ซีล: เร่งนำหมูป่าออกถ้ำ เพราะออกซิเจนน้อย และฝนตก
2018.07.11
เชียงราย

ในวันพุธนี้ ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานขุนน้ำนางนอน ได้แถลงสรุปผลการปฏิบัติงานทั้งหมด โดยระบุว่า เหตุผลที่เร่งนำนักฟุตบอลเยาวชน และผู้ฝึกสอนรวม 13 รายออกจากถ้ำ ในช่วงวันอาทิตย์-อังคาร ที่ผ่านมานั้น เนื่องจาก ออกซิเจนในถ้ำเริ่มเหลือน้อย และเกรงว่าฝนจะตกลงมาเพิ่ม จนน้ำท่วมพื้นที่ในถ้ำทั้งหมด
นักฟุตบอล และผู้ฝีกสอน ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี แม่สายรวม 13 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 11-25 ปี หลงเข้าไปในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 และไม่สามารถติดต่อได้ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครทั้งชาวไทย และต่างประเทศหลายพันคนจึงได้ร่วมปฏิบัติการค้นหา ท่ามกลางสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่ยากลำบาก กระทั่งค่ำวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 นักประดาน้ำได้พบตัวนักฟุตบอล และโค้ชทั้งหมด จึงวางแผนนำตัวออกจากถ้ำ และดำเนินการพาทีมหมูป่า ออกจากถ้ำระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม 2561 จนทั้งหมดสามารถออกจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย ในวันพุธนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงได้แถลงสรุปผลการปฏิบัติงานทั้งหมด
ด้าน พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (Navy Seal - ซีล) ชี้แจงเหตุผลที่ เริ่มดำเนินการนำคนทั้ง 13 คนออกจากถ้ำ โดยระบุว่า ปัจจัยเรื่องอากาศ และน้ำมีส่วนสำคัญในการเร่งปฏิบัติการ
“เราไม่ใช่ฮีโร่ หลายๆคนเป็นฮีโร่ งานนี้สำเร็จได้ด้วยพวกเราทุกคน.. เมื่อแต่ละประเทศช่วยกัน สุดท้ายก็มีนักดำน้ำจากอังกฤษไปเจอน้องๆทั้ง 13 คนในถ้ำ" พล.ร.ต.อาภากร กล่าว
หลังจากนั้นก็ได้ส่งหน่วยซีล 4 คน ส่งแพทย์ ส่งกำลังพลเข้าไปถึงตัวน้องๆ” นาวาเอก อนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ เป็นหัวหน้าทีมซีลในปฎิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้
“เนื่องจากอากาศในนั้นมันน้อยลง ปริมาณออกซิเจนมันน้อยลง วันแรกที่ตรวจออกซิเจนมีแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ เราก็พยายามหาออกซิเจนไปเติม อีกอย่างคือ น้ำฝนที่ตกลงมา เราสู้กับธรรมชาติยากมาก เราจะทำอย่างไร เมื่อน้ำเต็มถ้ำร้อยเปอร์เซ็นต์ จะทำอย่างไรเมื่ออากาศน้อยลง สุดท้ายแล้วเราก็ได้มีแผนนำตัวน้องๆออกมา แล้วแผนนี้ก็ได้รับอนุมัติ น้องๆออกมาได้ครบทั้ง 13 ชีวิต และหน่วยซีลที่อยู่กับน้องๆ อีก 4 คน ภารกิจตรงนี้ถือว่ายากมาก ก็ต้องเป็นบทเรียน ต้องพัฒนาบุคลากรของเราเพิ่มไปอีก” นาวาเอกอนันต์กล่าวเพิ่มเติม
เป็นวิสัยของเด็ก
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ นักฟุตบอลและโค้ช 13 คนในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นเหตุสุดวิสัย และเชื่อว่า ทั้ง 13 คนจะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“บางคนบอกว่าน้องเขาเป็นพระเอกบ้าง น้องเขาเป็นผู้ร้ายบ้าง ในสายตาพวกเราที่ศูนย์อำนวยการฯ เราไม่ได้มองว่า เขาเป็นผู้ร้าย ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้มองว่าเขาเป็นพระเอกหรือฮีโร่ เรามองเขาว่าเขาเป็นเด็กน้อย 13 คน ที่ปฏิบัติหรือมีความสุขไปตามวิสัยของเด็ก อาจจะเกิดเหตุสุดวิสัยที่น้ำเข้ามา ทำให้เขาออกมาไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่า เมื่อเติบโตขึ้นมาเขาจะเรียนรู้ว่า คนหลายร้อยล้านคนเฝ้าติดตามดูเขาอยู่ และให้กำลังใจเขา” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
“ผมยืนยันและเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า น้องจะเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ดี เป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคมไทย ผมเชื่อว่าเขาต้องพัฒนาตนเป็นคนดีแน่นอน เพราะเขาเป็นที่รู้จักของทุกคน และทุกคนคาดหวังในความดีเขา และเมื่อเขามีที่ยืน เขาก็ต้องคืนให้สังคม” นายณรงค์ศักดิ์กล่าวเพิ่มเติม
ต่อประเด็นสุขภาพ นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งทีมหมูป่า 13 คน เข้ารับการรักษาตัว ระบุว่า ทั้งหมดมีสุขภาพที่ดี แม้จะ 3 ราย จะที่มีอาการปอดอักเสบ แต่ถือว่าอาการไม่หนัก
“ขณะนี้ยืนยันได้เลย 13 คน รวมกับซีล อีก 4 คน อาการปลอดภัย มีปอดอักเสบเล็กน้อย 3 ราย เบื้องต้น การอยู่ในโรงพยาบาลน่าจะ 7-10 วัน จะประเมินเป็นระยะ กลับไปบ้านพักฟื้นอีกอย่างน้อย 30 วัน ทั้ง 5 คน (สุดท้าย) ที่มาเมื่อคืน ฟื้นเร็วกว่า 2 กลุ่มแรก” นายแพทย์ไชยเวชกล่าว
ปฏิบัติการนำตัวนักฟุตบอลทีมหมูป่าออกจากถ้ำ เริ่มต้นช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2561 โดยปฏิบัติการลำเลียงวันละ 4 คน
ใช้นักประดาน้ำชาวต่างชาติ ร่วมกับหน่วยซีลประมาณครั้งละ 18-20 คน และมีเจ้าหน้าที่ให้การสนับสนุนซึ่งดำเนินงานอยู่ภายในถ้ำอีกกว่า 100 ราย โดย พล.ร.ต.อาภากร ระบุว่า ได้ให้ยากล่อมประสาทนักฟุตบอลทีมหมูป่า และให้ใส่ชุดประดาน้ำ รวมถึงหน้ากากออกซิเจน แล้วนักประดาน้ำพาตัวออกมา ขณะเดียวกันมีเจ้าหน้าที่ในส่วนอื่นๆที่อยู่ภายนอกถ้ำทั้งการสูบน้ำ การเดินสายไฟฟ้า การสนับสนุนการค้นหาทางเข้าถ้ำจากบนพื้นดิน และอื่นๆหลายพันชีวิต ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติกว่า 500 คน
โดยหลังออกจากถ้ำ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวแต่ละคนเข้าตรวจร่างกายกับแพทย์ทหารบก ที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และส่งตัวขึ้นรถพยาบาล นำส่งไปยังสนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านจ้อง เพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปส่งยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำหลวงราว 70 กิโลเมตร
เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์จะได้ทำการตรวจโรค และให้เด็กและเยาวชนทั้งหมด อยู่ในห้องปลอดเชื้อ ห้ามเข้าเยี่ยม จนกระทั่งแน่ใจว่า ทั้งหมดมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ติดเชื้อ และไม่มีโรค จะได้ให้ผู้ปกครองและญาติเข้าเยี่ยมได้ ขณะที่การให้รับประทานอาหารจะเริ่มจากอาหารอ่อน ย่อยง่าย ก่อนปรับสู่อาหารปกติตามความเหมาะสม ปัจจุบัน ผู้ปกครองสามารถเยี่ยม ทั้ง 13 รายได้แล้วผ่านกระจกหน้าห้องพักผู้ป่วย
นายกฯ ระบุแพทย์เพียงใช้ยาคลายอาการตื่นกลัว
ในขณะที่ในวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ทีมปฏิบัติการนำเด็กทีมหมูป่าออกมาโดยใช้วิธีวางยาสลบหรือไม่นั้น ว่าเป็นเทคนิคทางการแพทย์ จะทำอย่างไรเพื่อจะไม่ให้เด็กแพนิค หรือตื่นตกใจเวลาออกมา
"เหมือนกับกินยาแก้แพ้ให้รู้สึกว่าไม่เป็นไร ไม่ตื่นเต้น ไม่ดิ้นตกใจเวลาออกมา ใครจะวางยาสลบ เพราะหากวางยาสลบ ก็ไม่สามารถออกมาได้ เรียกว่ายาคลายประสาทอะไรสักอย่างให้เด็กไม่ตื่นเต้นไม่เครียด"
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวต่อว่า เด็กที่ออกมามีสติกันทุกคน "เมื่อคืนผมก็ทักกับเค้าทุกคน ทั้ง 8 คน 4 คนแรกเข้าไปเยี่ยมได้ เพราะผ่านการตรวจร่างกายตรวจเชื้อแล้ว อีก 4 คนเพิ่งออกมา เข้าไปเยี่ยมยังไม่ได้ ยังคาดปิดจมูกอยู่ แต่พอบอกให้ยกมือก็ยกกันทุกคน อยากเป็นนักฟุตบอลใช่ไหม ก็ขอให้ติดทีมชาติ พ่อแม่ที่นั่งอยู่ข้างนอกก็นั่งยิ้มชอบใจ .. "
หน่วยซีลแสดงความเสียใจกับ คุณหมอริชาร์ด แฮร์ริส
และสำหรับคุณหมอริชาร์ด แฮร์ริส หมอชาวออสเตรเลีย ที่เดินทางมาร่วมการปฏิบัติการในถ้ำและทำคุณประโยชน์กับเราครั้งนี้ และพบว่าบิดาเพิ่งเสียชีวิต ในนามหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ได้โพสต์แสดงความเสียใจไว้ในเฟสบุ๊กเพจ Thai NavySEAL ที่ขณะนี้มีคนติดตามมากกว่า 1.8 ล้านคนแล้ว
"ในนามหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อคุณริชาร์ด แฮร์ริส คุณหมอชาวออสเตรเลีย ที่สูญเสียบิดาในช่วงเวลาที่คุณหมอมาร่วมปฏิบัติการพาหมูป่ากลับบ้าน ร่วมกับเราที่ถ้ำนางนอนในครั้งนี้"
"เพียงคำขอบคุณคงไม่มากพอ สำหรับสิ่งที่คุณหมอได้ทำไปทั้งหมด เพื่อเด็กๆ ครอบครัวของเขา และประเทศไทย ขอบคุณคุณหมอริชาร์ด และขอบคุณออสเตรเลีย!" เฟสบุ๊กระบุ