ทนายความสิทธิฯ เสนอรัฐยกเลิกการใช้ศาลทหารต่อพลเรือนทุกกรณี
2016.09.13
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (13 ก.ย. 2559) นี้ ทนายความ ประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เสนอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีกับพลเรือนทั้งหมด หลังจากที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศยกเลิกการใช้ศาลพิจารณาจำเลยพลเรือนไปเมื่อตอนบ่ายของวันจันทร์ที่ผ่านมานี้
นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรที่ช่วยเหลือพลเรือนที่ต้องถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหาร เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า หลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 คสช. ได้มีการดำเนินคดีพลเรือนโดยศาลทหารแล้ว 1,546 คดี และมีจำนวนจำเลย 1,811 คน ยังมีคดีที่ยังไม่พิจารณาแล้วเสร็จอีก 517 คน
หลังจาก คสช. ยึดอำนาจจากนักการเมือง คสช. ได้ออกคำสั่งเพิ่มอำนาจให้ศาลทหารพิจารณาคดีใน 4 ฐานความผิด อันประกอบด้วย ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดคดีความมั่นคง ความผิดในการฝ่าฝืนคำสั่งและประกาศ คสช. และความผิดในการครอบครองอาวุธสงคราม
ซึ่งแต่เดิมศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาคดีที่ทหารเป็นผู้กระทำความผิดเท่านั้น ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่มีประชาชนเป็นจำเลย อำนาจของศาลทหารจึงถูกวิพากษ์-วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้อำนาจของศาลทหารตลอดมา
นางสาวพูนสุข กล่าวว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า คสช. ควรยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือนทั้งหมด โดยให้มีผลย้อนหลังด้วย เพื่อเป็นการคืนสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
“นอกจากนี้ เราเห็นว่าคดีมันควรจะต้องย้ายไปศาลยุติธรรมทั้งหมด” น.ส.พูนสุขกล่าว
“ตัวคำสั่งยังแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอน หมายถึงว่า คำสั่งข้อ 3 บอกว่า นายกรัฐมนตรี สามารถเสนอ คสช.ให้สามารถพิจารณาคำสั่งนี้ใหม่ได้ ซึ่งหมายความว่า คสช. สามารถกลับมาใช้ศาลทหารได้ทุกเมื่อ” น.ส.พูนสุขกล่าวเพิ่มเติม
น.ส.พูนสุข ระบุว่า ก่อนการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับล่าสุดนี้ ยังมีคดีคั่งค้างจำนวน 517 คดี ที่ต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งหากคำสั่งไม่มีผลย้อนหลัง ประชาชนกลุ่มดังกล่าว ก็ยังคงต้องพิจารณาคดีโดยศาลทหารอยู่
“หลังรัฐประหาร มีประกาศ 3 ฉบับ ด้วยกันที่ครอบคลุมความผิด 4 ฐานความผิดด้วยกันคือ คดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ คดีความมั่นคง คดีฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. และคดีเกี่ยวกับอาวุธ ซึ่งมีสถิติ 1,546 คดี ที่ขึ้นสู่ศาลทหาร และมีจำนวนจำเลย 1,811 คน” น.ส.พูนสุขกล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมื่อเย็นวันจันทร์ (12 ก.ย. 2559) ที่ผ่านมา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งแก้ไขอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร โดยมีใจความให้ยกเลิกการให้ประชาชนธรรมดาขึ้นศาลทหาร แต่มีผลบังคับใช้เฉพาะคดีที่เกิดขึ้นหลังคำสั่งนี้ ไม่มีผลย้อนหลัง ขณะเดียวกันศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้มีการโอนย้ายประชาชนไปขึ้นศาลปกติทั้งหมด
คสช. พยายามผ่อนปรนเท่าที่ทำได้
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ออกคำสั่งฉบับที่ 55/2559 เรื่อง การดําเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอํานาจศาลทหาร ระบุว่าสองปีหลังจากการยึดอำนาจบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย จึงคลายมาตราต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิของตน โดยยกเลิกอำนาจของศาลทหารในการพิจารณาคดีของพลเรือน และให้พลเรือนได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลยุติธรรมปกติ
พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 55/2559 คำสั่งดังกล่าวเป็นความตั้งใจของ คสช.เพื่อที่จะผ่อนคลายบรรยากาศสถานการณ์บ้านเมือง และเพื่อความเป็นสากล
“การกระทำผิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่ 12 กันยายน (2559) ก็ยังขึ้นสู่ศาลทหาร การกระทำผิดที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 12 กันยายน (2559) ก็จะขึ้นสู่ศาลพลเรือนตามปกติ ใช้กฎหมายปกติ มีความเป็นสากลมากขึ้น ความผิดที่จะทำให้ประชาชนต้องขึ้นสู่ศาลทหารหลังจากนี้ ก็คงไม่มีแล้ว” พ.อ.ปิยพงศ์กล่าว
“ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดเกินไป ถ้ามีการผ่อนปรนไปสู่ภาวะปกติได้ คสช. ก็ดำเนินการตามนั้น” พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงกรณีนี้ ในตอนเช้าของวันนี้ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับล่าสุดนี้ ไม่ได้ออกมาเพื่อลดแรงกดดันจากต่างชาติ ก่อนการเดินทางไปร่วมเวทีประชุมสามัญ สหประชาชาติของนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2559 นี้ แต่เป็นแผนที่คิดมานานแล้ว
“ผมรับทราบมาเป็นเดือนแล้วว่าจะมีการผ่อนคลายเกิดขึ้น เพียงแต่ยังไม่สะดวกและไม่มีจังหวะ สืบเนื่องจากบรรยากาศดีขึ้น มีความมั่นใจขึ้น เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง เป็นการส่งสัญญาณที่ดี หลาย ๆ อย่างรวมกันถือเป็นปัจจัยบวก” นายดอนกล่าว
'ไม่ควรหลงเชื่อ'
นับเป็นเวลาสองปีที่ประเทศไทยมีการดำเนินคดีของพลเรือนในศาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นความผิดคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ คดีการแสดงความเห็น ฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. ล้วนได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ
"พลเรือนร่วม 2,000 คน ต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการสอบสวนและพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ในศาลทหาร ซึ่งมีพลเรือนหลายคนถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพและการรวมกลุ่มของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น" แซม ซาริฟี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ กล่าวถึง คำสั่งล่าสุดที่คสช.ประกาศ
"คดีที่ค้างอยู่ทั้งหมดควรจะถูกโอนไปยังศาลพลเรือน และการพิจารณาคดีความของพลเรือนทั้งหมดในศาลทหาร ตั้งแต่ปี 2557 หลังรัฐประหารก็ควรถูกกันออกมาด้วย" เขากล่าวเสริม
คำสั่งการเปลี่ยนแปลงของไทยครั้งนี้ เพิ่งมีขึ้น ก่อนการเปิดสมัยประชุม การทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตามกลไกของสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา ซึ่งได้มีการดำเนินการตรวจสอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นระยะๆ
เมื่อกลางเดือนสิงหาคม นาง ราวีนา ชัมดาซานี โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กล่าวว่า ประเทศไทยถูกเรียกร้องให้ "ยกเลิกการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารและใช้คำสั่งทางทหารในคดีที่เกี่ยวข้องกับพลเรือน"
ในวันอังคารนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ โดยกล่าวถึง การเปลียนแปลงโดยรัฐบาลทหารในครั้งนี้ว่าเป็น "ขั้นตอนจำกัด" ที่ปรากฏเป็น "การตั้งใจที่จะเบี่ยงเบนคำวิพากษ์วิจารณ์ของนานาประเทศที่มีต่อประเทศไทย ต่อคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ"
"ไม่ควรมีใครหลงเชื่อ รัฐบาลทหารที่ฉกฉวยช่วงเวลาก่อนคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเปิดการประชุม ที่กรุงเจนีวา" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
"การทบทวนการตัดสินจะทำให้พลเรือนไม่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมในการถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหาร แต่การปกครองควบคุมอำนาจโดยทหาร ยังเป็นความจริงที่เป็นอยู่ในประเทศไทย"