ผู้แทนฝ่ายการเมืองกล่าว ร่างรัฐธรรมนูญลิดรอนสิทธิและไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ

ภิมุข รักขนาม
2016.05.11
กรุงเทพฯ
TH-charter-620 รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวนิก กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ซ้ายสุด) นายกษิต ภิรมย์ พรรคประชาธิปัตย์ (กลาง) และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (10 พฤษภาคม 2559) นี้ ตัวแทนฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บั่นทอนเสรีภาพ และขาดระบบตรวจสอบอำนาจที่ดี ทั้งได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้พูดคุยถึงเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเสรี

โดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ได้จัดให้มีการสนทนาในหัวข้อ พรรคการเมืองคิดอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีผู้ร่วมสนทนาที่สำคัญ คือ รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวนิก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต คณบดีคณะนิติศาสตร์ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ถูกสั่งยุบพรรคไปเมื่อปี 2550

นายกษิต ภิรมย์ กล่าวว่า ตนมีความเห็นโดยส่วนตัวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ โดยการลิดรอนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ทั้งนี้ หลังจากประเทศไทยเผชิญกับการประท้วงหลายครั้ง ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ตนไม่สามารถยอมรับได้

“ผมเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บั่นทอนสิทธิ ไม่สามารถยอมรับได้ มันจะสร้างความยุ่งยากให้กับประชาชนไทยในอนาคต” นายกษิต กล่าวต่อชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

“ผมไม่สามารถยอมรับการให้เหตุผลที่ว่า เราต้องสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ โดยละเลยการให้มีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การไม่ให้มีการประท้วง” นายกษิต กล่าวเพิ่มเติม

นายกษิต กล่าวอีกว่า การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะเวลา 20 ปี ในรัฐธรรมนูญมีการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของรัฐบาล การกำหนดให้ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา โดยใช้กระบวนการบริหารของระบบราชการเป็นกลไกนั้น ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถดำเนินนโยบายของตนเองได้

ในการประกาศร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อไม่นานมานี้ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเป้าหมายหนึ่งเพื่อการปราบปรามการคอรัปชั่น

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้กล่าวว่า ตนเองพบเห็นนักการเมืองที่ดีและไม่ดี เช่นเดียวกันกับข้าราชการ

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขาดระบบการตรวจสอบอำนาจระหว่างกัน โดยได้เน้นถึงอำนาจขององค์กรอิสระที่สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ ในขณะที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจตรวจสอบซึ่งกันและกัน ผ่านการยุบสภา และการยื่นมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตรวจสอบองค์กรอิสระๆ ได้

“สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือฉบับใดๆ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การมีระบบการแบ่งอำนาจ และการตรวจสอบอำนาจ ผมอ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ได้ข้อสรุปว่า ยังขาดระบบการตรวจสอบอำนาจที่ดี เราขาดความสมดุลในการกระจายอำนาจ” นายพงศ์เทพ กล่าว

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคไปในปี 2550 เพราะจ้างพรรคเล็กเข้ารับสมัครเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เพื่อให้ครบตามข้อกำหนดของการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ได้กล่าวถึงที่มาของวุฒิสมาชิกว่าเป็นวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจคัดเลือกกรรมการในองค์กรอิสระ 5 แห่ง ที่มีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ ในขณะที่องค์กรเหล่านั้น ฝ่ายอื่นไม่สามารถตรวจสอบได้

รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวนิก ได้กล่าวว่า นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ที่มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบฝ่ายบริหาร ก็มีการวิจารณ์องค์กรอิสระต่างๆ มาโดยตลอด แต่ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่จำเป็นต้องมีองค์กรเหล่านี้ เนื่องจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ อันเป็นเสาหลักของประเทศไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างอย่างสมดุล

“เมื่อระบบไม่ได้ดำเนินไปอย่างลงตัว ก็ต้องมีเครื่องมืออย่างอื่นมาช่วยให้ประเทศดำเนินไปได้ และองค์กรอิสระ คือเครื่องมือนั้น” รศ.ดร. เจษฎ์ กล่าว และเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้มีการระวังไม่ให้องค์กรอิสระเหล่านั้น กลายเป็นอำนาจหลักที่สี่ โดยมีการลดทอนอำนาจบางหน่วยงานลง พร้อมทั้งลดทอนวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการลงเหลือคนละไม่เกิน 7 ปี ในทุกองค์กร

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง