UNGA: เศรษฐาย้ำรัฐให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2023.09.22
กรุงเทพฯ และวอชิงตัน
UNGA: เศรษฐาย้ำรัฐให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในเวทีการอภิปรายทั่วไป UNGA78 โถงประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 22 กันยายน 2566
สหประชาชาติ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในเวทีการอภิปรายทั่วไป UNGA78 เป็นครั้งแรก หลังจากได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า ไทยมุ่งมั่นดำเนินบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับประชาคมโลก เพื่อส่งเสริมสันติภาพโลก สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันที่ 22 กันยายน 2566 ก่อนเวลา 12.00 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ณ โถงประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ Rebuilding trust and reigniting global solidarity: Accelerating Action on the 2030 Agenda and its Sustainable Development Goals towards peace, prosperity, progress and sustainability for all ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่อง สันติภาพ มนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก เพื่ออนาคตร่วมกัน

นายเศรษฐา กล่าวยืนยันถึงบทบาทของไทยในเวทีโลก ซึ่งขณะนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และกำลังเดินหน้าเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐธรรมนูญและค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตย รวมถึงส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับพันธมิตรและประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชน ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA)

และไทยพร้อมรับมือกับความท้าทายในระดับโลก ทั้งการเสริมสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโลก การและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในระดับพหุภาคีจากประชาคมระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมความมุ่งมั่นของสหประชาชาติ ในเรื่องวาระใหม่เพื่อสันติภาพ (New Agenda for Peace) ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าจะเป็นแนวทางสำคัญในการฟื้นฟูความร่วมมือระดับพหุภาคี และส่งเสริมบทบาทของสหประชาชาติในการเสริมสร้างสันติภาพให้กับโลก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังขอให้ทุกฝ่ายวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาชน ผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องครอบคลุม ยืดหยุ่น และมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ โดยไทยมีความมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมือกับนานาประเทศบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน ในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นย้ำ ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพ โดยดำเนินการเสริมสร้างความเท่าเทียมและความยุติธรรมให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและคนชายขอบ ผ่านการสร้างความเข้มแข็งให้กฎหมายและเพิ่มความโปร่งใสในรัฐบาล และมุ่งมั่นบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม ครอบคลุม และเสมอภาคกับทุกคน”

“ประเทศไทยในฐานะผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council - HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและทั่วโลก ตลอดจนส่งเสริมการทำงานของ HRC ให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับความท้าทาย และสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับประชาคมโลก” นายเศรษฐากล่าวถ้อยแถลง

สถิติตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,925 คน ในจำนวน 1,241 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 215 คดี 

ในนั้นเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 257 คน ในจำนวน 278 คดี และข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังกล่าวครอบคลุมหลายหัวข้อ อาทิ การเข้าถึงการบริการทางด้านสาธารณสุข โดยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำคัญที่รัฐบาลของแต่ละประเทศควรมอบให้แก่ประชาชนของตน, การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก ให้เกิดผลลัพธ์ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยไทยจะกระตุ้นการจ้างงานและสนับสนุนเงินทุนแก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและเปราะบาง, มุ่งส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมเน้นย้ำถึงความร่วมมืออย่างเร่งด่วน ผ่านกรอบการประชุม Climate Ambition Summit

ในช่วงท้ายของถ้อยแถลง นายเศรษฐาได้เชิญชวนทุกฝ่ายให้กระชับความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อสันติภาพ ความมั่งคั่ง ความก้าวหน้าและความยั่งยืนสำหรับทุกคน และหวังว่าการประชุมครั้งสำคัญอย่าง Summit of the Future ในปีหน้า จะเป็นกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่สำคัญของสหประชาชาติในการเสริมสร้างสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่โลก

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง