เครือข่ายพลเมืองเน็ต ยื่น 340,000 รายชื่อ ค้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.12.15
กรุงเทพฯ
TH-computer-620 ชายหนุ่มเล่นวิดีโอเกมที่ร้านอินเตอร์เน็ต ในเขตกรุงเทพฯ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2557
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดี (15 ธันวาคม 2559) นี้ ตัวแทนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...(ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ได้เข้ายื่นหนังสือที่อาคารรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติคัดค้านร่างดังกล่าว ในการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ โดยฝ่ายประชาชนอ้างเหตุผลว่า หากร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่านความเห็นชอบจะทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิของประชาชน ขณะที่ สนช.อ้างว่า การคัดค้านของประชาชนครั้งนี้ เกิดจากความไม่เข้าใจเนื้อหาที่แท้จริงของ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ตในฐานะตัวแทนประชาชนที่เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ที่อาคารรัฐสภา เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า ข้อกังวลหลักๆ เกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือกระบวนการพิจารณา และบางมาตรา ที่หากบังคับใช้เป็นกฎหมายจริงจะทำให้เกิดการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

“ในแง่กระบวนการมีส่วนร่วมต่างๆ แทบไม่มีเลยว่าอย่างนั้นก็ได้ แม้ว่าทางคณะกรรมาธิการจะมีการรับฟังความคิดเห็นแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ว่าการรับฟังความคิดเห็นก็เป็นวงที่ปิดมากๆ เราจึงไปสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมข้างนอก เราจัดสัมมนารวบรวมมาเป็นข้อเสนอ และแนวคิด แล้วก็ถามประชาชนว่าใครเห็นด้วยกับเราบ้าง วันนี้ มีการรวบรวมรายชื่อถึง 3.4 แสนคนแล้ว สนช. ก็ยังมองว่าอันนี้ไม่เป็นสิ่งที่ต้องรับฟัง เราก็เลยมองว่าอันนี้มันชอบธรรมหรือเปล่า” นายอาทิตย์ระบุ

นายอาทิตย์ ให้ข้อมูลว่า กลุ่มพลเมืองเน็ต เคยยื่นรายชื่อประชาชน 4 หมื่นรายชื่อที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ไปแล้วหนึ่งครั้ง ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ซึ่งหลังจากการยื่นหนังสือครั้งดังกล่าว ทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เกิดความไม่สบายใจ จนสั่งห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมฟังการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเดิมที่เปิดโอกาสให้สามารถเข้าร่วมฟังได้

“ตราบใดที่มันมากระทบกับเรา เราก็ห่วงกันทั้งนั้น สุดท้ายเรามาดูเนื้อหาสาระในกฎหมาย มาตรา 20 มีพูดถึงการบล็อคเวบฯไหม มี มาตรา 20/1 มีการพูดถึงการให้คณะกรรมการ 5 คน มาพิจารณาการบล็อคเวบฯ แม้ไม่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย เราไม่คิดว่าเราบิดเบือนอะไร ตัวบทเขียนมาแบบนี้เราก็ต้องแสดงความคิดเห็นแบบนี้” นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติม

นายอาทิตย์ยังกล่าวว่า เนื้อหาบางส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังอาจถูกนำไปใช้ฟ้องร้องในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทฯ อีกด้วย การเรียกร้องครั้งนี้ จึงเพื่อเป็นการเรียกร้องให้ สนช. พิจารณาข้อกังวลของประชาชนที่มีต่อ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทางด้านพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันพุธที่ผ่านมาว่า การออกมาคัดค้านเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีเนื้อหาเพื่อปกป้องความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต และไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

“รัฐบาลขอให้พี่น้องประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า กฎหมายดังกล่าว จะช่วยคุ้มครองและสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ รวมทั้ง รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ไม่ใช่การคุกคามสิทธิส่วนบุคคลตามที่มีการกล่าวอ้าง โดยขอให้กลุ่มผู้ไม่หวังดียุติพฤติกรรมบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือและสร้างความแตกแยกในทันที” พลโทสรรเสริญกล่าว

พลโทสรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การแก้ไขปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2550 ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับเวลา และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีสาระสำคัญที่แท้จริง คือ การเพิ่มฐานความผิดและบทลงโทษให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น การเจาะทำลายระบบความมั่นคงของประเทศ การนำเข้าข้อมูลเท็จ การเผยแพร่เนื้อหาหรือภาพตัดต่อที่ผิดกฎหมาย การให้ผู้กระทำผิดรับโทษตามกฎหมายอาญาอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เพียงอย่างเดียว เป็นต้น

ด้าน พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังจากการยื่นหนังสือของกลุ่มพลเมืองเน็ตว่า การคัดค้านครั้งนี้ เป็นความเข้าใจผิดของผู้คัดค้าน โดยมีการเชื่อมโยงร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ เข้ากับเรื่องซิงเกิ้ลเกตเวย์ หรือ การให้อำนาจคณะกรรมการ 5 คน ในการปิดกั้นเวบไซต์ ซึ่งข้อกังวลดังกล่าวของผู้เรียกร้องคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง