ศาลฎีกายกฟ้อง คสช. ข้อหากบฎจากการยึดอำนาจปี 57
2018.06.22
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและพวกรวม 5 คน ในความผิดต่อความมั่นคงต่อรัฐ ฐานร่วมกันกบฎ จากการนำทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวประกาศเดินหน้าทางการเมืองเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง และสนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดย คสช.
สำหรับคดีนี้ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และพวก ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในการเรียกร้องประชาธิปไตย ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ รวมทั้งหมด 15 คน เป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. และ พล.อ.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. ในความผิดต่อความมั่นคงต่อรัฐ ฐานร่วมกันกบฎ ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรโดยใช้กำลังประทุษร้าย และสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบเป็นกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และ 114
นอกจากนี้ โจทก์ยังบรรยายพฤติกรรมว่า จำเลยและพวกยังได้ออกคำสั่งในนาม คสช. หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง 15 คน ได้รับความเสียหาย โดยศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ระบุว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 บัญญัติยกเว้นความผิด และความรับผิดจากการกระทำทั้งหลาย ในการยึดอำนาจและควบคุมอำนาจปกครองแผ่นดินของ คสช.ไว้ จึงพ้นผิดโดยสิ้นเชิง จึงไม่รับฟ้อง
โจทก์จึงได้ยื่นฎีกาอีกครั้ง ขอให้ศาลฎีกาสั่งให้ศาลอาญารับไต่สวนมูลฟ้องในคดีนี้
คำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการณ์ขณะนั้นไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีและวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดในการทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ และมีคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์แทน แม้ว่าการได้มาซึ่งอำนาจจะไม่เป็นไปตามครรลองตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย และจะได้มาด้วยความชอบธรรมหรือไม่ ศาลฎีการะบุว่า เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวกันในด้านอื่น
“แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ มีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่า เป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ในการควบคุมกลไกของรัฐได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จึงมีสภาพเป็นกฎหมายตามที่มาตรา 48 ได้บัญญัติไว้” คำพิพากษาระบุ
มาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ระบุให้นิรโทษกรรม การกระทำทั้งหลายของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ โดยไม่ถือว่าการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นในการออกคำสั่งบังคับ รัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เป็นความผิดและความรับผิด
“ดังนั้นการกระทำทั้งหลายของจำเลยทั้ง 5 ตามฟ้อง จึงพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ตามมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557... ศาลฯ จึงยกฟ้องได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องและประทับรับฟ้องก่อน ศาลอาญาชั้นต้น และ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นชอบแล้ว คำฟ้องของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน” คำพิพากษาสรุป
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ภายหลังคำพิพากษา ว่า ตนได้ต่อสู้แล้ว แม้ว่าคำพิพากษาจะยกฟ้องตามมาตรา 48 ที่ทหารได้นิรโทษกรรมตัวเองไปแล้ว แต่ศาลฯ ก็ระบุว่าการฉีกรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องดี ถึงแม้ว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาจะแพ้ และแพ้มาตลอด แต่ยังไม่หมดหวัง ขอชนะเพียงครั้งเดียว คือการทำให้สังคมมองเห็นว่าการรัฐประหาร และการฉีกรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
“คำสั่งศาลฯ วันนี้ อาจนำไปสู่เงื่อนไขในวันข้างหน้า คือ ทหารมองว่าสามารถทำรัฐประหารเช่นนี้ต่อไปได้อีก ในขณะที่รัฐบาลรักษาการณ์ไม่ได้ต่อสู้อะไรเลย แต่สำหรับประชาชนที่เริ่มระอากับการรัฐประหาร ก็มองได้ว่าเขาสามารถออกมาต่อสู้ได้ จะได้ไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อต้านการรัฐประหารและเกิดความรุนแรงในอนาคตได้” นายพันธ์ศักดิ์ ระบุ
ด้านนายอานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เคารพคำพิพากษาของศาล เพราะศาลฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าการกระทำของคณะรัฐประหาร มีความผิดจริงตามข้อหากบฎ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้มีการนิรโทษกรรมไว้ให้แล้ว จึงทำให้การกระทำของคณะรัฐประหารไม่มีความผิด และหลุดจากความผิดทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารบัญญัติขึ้นมาเอง โดยศาลระบุด้วยว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ก่อการรัฐประหารขึ้นมา และตั้งตนเป็นรัฎฐาธิปัตย์ แล้วไม่มีองค์กรใดๆ มาบริหารประเทศในช่วงนั้น ทำให้คณะรัฐประหารใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ได้โดยชอบ
“เราเคารพคำพิพากษาของศาล ซึ่งแสดงว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยยังคงอยู่ในเงื่อนไขแบบเดิม แต่อย่างน้อยเราได้ใช้สิทธิฟ้องร้องต่อสู้ว่าการทำรัฐประหารเป็นความผิด แต่หลุดพ้นจากความผิดเพราะรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาเอง” นายอานนท์ กล่าว
"ถือเป็นความพ่ายแพ้ของสังคมไทยร่วมกันที่ยังนำเอาผู้กระทำความผิดในคณะรัฐประหารมาลงโทษไม่ได้ เรากังวลว่าในอนาคตหากสังคมและกระบวนการยุติธรรมยังเอื้อที่จะก่อให้เกิดรัฐประหารอีก ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ในระบอบประชาธิปไตย” นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติม
โดยนายอานนท์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าจะแพ้คดีในศาลยุติธรรมแต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองยังมีต่อไป โดยจะร่วมกับ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง และสนับสนุนนักการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปยกเลิกผลพวงของการรัฐประหาร โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต่อไป
“ลำพังกฎหมายไม่สามารถเอาผิดคณะรัฐประหารได้อยู่แล้ว นอกจากว่าผู้คนในสังคมต้องเกิดการตื่นตัวและตระหนักอย่างมากในการเอาผิดรัฐประหาร ซึ่งตอนนี้สังคมไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น ซึ่งเรารอได้ไม่ว่าจะ 10 หรือ 20 ปี เพื่อที่จะเห็นการนำผู้กระทำความผิดต่อบ้านต่อเมืองมาลงโทษ เรารอได้” นายอานนท์ กล่าวทิ้งท้าย
หลังจากประเทศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อ พ.ศ. 2475 ได้เกิดการรัฐประหารที่สำเร็จ และที่ไม่สำเร็จจนกลายเป็นกบฏ รวมแล้วกว่า 20 ครั้ง โดยผู้ที่รัฐประหารสำเร็จได้นิรโทษกรรมตนเองไว้ทุกครั้ง