มีชัย ฤชุพันธุ์ แถลงเปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์แล้ว

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.03.29
กรุงเทพฯ
TH-prayuth-620 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะชมพิธีสวนสนามเนื่องในการเกษียณอายุ ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพบกที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ภาพเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557
เอเอฟพี

ในวันอังคาร (29 มีนาคม 2559) นี้ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวและประชาสัมพันธ์ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติ” โดยร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ กรธ. ได้ส่งให้นายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ในเว็บไซต์รัฐสภา

เมื่อเวลา 13.39 น. ของวันนี้ ที่ห้องงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้แถลงข่าวเปิดตัว “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติ” ซึ่งประกอบด้วย 279 มาตรา 105 หน้า แบ่งเป็น 16 หมวด คือ 1. บททั่วไป 2. พระมหากษัตริย์ 3. สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย 4. หน้าที่ของปวงชนชาวไทย 5. หน้าที่ของรัฐ 6. แนวนโยบายแห่งรัฐ 7. รัฐสภา 8. ครม. 9. การขัดกันแห่งผลประโยชน์ 10. ศาล 11. ศาลรัฐธรรมนูญ 12. องค์กรอิสระ 13. องค์กรอัยการ 14. การปกครองท้องถิ่น 15. การแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ 16. การปฏิรูปประเทศ และบทเฉพาะกาล โดยร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ กรธ. เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2558 ตามกำหนดต้องแล้วเสร็จในวันที่ 1 เมษายน 2559 หรือมีเวลา 180 วัน

นายมีชัยเปิดเผยว่า ปัจจุบัน กรธ. ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอธิบายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ เป็นฉบับที่เน้นเรื่องการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต นอกจากนี้ ยังมีบางมาตรา ที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญไทย เช่น มาตราที่เกี่ยวกับสิทธิสตรี หรือมาตราที่เกี่ยวกับพุทธศาสนานิกายเถรวาท เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงมากที่สุด เช่น การเปิดโอกาสให้สามารถเลือกบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ นายมีชัยได้ชี้แจงในเรื่องไว้ด้วย

“ในการยกเว้น (การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจาก บัญชี ส.ส.) นั้น คนที่จะขอยกเว้นคือสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่า 250 หรือ กึ่งหนึ่ง จะเป็นผู้ขอ และเมื่อขอแล้วก็ประชุมร่วมกัน ต้องได้คะแนนเสียงสองในสาม คือต้องได้ 500 ขึ้นไป จึงจะถือว่าเป็นการยกเว้น และเมื่อยกเว้นแล้ว ที่ประชุมร่วมกันไม่ได้เป็นคนตั้งนายกรัฐมนตรี เขาให้กลับไปที่สภาผู้แทนราษฎรไปตั้งกันเอาเอง เพราะฉะนั้น กฎเกณฑ์ก็ยังเป็นอย่างเดิม ก็สุดแต่สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นคนดำเนินการ จะเสนอใครก็ต้องใช้เสียงข้างมากตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ” นายมีชัย กล่าว

ส่วนการให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วนมาจากการสรรหา นายมีชัยอธิบายดังนี้

“ถามว่าทำไม กรธ. เราถึงยอมเขียนบทเฉพาะกาลแบบนี้ (มี ส.ว. จากการสรรหา) คำตอบก็คือด้วยเหตุผลที่ คสช. ให้มาว่า 1.ความเรียบร้อยทั้งหลายที่ คสช. มุ่งหวังจะสร้างให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้น ก็ยังไม่เรียบร้อยดี 2.ปฎิรูปที่รับปากประชาชนไว้ว่าจะทำ ก็ยังทำได้ไม่ครบถ้วน เพราะฉะนั้นก็อยากจะทำต่อ แต่การทำต่อนั้นเราก็คงไม่สามารถให้ใครมีอำนาจไปทำได้แต่เพียงลำพังด้วยตัวเอง ก็ต้องนึกถึง ส.ส.ที่เขาได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสำคัญด้วย เพียงแต่ว่าให้มี ส.ว. ในการที่จะรับช่วงการปฎิรูปสืบต่อไป”

สำหรับการวิพากษ์-วิจารณ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น นายมีชัยได้ย้ำว่า อยากให้ไปอ่านร่างรัฐธรรมนูญให้เข้าใจทั้งหมดก่อนแล้วจึงค่อยแสดงความคิดเห็นวิพากษ์-วิจารณ์ โดยก่อนหน้านี้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ย้ำว่า คสช. ไม่ได้ห้ามวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่อยากให้วิจารณ์ในกรอบที่เหมาะสม ไม่เป็นไปในทางยุยงปลุกปั่น แต่อย่างไรก็ดี คสช. เพิ่งดำเนินการควบคุมตัวนายวรชัย เหมะ (ล่าสุดปล่อยตัวแล้ว) และนายวัฒนา เมืองสุข 2 อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย เนื่องจากทั้งคู่ได้วิพากษ์วิจารณ์ทหารและร่างรัฐธรรมนูญ

ความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์

วัฒนา เมืองสุข นักการเมือง อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวในหน้าเฟสบุ๊คของตนเอง เมี่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ว่า “ผมไม่มีความเห็นกับข้อเสนอของ คสช. เพราะเป็นเผด็จการที่ยึดอำนาจมาจากประชาชน ก็ย่อมต้องทำทุกทางเพื่อปกป้องอำนาจของตน แต่สิ่งที่ กรธ. ดำเนินการมานั้น คือการเอาอำนาจของประชาชนไปมอบให้กับตัวแทนของเผด็จการ”

“จากนี้ไปจึงเหลือทางเดียว คือ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ จะต้องออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง ด้วยการออกเสียงลงประชามติ ซึ่งทุกคนต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชน วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงลงประชามติ”  คำกล่าวจากเฟสบุ๊คของ วัฒนา เมืองสุข เมี่อวันที่ 23 มีนาคม 2559

เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อขอความเห็นได้ เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการถูกควบคุมตัวโดย คสช. หลังจากมีการโพสต์ในเฟสบุ๊คเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา

พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ผู้สังเกตุการณ์การเมืองไทย อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอกสรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า นักการเมืองไม่ชอบ รธน. เพราะว่า การที่ คสช เลือก สว. เอง จะมาขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาลได้

“ที่ขัดขวางนักการเมือง ก็มีผลมาจากการมี สว. ตั้งเอง[โดย คสช.] ที่คอยควบคุมรัฐบาล มีการร่างกฎหมายจรรยาบรรณนักการเมือง เพื่อการถ่วงดุลย์การบริหาร”

“ตามปกติ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแน่นอน แต่ถ้าไม่ผ่าน รัฐบาลจะเอารัฐธรรรมนูญฉบับใดๆ มาแก้ไขภายในสามสิบวัน และประกาศใช้ได้ ที่นี้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่ได้”

เส้นทางสู่ประชามติ

สำหรับกำหนดการดำเนินงานของ สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เผยแพร่สู่สาธาณะในเดือนมกราคม 2559 มีดังต่อไปนี้

วันที่ 29 มีนาคม 2559 กรธ. เปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์

วันที่ 30 มีนาคม 2559 กรธ. ทำการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ ให้กับคณะรัฐมนตรีรับทราบ

เมษายน 2559 กรธ. เสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ แก่ กกต.

วันที่ 27 เมษายน 2559 กกต. จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญฯ สู่บ้านเรือนประชาชน

พฤษภาคม 2559 กกต. เริ่มประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนรับทราบ

วันที่ 20 มิถุนายน 2559 ประชาชน 80 เปอร์เซนต์ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ

วันที่ 22 มิถุนายน 2559 กกต. ประกาศวันออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการ

และ ในการแถลงข่าวร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัย ฤชุพันธ์กล่าวว่า กกต. ได้กำหนดวันลงประชามติไว้ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

ประชาชนทั่วไปสามารถอ่าน “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติ” ได้ที่ http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=429&filename=index

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง