่อไป หวังแต่เพียงให้กลุ่มคนแบบพวกเรา ที่ต่อต้านการปกครองแบบรัฐทหารเผด็จการจะขยายตัวเพิ่มขึ้น
*แก้ไขอายุของรจเรข วัฒนพาณิชย์ ในบทความนี้