หน่วยงานรัฐไทยเซ็นเอ็มโอยูให้ ตม. งดกักขังเด็กและผู้หญิง
2019.01.22
กรุงเทพฯ

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทย ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ เรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการที่เด็กต้องถูกกักตัวและการที่เด็กถูกแยกจากมารดา แต่เอ็นจีโอ กล่าวว่า เงินประกันตัวแม่สูงเกินไปโดยไม่มีเหตุผล ทำให้หลายๆ คน ไม่สามารถไปอยู่ร่วมกับบุตรที่อยู่ในการอุปการะของทางการได้
เมื่อวานนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีกลาโหม ได้เป็นประธานในพิธีดังกล่าวที่จัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงนาม เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น
บันทึกความเข้าใจ เรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ซึ่งจะมีผลในสามสิบวันหลังการลงนาม มีสาระสำคัญระบุไว้ว่า จะไม่มีการกักตัวเด็ก ซึ่งหมายถึงบุคคลต่างด้าวที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้การกักตัวเป็นมาตรการสุดท้าย และให้มีระยะเวลาอันสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ เด็กจะได้รับการอุปการะจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยคำถึงการพัฒนาทางด้านร่างกายและจิตใจด้วย ด้วยความร่วมมือของภาคเอกชน
เจ้าหน้าที่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ในปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยและผู้ต้องการหาแหล่งพักพิงในประเทศที่สาม ตกค้างอยู่ในเมืองใหญ่ น้อยกว่า 6,000 คน ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ให้ประกันตัวหญิงต่างด้าวที่ถูกกักตัวไว้ เพื่อให้ไปอยู่ดูแลลูกได้ในสถานให้การช่วยเหลือของ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ แต่ยังมีอีกประมาณ 20 ราย ที่ไม่สามารถออกมาจากสถานกักกันตัวของ ตม. เพื่อไปพบลูกได้ เพราะค่าเงินประกันตัวสูงถึง 50,000 บาท
เมื่อวานนี้ เอมี่ สมิธ ผู้อำนวยการ องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ ร่วมกับองค์เอ็นจีโออีกหกองค์กร ได้ออกแถลงการณ์แสดงความชื่นชมในการดำเนินการของรัฐบาลไทย แต่ขณะเดียวกันได้แสดงความห่วงใยในเรื่องช่องว่างของเอ็มโอยู
“ในวันนี้ ประเทศไทยได้ก้าวย่างไปในทางที่ดีในการปกป้องสิทธิของผู้อพยพและบุตร แต่ยังมีช่องว่างหลงเหลืออยู่ เอ็มโอยู ไม่ได้ระบุถึงการถูกพรากแม่พรากลูก ซึ่งแม่ที่ถูกกักตัวต้องหาเงินประกันตัวที่สูงโดยไร้เหตุผล เพื่อจะออกจากสถานกักกันไปอยู่กับลูกได้ ในขณะที่ผู้เป็นบิดายังต้องถูกกักกันตัวไว้” เอมี่ กล่าวในคำแถลงการณ์
“เพราะฉะนั้น แม่ก็ต้องยังติดอยู่ในสถานกักกันตัว ส่วนเด็กไปอยู่บ้านเด็กที่ พม. เป็นคนดูแล โดยมีเอ็นจีโอเป็นผู้จัดการเคส ส่วนผู้ชาย ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวอยู่แล้ว” นางสาวพุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันนี้
อย่างไรก็ตาม พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า เจ้าหน้าที่สามารถพิจารณาให้ปล่อยตัวแม่ชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้เงินประกันก็ได้
"วงเงินประกันนั้น ตม. สามารถพิจารณาได้เลยว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ก็ได้ โดยเราจะคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ" พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวทางโทรศัพท์
"ดังนั้น ถ้าแม่ถูกกักแต่มีบุตร ก็จะให้ออกมาอยู่ด้วยกันโดยให้ไปอยู่ที่บ้านเด็ก ซึ่งกระทรวง พม. จัดไว้ให้ ตัวแม่อาจจะอยู่ในบ้านที่ พม. จัดให้ หรือที่ UNHCR จัดให้ก็ได้ แต่เขาจะมีสิทธิได้เยี่ยมลูก" พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ตนเองรับตำแหน่ง ผบ.ตม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีที่แล้ว ทาง ตม. ไม่ได้กักขังเด็ก หรือ ผู้หญิงแต่อย่างใด รวมทั้ง ยังได้แสวงหาความร่วมมือกับทางยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อหาหนทางส่งตัวผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยกลับประเทศ หรือส่งตัวไปยังประเทศที่สามโดยเร็วที่สุด
“วันนี้ เราคุยกับยูเอ็นเอชซีอาร์ ว่าให้เอาไทม์เฟรมมาให้เรา ว่า หลังจากได้สถานะแล้ว จะใช้เวลาเท่าไหร่ กี่ปี ในการที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ ส่งเขาไปประเทศที่สาม เขาต้องบอกเราให้ได้ เราก็คนเหมือนกัน” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการส่งตัวคนกลับประเทศ ประเทศไทยจะใช้หลักการว่า จะไม่ส่งคนกลับไปสู่อันตราย
“เราใช้หลักกฎหมายในการผลักดันคนออกนอกประเทศ คือ ถ้าเขาเดินทางมาทางไหนก็ส่งออกทางนั้น เช่น ถ้าเข้ามาทางชายแดนก็อออกทางชายแดน ถ้าเป็นชายแดนเพื่อนบ้านก็ส่งชายแดน และจะผลักดันต้องประสานกับสถานทูตกับชาตินั้นๆ ก่อนทั้งหมด และเจ้าตัวต้องสมัครใจ และเราจะไม่ส่งใครไปให้ได้รับอันตราย” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าวว่า การส่งตัวผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม หรือกลับไปยังประเทศของตนนั้น เป็นไปได้อย่างช้าๆ
“แม้ว่าผู้อพยพส่วนใหญ่ต้องการกลับประเทศ แต่หลายๆ คนไม่สามารถกลับไปได้ เพราะยังมีความขัดแย้ง สงคราม หรือการทำลายล้าง ในกรณีหลายๆ กรณี การขอตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด แต่สงวนไว้สำหรับบางกรณีที่จำเป็นเพราะว่ามีที่นั่งให้น้อยมาก” เจนนิเฟอร์ แฮร์ริสัน เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“มีผู้อพยพเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพทั้งโลกเท่านั้นที่ได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในแต่ละปี และจำนวนก็นับแต่จะลดน้อยลง” เจนนิเฟอร์ กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนสำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความชื่นชมในการดำเนินการของรัฐบาลไทยเช่นกัน
“บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เป็นตัวอย่างการดำเนินการเชิงบวกต่อสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยของประเทศไทย ซึ่งมีเหตุการณ์สนับสนุนคำกล่าวนี้ คือ การปล่อยตัวแม่และเด็กเมื่อเร็วๆ นี้” กุยเซปเป้ ดี วินเซนติส ผู้แทนสำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ ประจำประเทศไทย กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์วานนี้