ศาลอาญายกฟ้อง 24 แกนนำ นปช. ข้อหาก่อการร้ายปี 53

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.08.14
กรุงเทพฯ
190814-TH-redshirt-acquits-1000.jpg นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญา วันที่ 14 สิงหาคม 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องความผิดข้อหาก่อการร้ายของ 24 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จากการประท้วงในช่วงปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่าหนึ่งร้อยราย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายมิใช่การก่อการร้าย ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การตัดสินเป็นไปตามกระบวนการของศาล พยาน และหลักฐาน

การอ่านคำพิพากษา มีขึ้นที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ในเวลา 10.30 น. โดยคดีนี้ มีพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช. จำเลยที่ 1 นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 54 ปี ประธาน นปช. จำเลยที่ 2 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 44 ปี เลขาธิการ นปช. จำเลยที่ 3 นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 68 ปี จำเลยที่ 4 นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 54 ปี จำเลยที่ 5 และพวกรายอื่นๆ รวมทั้งหมด 24 คน โดยฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, 135/2

“โจทก์ ระบุพฤติการณ์กล่าวหาสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 20 พฤษภาคม 2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมดกับพวกได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนทั่วราชอาณาจักรไทย ให้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ให้ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่านายอภิสิทธิ์ มาเป็นนายกฯ โดยมิชอบ และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2550” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาระบุ

โจทก์ยังบรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้สะสมกำลังพล และอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธ เพื่อการก่อการร้าย สร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน โดยใช้ยานพาหนะเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามถนนในกรุงเทพฯ แบบดาวกระจาย เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความเสียหายแก่การคมนาคม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเกรงกลัวอันตรายต่อชีวิต-ร่างกาย-ทรัพย์สิน และยังขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน

“ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐาน เห็นว่าการกระทำของจำเลย เป็นการกระทำในการเดินขบวนชุมนุมประท้วงโต้แย้งหรือเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย” คำพิพากษาระบุ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวแก่สื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาว่า แกนนำ นปช. พอใจกับผลคำพิพากษา แต่ยังต้องต่อสู้ในชั้นศาลต่อในอีกหลายคดีที่เกี่ยวข้อง

“วันนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด อยากให้คำพิพากษาอันนี้ ผู้ที่ได้รับอานิสงส์ควรจะเป็นญาติวีรชนที่ได้ต่อสู้บาดเจ็บล้มตาย รวมกระทั่งผู้สูญสิ้นอิสรภาพมากมาย ส่วนพวกผมทุกคนยังจะต้องต่อสู้คดี ในคดีนี้ก็ยังมีทั้งชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกา และคดีอื่นๆ มากมาย ต้องขอขอบคุณศาล ทีมทนายความ และพี่น้องประชาชนตลอด 9 ปีที่ผ่านมา” นายจตุพร

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า เคารพคำพิพากษาของศาล และที่ผ่านมา มั่นใจในข้อเท็จจริง และบริสุทธิ์ใจในข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรม

“การต่อสู้ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นี่คือเป้าหมายเดียวของเรา ภายใต้หลักการสันติวิธีไม่มีกองกำลังอาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรง นี่ไม่ใช่ชัยชนะใดๆ ของพวกผม นี่เป็นกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยมีศาลวินิจฉัย เป็นความยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนที่บาดเจ็บล้มตายจากการต่อสู้” นายณัฐวุฒิ กล่าว

ประยุทธ์บอก เป็นเรื่องของฝ่ายตุลาการ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงผลคำพิพากษายกฟ้อง แกนนำ นปช. ในข้อหาก่อการร้ายจากการชุมนุมในปี 2553 ว่า เป็นไปตามพยานหลักฐาน

“ก็เรื่องของศาล ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานหรอก เขาเรียกการตัดสินโดยวัตถุพยาน พยานบุคคล พยานสอดคล้อง มันไม่สมบูรณ์ก็เป็นเรื่องธรรมดา เขาก็สู้ทางศาลได้ มันก็มีทนาย ทียังงี้ พอรอดขึ้นมาก็ไม่เห็นบอกว่า ศาลเขายุติธรรมเลย พอมีความผิดบอกว่า ศาลไม่ยุติธรรม เป็นอย่างนี้ทุกทีแหละ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในห้วงเดือนมีนาคม ไปสิ้นสุดในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 กลุ่ม นปช. ได้จัดการชุมนุมทั่วกรุงเทพฯ เพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุบสภา เนื่องจากเห็นว่า การเข้ารับตำแหน่งของนายอภิสิทธิ์เป็นการมิชอบ รัฐบาลได้สั่งการให้ทหารเข้าสลายการชุมนุม แต่เนื่องจากมีกลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ซึ่งถูกเรียกว่า “ชายชุดดำ” แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม จึงมีการใช้กระสุนจริงยิงต่อสู้กันบริเวณที่ชุมนุม การชุมนุมลุกลามไปสู่การจุดไฟเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล และเซ็นเตอร์วัน รวมถึงมีการเผาสถานที่ราชการ และศาลากลางในต่างจังหวัดหลายจังหวัด

หลังการชุมนุมมีการสรุปยอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ราย ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งผู้เสียชีวิตมีทั้งทหาร ตำรวจ ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนด้วย ได้แก่ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น สำนักข่าวรอยเตอร์ส และ นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิสระ ชาวอิตาลี

ในส่วนของฝ่ายต่อต้านตระกูลชินวัตร เมื่อในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง 4 แกนนำ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในความผิดฐานร่วมกันก่อการกบฏ มั่วสุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ กรณีชุมนุมขับไล่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในปี 2557 โดยศาลพิเคราะห์ว่า หลักฐานไม่เพียงพอ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง