พล.อ.ประวิตร: ให้สัญชาติเด็กหมูป่า ต้องทำอย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น
2018.07.13
เชียงราย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าววันในศุกร์นี้ถึงการพิจารณาให้สัญชาติไทยให้กับสมาชิกทีมหมูป่า 3 คน ที่กลายเป็นผู้ที่มีคนรู้จักมากขึ้น หลังจากที่ติดอยู่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนว่า ต้องเป็นไปตามขั้นโดยเท่าเทียมกับผู้ขอรายอื่นๆ
เมื่อวานนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ ได้กำชับให้หาช่องทางกฎหมายในการขอสัญชาติไทยให้กับสมาชิกทีมหมูป่า 3 คน ประกอบด้วย นายเอกพล จันทะวงษ์ (หรือโค้ชเอก) อายุ 25 ปี นายพรชัย คำหลวง (หรือ น้องตี๋) 16 ปี และเด็กชายอดุลย์ สามอ่อน อายุ 14 ปี
"ส่วนตัวไม่ทราบ และยังตอบไม่ได้ แต่ทุกอย่างต้องมีความเท่าเทียมและเหมือนกันหมด เพราะเป็นระเบียบของกฏหมาย" พล.อ.ประวิตร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันนี้
นายเอกพล จันทะวงษ์ (หรือโค้ชเอก) พร้อมด้วยเด็กนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ที่มีอายุระหว่าง 11 ถึง 16 ปี อีกสิบสองคน ได้เข้าไปเที่ยวในถ้ำหลวง ในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนอน เมื่อตอนบ่ายของวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายนนี้ แล้วถูกน้ำฝนไหลท่วมทางเข้าถ้ำอย่างรวดเร็ว จนต้องหนีลึกเข้าไปจนถึงเนินนมสาว มีระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร จนกระทั่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทั้งไทยและจากนานาชาติ สามารถช่วยเหลือออกมาได้ครบทุกคน เมื่อตอนค่ำของวันอังคารที่ผ่านมา
การกู้ภัยจากถ้ำที่มีน้ำท่วม ที่ขุ่นโคลนจนมองไม่เห็น ในช่องทางบีบแคบเป็นคอขวดคดเคี้ยว ขณะที่ฝนตกลงมาแทบจะไม่ขาดสายตลอดกว่าสองสัปดาห์ โดยการปฏิบัติการร่วมของหน่วยซีลของกองทัพเรือไทย หน่วยงานราชการและภาคเอกชนของไทย กองบัญชาการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำ และนักกู้ภัย จากนานาชาติ ได้กลายเป็นข่าวดังที่มีการติดตามจากทั่วโลก
ทีมหมูป่า ได้กลายเป็นขวัญใจของชาวอินเทอร์เน็ตที่ต่างยกย่องเป็น “ฮีโร่” จนทำให้ทางการไทยต้องกำชับเรื่องการมอบสัญชาติให้โค้ชเอกและเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของบิดา-มารดา เชื้อสายว้าหรือไทยใหญ่ ในขณะที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จะมอบทุนการศึกษาให้แก่ทั้งสิบสามคนอีกด้วย
เมื่อวานนี้ นายวีนัส ศรีสุข ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยกำชับให้หาช่องทางกฎหมายในการขอสัญชาติไทยให้กับสมาชิกทีมหมูป่าสามคน ประกอบด้วย นายเอกพล จันทะวงษ์ นายพรชัย คำหลวง และเด็กชายอดุลย์ สามอ่อน
"ผู้ใหญ่ได้กำชับให้หาช่องทางตามกฎหมายเพื่อให้สัญชาติไทย โดยเป็นการได้สัญชาติ ตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ปี 2559 ขณะนี้ เจ้าหน้าที่อำเภอแม่สายอยู่ระหว่างตรวจสอบหลักฐานการเกิด โดยต้องตรวจสอบว่าแต่ละคนเกิดในประเทศไทยหรือไม่ หรือ มีบิดา-มารดา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทยหรือไม่ หรือ บิดา-มารดา ได้สัญชาติไทยจากการแปลงสัญชาติหลังเด็กเกิดหรือไม่ ซึ่งแต่ละกรณีจะมีวิธีการดำเนินการไม่เหมือนกัน" นายวีนัสกล่าวแก่สื่อมวลชน
ด้านนายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้รับมาเบื้องต้น ยังถือว่าเป็นบุคคลไร้สถานะ และหากตรวจสอบแล้วว่าทั้งสามคน อาศัยอยู่ในสถานที่ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกิน 10 ปี ก็จะดำเนินการขอสัญชาติได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะจะเข้าเกณฑ์ในการขอสถานะมีสัญชาติไทย ตาม พรบ.สัญชาติ ปี 2559 ที่มติ ครม.ระบุไว้
"เบื้องต้นพบทั้งสามคน เป็นบุคคลไร้สัญชาติ เนื่องจากพ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ในจังหวัดเชียงรายว่าทั้ง 3 คน พักอาศัยอยู่ในคริสตจักรแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดการเกิด การศึกษา รวมถึงญาติพี่น้อง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง หลังจากทั้งหมดออกจากโรงพยาบาล" นายวิทัศน์ กล่าว
"ผู้ขอสัญชาติจะต้องเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองในสถานสงเคราะห์ ซึ่งมีข้อกำหนดว่าสถานสงเคราะห์ดังกล่าว จะต้องขึ้นทะเบียนกับทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน และมีเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี อยู่ในความดูแลไม่ต่ำกว่าหกคน" นายวิทัศน์ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับขั้นตอนการขอสัญชาติที่ผ่านมา หากมีเอกสารหลักฐานยืนยันถึงคุณสมบัติอย่างครบถ้วน ก็สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
"ยืนยันว่าทั้ง 3 คนไม่มีอภิสิทธิ์ในการขอสัญชาติมากกว่าบุคคลอื่น ถึงแม้ว่า จะเป็นผู้ประสบภัยที่ถูกช่วยเหลือออกมาจากถ้ำก็ตาม” นายวิทัศน์กล่าวทิ้งท้าย
ในวันนี้ เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อเด็กหรือผู้ปกครองรายอื่นๆ เพื่อสอบถามความเห็นได้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่อำเภอแม่สายปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล
หนีการถูกว้าเกณฑ์เป็นทหารเด็ก
นายปุณณวิช เทพสุรินทร์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเวียงพาน กล่าวว่า ด.ช.อดุลย์ สามอ่อน วัย 14 ปี สมาชิกทีมหมูป่า มีเชื้อสายชาติพันธุ์ว้า พ่อแม่ของเขาพาเขาหนีภัยความขัดแย้งทางชาติพันธ์ุในเมียนมา เข้ามาประเทศไทยตั้งแต่อายุ 6 ขวบ โดยพามาฝากอาศัยที่โบสถ์แห่งหนึ่ง ในอำเภอแม่สาย เพื่อให้เรียนหนังสือและไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นนักรบให้กับกองกำลังว้า
"อดุลย์มีสถานะเป็นเด็กไร้สัญชาติ ที่พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ไทย เมียนมา จีนกลาง และภาษาท้องถิ่นของกลุ่มว้า เขาเป็นนักเรียนดีเยี่ยมของโรงเรียนบ้านเวียงพาน ทำให้เขาได้ทุนเรียนฟรีและไม่ต้องจ่ายค่าอาหารกลางวัน" นายปุณณวิช กล่าวแก่สื่อมวลชน
เด็กชายอดุลย์ เป็นผู้พูดโต้ตอบกับนักประดาน้ำจาก Derby Cave Rescue Organization (DCRO) จากประเทศอังกฤษ ในวิดีโอที่นักดำน้ำถ้ำกู้ชีพชาวอังกฤษ พบตัวเด็กทีมหมูป่าทั้งสิบสามราย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งทางกองทัพเรือได้นำวิดีโอออกเผยแพร่
อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ติดเขตแดนเมียนมา และ สปป.ลาว เป็นพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่มในประเทศเมียนมา หนีเข้ามาหลบภัยการสู้รบของกลุ่มของตนกับรัฐบาลเมียนมา หากเทียบเฉพาะที่โรงเรียนบ้านเวียงพาน นักเรียนประมาณร้อยละยี่สิบ เป็นเด็กไม่มีสัญชาติหรือไม่ก็เป็นเด็กกลุ่มชาติพันธุ์
จากข้อมูล หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ มีบุคคลไร้สัญชาติอาศัยอยู่ในไทยราว 480,000 ชีวิต
นอกจากเรื่องสัญชาติแล้ว ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ จะมอบทุนการศึกษาให้กับโค้ชและนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี ทั้ง 13 คน เนื่องจากเล็งเห็นภาวะผู้นำของโค้ชเอก ที่สอนให้น้องๆ ขณะอยู่ในถ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิจะได้ไม่หิวในถ้ำ รวมถึงเห็นความตั้งใจ และการเชื่อฟังโค้ชเอกของเด็กๆ ทีมหมูป่า จนทำให้รอดชีวิตมาได้
จึงมองว่า นี่คือการควานหาเพชรในสังคมไทย มหาวิทยาลัยจึงควรสนับสนุนการศึกษาให้เด็ก ซึ่งเป็นผู้ประสบภัย ได้มีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ถ้าโค้ชเอกและเด็กสนใจที่จะเรียนไม่ว่าจะเป็นคณะไหน สามารถติดต่อได้ทันที โดยจะมอบเงินค่าใช้จ่ายรายเดือน รวมถึงหอพักให้อยู่ฟรีอีกด้วย ส่วนจะเรียนต่อจนถึงระดับไหนอยู่ที่ความสามารถของเด็ก