ศาลสั่งสตช.ชดเชย 254 พันธมิตรฯ เหตุสลายชุมนุมปี 51

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.01.31
กรุงเทพฯ
180131-TH-demonstrator-1000.jpg นายตี๋ แซ่เตียว ขณะรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ ปี 51 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในวันพุธนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 254 ราย จากการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พันธมิตรฯ) ที่หน้ารัฐสภาในปี 2551 โดยสั่งให้จ่ายเงิน ตั้งแต่ 7,120 - 4,152,771.84 บาท ต่อคน ภายใน 60 วัน และยกฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี

ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. 280/2556 หมายเลขแดงที่ อ. 1442/2560 ในคดีที่นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 คน ผู้ฟ้องคดี และนายกร เอี่ยมอิทธิพล กับพวกรวม 11 คน ผู้ร้องสอด ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อปี 2551 ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน ซึ่งมีการสรุปว่า การสลายชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย มีผู้รับบาดเจ็บรวม 471 ราย

“วินิจฉัยว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ อันเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดี และผู้ร้องสอด และมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด จำนวน 254 ราย... การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุม และวิธีการยิงแก๊สน้ำตาทำให้ผู้ชุมนุมได้รับอันตราย” คำพิพากษาระบุ

“ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้น มติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภาเป็นไปตามปกติ ซึ่งหากมีเหตุการณ์ไม่สงบเรียบร้อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สมควรติดตามสถานการณ์และเตรียมการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงไม่ได้กำหนดขั้นตอน และวิธีการในการสลายการชุมนุม จึงไม่ได้กระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะต้องรับผิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด สั่งให้ สตช. จ่ายเงินชดเชยแต่ผู้เสียหาย 254 ราย พร้อมดอกเบี้ย โดยค่าสินไหมชดเชยนี้ เป็นกำหนดให้ลดลงจากที่ศาลปกครองชั้นต้นสั่ง เมื่อปี 2555 ร้อยละ 20

นายตี๋ แซ่เตียว เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดว่า ผู้ถูกฟ้องพอใจกับคำพิพากษา เนื่องจากเชื่อว่า คำพิพากษาทำให้ผู้เสียหายได้รับความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธที่จะวิเคราะห์ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ การยกฟ้องจำเลยที่ 2 คือ สำนักนายกรัฐมนตรี

“วันนี้ พอใจมากที่ศาลยุติธรรม ทุกคนนี่พอใจที่เราได้ชนะความ ที่ผ่านมาชีวิตการครองตัวมันลำบากมาก” นายตี๋กล่าว

ขณะที่ นายบุญธานี กิตติสินโยธิน ทนายความฝ่ายโจทก์ กล่าวหลังเสร็จสิ้นการฟังคำพิพากษาว่า ผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องสอด ยอมรับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง แม้จำเลยที่ 2 จะได้รับการยกฟ้องก็ตาม อย่างไรก็ดี สตช. ต้องชำระค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายทั้งหมด ภายใน 60 วัน

“เหตุเกิดตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2551 มีการฟ้องปี 2552 ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา 5 ตุลาคม 2555 ให้ทางผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ให้กับผู้ฟ้องคดี ตั้งแต่ 5 ล้านถึงหลักพัน ในวันนี้ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ มีคำพิพากษาให้ทางผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้เงินให้กับผู้ฟ้องคดี โดยมีอัตราตั้งแต่ 4 ล้านบาทเศษ และก็ลดหลั่น หลังจากนี้มีเวลา 60 วัน ที่ทางผู้ถูกฟ้องคดีต้องทำตามคำพิพากษา” นายบุญธานีกล่าว

ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังไม่ได้มีการเปิดเผย หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ หลังจากมีคำพิพากษาให้เป็นองค์กรที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุม

การชุมนุมของพันธมิตรฯ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2548 รัฐบาลภายใต้การนำของนายทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทโทรคมนาคมไทย ที่จากเดิมสามารถถือครองได้ไม่เกิน 25% เป็นสามารถถือครองได้ไม่เกิน 50% และยกเลิกข้อบังคับเรื่องสัดส่วนของกรรมการบริษัทสัญชาติไทยด้วย

และหลังจากกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ 3 วัน ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ชินคอร์ป เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์เอไอเอสได้ทำการขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 49.595% ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม เรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับครอบครัวของนายทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

การกระทำครั้งนั้นนำไปสู่การประท้วงขับไล่รัฐบาลโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) โดยการนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จะทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ในวันที่ 20 กันยายน 2549

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งในปี 2550 พรรคพลังประชาชน ในฐานะพรรคตัวแทนของนายทักษิณ ได้รับการเลือกตั้งเป็นพรรคเสียงข้างมาก จึงได้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมเพื่อขับไล่อีกครั้ง และชุมนุมต่อเนื่องยาวนาน

จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้กระจายการชุมนุมไปยังทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา โดยพยายามปิดล้อมรัฐสภาเพื่อไม่ให้ นายสมชาย และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในขณะนั้น เข้าอาคารรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ตามที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาได้นัดหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าควบคุมสถานการณ์ เพื่อให้การประชุมรัฐสภาสามารถดำเนินการได้ จนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต

นายตี๋ แซ่เตียว สูญเสียขาขวาจากการสลายชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)
นายตี๋ แซ่เตียว สูญเสียขาขวาจากการสลายชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง